ฤดูฝนเด็กเล็กเสี่ยงป่วย“ปอดบวม”
ที่มา : เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
“กรมควบคุมโรค” เตือนฤดูฝนเด็กเล็กเสี่ยงป่วยโรคปอดบวม และโรคไข้หวัดใหญ่ หลังครึ่งปีพบเด็กเล็กป่วยรวมกว่า 4 หมื่นราย
นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในฤดูฝนจะมีการระบาดของเชื้อโรค ทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางระบบหายใจหลายชนิด ทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากในช่วงอายุหลัง 4 – 6 เดือนไปแล้ว ภูมิคุ้มกันโรคที่ได้รับจากแม่จะเริ่มลดลง ทำให้มีภูมิคุ้มกันต่ำ ถ้าเด็กได้รับเชื้ออาการเจ็บป่วยก็จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งโรคที่ควรเฝ้าระวังคือ โรคปวดบวม และโรคไข้หวัดใหญ่ ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ 1 มกราคม – 4 กรกฎาคม 2559 พบผู้ป่วยโรคปอดบวมทั่วประเทศ 105,429 ราย เสียชีวิต 206 ราย ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่ พบผู้ป่วย 55,545 ราย เสียชีวิต 4 ราย เฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบผู้ป่วยโรคปอดบวม 29,808 ราย โรคไข้หวัดใหญ่พบผู้ป่วย 12,771 ราย
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อว่า โรคปอดบวมมักเป็นอาการแทรกซ้อนจากไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคหัด ในเด็กจะพบบ่อยในกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปี เด็กน้ำหนักตัวน้อย เด็กขาดสารอาหาร อาการของปวดบวมในเด็ก จะมีไข้สูง โดยอาการไข้เกิดขึ้นก่อนหรือพร้อมกับการมีปอดบวมก็ได้ ไอมาก ไอแห้ง ๆ หรือไอแบบมีเสมหะ หายใจเร็วจนชายโครงบุ๋ม เวลาหายใจจะเห็นปีกจมูกบาน หอบเหนื่อย บางรายหายใจมีเสียงดัง กรณีที่มีเชื้อรุนแรงหรือไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้
สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่นั้นติดต่อจากการไอ จามรดกัน อาการจะเริ่มด้วยมีไข้สูง ตัวร้อน หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่หลัง ต้นแขน ต้นขา ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆ โดยในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงได้มากกว่าผู้ใหญ่ ส่วนอาการคัดจมูก จาม เจ็บคอ พบเป็นบางครั้งในไข้หวัดใหญ่ แต่จะพบในไข้หวัดมากกว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง อาการจะทุเลาลงและสามารถหายป่วยได้เองภายใน 5-7 วัน แต่บางรายที่มีภาวะแทรกซ้อน ทำให้เกิดอาการที่รุนแรง เช่น ปอดบวม สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับอักเสบ หายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
คำแนะนำในการป้องกันโรคติดเชื้อทางระบบหายใจสำหรับเด็กเล็ก คือ 1.นำเด็กไปฉีดวัคซีนป้องกันโรค 2.เด็กอ่อนควรเลี้ยงด้วยนมแม่และให้เด็กรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ หรือหากอากาศหนาวเย็นให้สวมเสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่น 3.หลีกเลี่ยงการสัมผัสโรค ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย 4.ไม่นำเด็กเล็กไปในสถานที่แออัด 5.ฝึกให้เด็กล้างมือบ่อยๆ รวมถึงดูแลบ้านเรือนให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก 6.เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ควรเลี้ยงเองที่บ้าน 7.หากเด็กไอและหายใจลำบาก หอบ หายใจเร็ว แรง จนชายโครงบุ๋ม หายใจมีเสียงดัง ต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที ทั้งนี้ เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี สามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ฟรี ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 กรกฎาคม 2559 ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่ง
การป้องกันโรคสำหรับประชาชนทั่วไป ควรดูแลตนเองด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารปรุงสุกใหม่ให้ครบ 5 หมู่ ใช้ช้อนกลาง และหมั่นล้างมือบ่อยๆ รักษาอุณหภูมิของร่างกายให้เหมาะสม สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอดนอน เพราะถ้าอดนอน จะทำให้ร่างกายอ่อนแอได้ง่าย หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่มีคนแออัด เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อจากการ ไอ จาม จากผู้ป่วยที่มีเชื้อในร่างกาย
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ต่ำๆ และยังรับประทานอาหารได้ อาจไปพบแพทย์หรือขอรับยาและคำแนะนำจากเภสัชกรใกล้บ้าน และขอให้พักผ่อนมากๆในห้องที่อากาศถ่ายเทดี ให้ดื่มน้ำมากๆ งดดื่มน้ำเย็น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก ผลไม้ เป็นต้น หากมีไข้ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หากไข้ไม่ลดให้รับประทานยาลดไข้ ที่สำคัญผู้ป่วยต้องสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น และขอแนะนำให้ผู้ป่วยหยุดเรียนอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ นอกจากนี้ ผู้ปกครองต้องคอยสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีอาการรุนแรงขึ้น เช่น เหนื่อยหอบ หรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ขอให้ไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทันที หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422