ร้านค้ายุคใหม่ ไม่ขายเหล้าให้เยาวชน
จ.น่าน พร้อมขับเคลื่อน เดินหน้าสนับสนุน ร้านค้ายุคใหม่ ใส่ใจสังคม ไม่จำหน่ายเหล้า-เบียร์ เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี คาดจะลดเยาวชนนักดื่มภายใน 3 ปี ข้างหน้า 20 % จังหวัดน่าน
แฟ้มภาพ
สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล็งเห็นสถานการณ์ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชน ที่มีอายุระหว่าง 15 – 24 ปี มีสถิติเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ร้อยละ 1 ต่อปี มีแนวโน้มเป็นนักดื่มประจำ “ขี้เหล้า” มากถึงร้อยละ 38.7 โดยมี พระครูสิริธรรมภาณี รองเจ้าคณะจังหวัดน่าน ในฐานะกรรมการที่ปรึกษา เครือข่ายองค์กรงดเหล้าประจำจังหวัดน่าน เป็นประธานที่ประชุม พร้อมด้วยคณะกรรมการเครือข่ายฯ จากทุกภาคส่วน ร่วมระดมความคิดเห็น ในการที่จะทำงานขับเคลื่อน เดินหน้ารณรงค์สนับสนุน “ร้านค้ายุคใหม่ ใส่ใจสังคม” ไม่จำหน่ายเหล้า-เบียร์ แก่ เยาวชน อายุต่ำกว่า 20 ปี
ทางศูนย์ประสานงานเครือข่ายงดเหล้าภาคเหนือตอนบน จังหวัดน่าน จึงมุ่งเน้นไปที่เยาวชน ให้เป็นพลังขับเคลื่อน ช่องทางการสื่อสาร เพื่อให้เยาวชนแสดงความคิดเห็นและทัศนะอย่างถูกต้อง แสวงหาความรู้นำมาเผยแพร่ต่อสังคม ตามโครงการร้านค้าห่วงใย ใส่ใจ รณรงค์ไม่ขายเหล้าให้กับเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นภาวะเสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของ นักดื่มหน้าใหม่ จากปัจจัยสำคัญ ซื้อได้ และดื่มได้โดยไม่มีการควบคุม หาซื้อง่ายเกินไป ราคาเครื่องดื่มต่ำเกินไป ถูกมอมเมาด้วยกลยุทธ์การตลาด ครอบครัวกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อ และค่านิยมทางสังคม
ดังนั้น เครือข่ายองค์กรงดเหล้าประจำจังหวัดน่าน จะดำเนินการสนับสนุนให้ร้านค้าขายปลีกในพื้นที่ ติดสติ๊กเกอร์ห้ามจำหน่ายสุรา ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จัดระบบอาสาสมัครเยาวชน รณรงค์เชิญชวนร้านค้าปลีกที่มีใบอนุญาต เพื่อช่วยคัดสรรค์ “ร้านค้าต้นแบบ” ที่มีคุณสมบัติเป็นต้นแบบในการเลิกขายถาวร ด้วยการติดสติกเกอร์ห้ามจำหน่ายเหล้า-เบียร์ ในเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี โดยจะดำเนินการรณรงค์อย่างต่อเนื่องภายในปี 2560 เข้าถึงกลุ่มร้านขายของชำ ร้านอาหาร และร้านนั่งดื่ม
นายขจรพลกฤฬฎ์ จันทร์แสง ผู้ประสานงานจัดการ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า ลงพื้นที่ จังหวัดน่าน ซึ่งเป็น 1 ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ที่มีนักดื่มเยาวชนหน้าใหม่เพิ่มขึ้น ตั้งเป้าไว้ 20 ร้านค้าแบรนต้นแบบ เพื่อขยายผลไปสู่ร้านค้าอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ร้านค้าที่เข้าร่วมกิจกรรม ร้านค้ากลับใจ ไม่จำหน่าย เหล้า-เบียร์ ในเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี จะต้องได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อ ในการเป็นร้านค้าตัวอย่าง จะได้รับโล่ห์และประกาศเกียรติคุณจากนายอำเภอ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีขยายผลสู่ร้านค้าอื่น ๆ ซึ่งจะสามารถลดนักดื่มเยาวชนทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ลงได้ ตั้งเป้าที่ 20 % ให้ได้ภายใน ปี 2560
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์