ร.ร.วัยใส หัวใจซุกซน

“เริ่มที่แม่ แก้ที่พ่อ ก่อที่ลูก ปลูกฝังระบบราชการ ไหว้วานเอกชน นิมนต์พระสงฆ์” หลักคิดจัดการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคมของโรงเรียนวัยใส จากบันทึกเรื่องราวการสร้างสุขภาวะชุมชน อบต.ปากพูน ที่คณะเราเพิ่งเดินทางไปถึง ยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า การจัดการแบบมีส่วนร่วม ทำให้เกิดความร่วมมืออย่างกว้างขวาง จนเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

ร.ร.วัยใส หัวใจซุกซน

แต่ก็ตามมาด้วยภาระที่เพิ่มขึ้น ต้องจัดกิจกรรมรับคณะดูงานกลุ่มแล้วกลุ่มเล่า เฉพาะเช้าวันนั้น นอกจากทีมเราแล้วมีกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)นำโดย น.พ.ประกิต วาทีสาธกกิจ 

บทเรียนของ อบต.ปากพูน ให้บทสรุปถึงบทบาทขององค์กรปกครองท้องถิ่นด้านการศึกษา ที่ควรจะเป็นอย่างน่าคิดทีเดียว

แทนที่จะมุ่งจัดตั้งโรงเรียนในระบบขึ้นเอง หรือรับโอนจากกระทรวงศึกษาธิการเป็นหลัก แต่เริ่มจากการส่งเสริม เติมเต็มโรงเรียนที่ขาดแคลน หรือถ้าจะจัดเอง เน้นไปที่การศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาทางเลือก พัฒนาแหล่งเรียนรู้ในชุมชน น่าจะเป็นจุดเริ่มต้น โดยไม่ก่อความขัดแย้งตึงเครียด

ร.ร.วัยใส หัวใจซุกซน

โรงเรียนวัยใส เป็นพัฒนาการทางความคิดต่อยอดจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เกิดขึ้นเนื่องจากเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราชเขต 1 พบว่านักเรียนมีปัญหาการอ่าน การเขียนภาษาไทยจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นเด็กระดับประถม 5, 6 ถึงมัธยมต้น เลยหารือร่วมกับผู้บริหาร อบต. หาทางแก้ร่วมกัน

โรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่ สำรวจข้อมูลนักเรียน คัดรายชื่อมา อบต. จัดการสอนเสริม นอกจากวิชาปกติที่เด็กเรียนอ่อนแล้วให้เรียนรู้ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชน คิดกิจกรรมปลูกจิตสำนึก เรื่อง ความกตัญญูกตเวที ความสามัคคี อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อส่วนรวม สอนให้เด็กเห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกัน นำประสบการณ์จากการเรียนรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน

โรงเรียนวัยใสไม่เน้นความใหญ่โต ความถาวรของตัวอาคารสถานที่ แต่เน้นความหลากหลายของแหล่งเรียนรู้เป็นสำคัญ

ร.ร.วัยใส หัวใจซุกซน

“เปิดในวันที่โรงเรียนทั่วไปปิด และปิดในวันที่โรงเรียนทั่วไปเปิด” การเรียนการสอนแบ่งกลุ่มวิชา 3 กลุ่มและ 2 กิจกรรม 1. กลุ่มวิชาพื้นฐาน 5 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ คุณธรรม นอกจากสอนให้หาคำตอบจากการบวก ลบ คูณ หาร สอดแทรกคุณธรรมไว้ให้คิดด้วย วิทยาศาสตร์ใกล้ตัวสอนวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันทักษะในการค้นคว้าหาความรู้ต่อไป ภาษาอังกฤษ เสริมทักษะการฟัง การพูดแก่นักเรียนเรียนแบบ no paper กับครูต่างชาติ เน้นประโยคที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน และคอมพิวเตอร์เพื่อการสืบค้น

2. กลุ่มวิชาชอบ เลือกเรียนตามความสนใจความถนัด เพื่อพัฒนาความสามารถของตนเองได้แก่ ภาษาจีน ช่างซ่อม รำมโนราห์ ขี่ม้า ดนตรีไทย ดนตรีสากล เครื่องปั้นดินเผา จิตรกรรมแกะหนังตะลุง การนวดแผนไทย ถ่ายทอดความรู้โดยผู้สอนที่อยู่ในชุมชน

ร.ร.วัยใส หัวใจซุกซน

3. กลุ่มวิชาเลี้ยงชีพ เป็นวิชาที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้การดำรงชีพอย่างพอเพียง ได้แก่ การเผาถ่านแบบไร้ควัน การทำปุ๋ยหมักจากขยะ การปลูกข้าว การเลี้ยงปลา การปลูกผักปลอดสารพิษ

4. กิจกรรมสัมพันธ์ นักเรียนทำร่วมกันเพื่อสร้างความสามัคคี ปลูกฝังจิตอาสา การแบ่งปันและการขับเคลื่อนสังคมโดยไม่ทอดทิ้งกัน เช่น การเข้าวัดปฏิบัติธรรม การเยี่ยมผู้สูงอายุ การดูแลช่วยเหลือคนพิการ จัดกิจกรรมให้นักเรียนอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง

5. กิจกรรมศึกษาท้องถิ่น แหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นกระจายอยู่ทั่วไปตามชุมชนต่างๆ11 หมู่บ้าน เช่น ระบบนิเวศป่าชายเลน เครื่องสีข้าว ฟาร์มโคนม ผงนัว ศูนย์ผลิตไบโอดีเซลจัดกิจกรรมอย่างน้อยเดือนละครั้งให้เด็กเรียนรู้สิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น รู้จักชุมชน เช่น โครงการนักสืบสายน้ำ วัยใส ห่วงใยคลอง ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ จังหวัดนครศรีธรรมราชจัดกิจกรรมให้นักเรียนร่วมสำรวจสายน้ำตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปลายน้ำไหลลงสู่ทะเล

ร.ร.วัยใส หัวใจซุกซน

จัดการศึกษาตามอัธยาศัย มีความยืดหยุ่นด้านวัน เวลา และสถานที่เรียน ปกติจะเปิดเรียนวันเสาร์ อาทิตย์ 08.00-12.00 น.ในช่วงปิดภาคเรียนจะเปิดสอนวันจันทร์ศุกร์ 08.00-12.00 น. หยุดเสาร์ อาทิตย์เรียนที่ไหนก็ได้ ที่ทำการ อบต. ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่วัด ที่ชายทะเล ที่ใต้ต้นไม้ตามชายคลอง ฟาร์มโคนม บ้านคนเฒ่าคนแก่ สุดแท้แต่ครูผู้อาสาและเด็กจะเรียนเรื่องอะไร จะไปที่ไหนกัน

“นายก อบต. เสนอให้ตั้งเมื่อปี 2551 ทำมาได้ 2 ปีแล้ว เวลานี้มีนักเรียน200 กว่าคน การแบ่งกลุ่มนักเรียน จะเริ่มจากเด็กที่มีปัญหาการอ่าน การเขียนก่อน เด็กโตอาจต้องเรียนรวมกับเด็กเล็กก่อน พออ่านออกเขียนได้แล้วก็แยกออกไปตามกลุ่มวิชาที่ชอบ” ชาญชัย อรุณ ปลัด อบต.ปากพูน เล่าความเป็นมา เป็นไป

ผู้ปกครองมีส่วนช่วยมาก มีการปฐมนิเทศก่อนเปิดเรียนทุกปี เด็กเขารู้ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ดีกว่าไปทำอย่างอื่นที่ไร้สาระ มาเรียนทุกครั้งจะได้ 1 คะแนนสะสมไว้ในธนาคารความดีและธนาคารเวลา กิจกรรมปลูกฝังความคิดและความประพฤติเด็กในชุมชน ภายใต้ความรับผิดชอบของภาคประชาชน กองทุนสวัสดิการ อบต.ปากพูน มีลุงจินต์ ตรึงไตรภพ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ

ร.ร.วัยใส หัวใจซุกซน

“ลุงไม่ได้เป็นผู้จัดการธนาคาร ไม่ได้เป็นประธานกองทุนนะ แต่เป็นรัฐมนตรี นายกอบต. ตั้งให้เป็นรัฐมนตรีสวัสดิการชุมชน” ลุงจินต์ วัย 67 แข็งแรง กระฉับกระเฉง คุยกับเราอย่างเป็นกันเอง

ชีวิตประจำวัน ปกติลุงเป็นพ่อบ้าน และจัดรายการ “ทำเพื่อให้” ให้วิทยุชุมชน ทุกวันพุธเวลา 11.00-12.00 น. เป็นวิทยากรบรรยายให้กับผู้นำ อบต. ทุกรุ่นที่มาเข้ารับการอบรมหลักสูตร พัฒนาสุขภาวะชุมชน 5 คืน 5 วัน11 ฐานเรียนรู้ 26 รายวิชา ที่ อบต.ปากพูน เป็นองค์กรนำร่อง ปีละ 20 อบต. ตั้งแต่ปี 2552 ถึงปีนี้เป็นรุ่นที่ 5 แล้ว โดยมี สสส. ให้การสนับสนุน

เรื่องโดย: สมหมาย ปาริจฉัตต์
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

Shares:
QR Code :
QR Code