ร้อยเอ็ดตั้งคลินิกเลิกบุหรี่แห่งแรกของไทย เดินหน้าลดปริมาณผู้สูบบุหรี่

ที่มาเเละภาพประกอบ :  โครงการสนับสนุนการสื่อสารงานภาคีควบคุมยาสูบ (ทีมชวน ช่วย เลิกบุหรี่)

ร้อยเอ็ดตั้งคลินิกเลิกบุหรี่แห่งแรกของไทย เดินหน้าลดปริมาณผู้สูบบุหรี่ thaihealth

เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด จัดตั้ง “คลินิกเลิกบุหรี่แห่งแรกของประเทศไทย” เพื่อเดินหน้าลดปริมาณของผู้สูบบุหรี่ พร้อมทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่อย่างเข็มแข็ง

เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ตระหนักและเห็นความสำคัญของการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบมีกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้ ตระหนักถึงโทษภัยยาสูบ การป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมให้ปลอดควันบุหรี่ และเฝ้าระวัง และมีการบังคับใช้กฎหมายในสถานที่สาธารณะมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการจัดตั้งคลินิกเลิกบุหรี่ เพื่อให้การควบคุมและแก้ปัญหาการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุเป้าหมายอย่างยั่งยืน

ร้อยเอ็ดตั้งคลินิกเลิกบุหรี่แห่งแรกของไทย เดินหน้าลดปริมาณผู้สูบบุหรี่ thaihealth

ดร.วัฒนพงษ์ ชิตทรงสวัสดิ์ รองนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด กล่าวว่า การจัดตั้งคลินิกเลิกบุหรี่ของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด เพื่อลดปริมาณของผู้สูบบุหรี่ในจังหวัด ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักในการดูแลสุขภาพ ร่างกาย และจิตใจของประชาชน โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ภายใต้คำขวัญของจังหวัด คือ “ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก ฟูมฟักตำนานเมือง ลือเลื่องประเพณี วัฒนธรรม งามล้ำแหล่งท่องเที่ยว” เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีจิตใจแจ่มใส

ทั้งนี้ จากการดูแลงานด้านนี้มากว่า 10 ปี จึงเห็นว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาระบบงานงานด้านสาธารณสุข โดยเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดใช้วิธีการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพเป็นหลัก ได้แก่ สาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอเมือง และโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยเน้นการทำงานเป็นทีมในการรณรงค์เลิกสูบบุหรี่ของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

นอกจากนี้ ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายการขับเคลื่อนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงนามความร่วมมือภาคเอกชน เพื่อให้เข้ามาเป็นภาคีเครือข่ายในการเลิกบุหรี่ โดยเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด จะเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือเพื่อลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ในบริษัทต่าง ๆ

“การจะเลิกสูบบุหรี่ได้นั้น จะต้องใช้ความตั้งใจของตนเองเป็นหัวใจสำคัญที่มากกว่าจะให้ใครมาบังคับให้เลิกสูบ และโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเลิกสูบก็จะเพิ่มมากขึ้น โดยการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ของจังหวัด มุ่งเน้นถึงประโยชน์ของประชาชนสูงสุด เพื่อลดปัญหาสุขภาพ หรือแม้แต่ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ” ดร.วัฒนพงษ์ กล่าวย้ำ

ร้อยเอ็ดตั้งคลินิกเลิกบุหรี่แห่งแรกของไทย เดินหน้าลดปริมาณผู้สูบบุหรี่ thaihealth

รองนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด กล่าวถึงการดำเนินงานของคลินิกเลิกบุหรี่ของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดว่า ที่นี่ถือเป็นแห่งแรกของประเทศที่พัฒนาอย่างครบวงจร มีการดำเนินงานอย่างรอบด้านร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งเรื่องของข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด เพราะข้อมูลเหล่านี้มีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยเลิกบุหรี่ เพื่อนำมาวางแผนรูปแบบการทำงาน รวมถึงการนำกรณีตัวอย่างของผู้ที่เลิกบุหรี่ได้สำเร็จมาศึกษา เพื่อหาแนวทางการในการช่วยเหลือ ซึ่งในปัจจุบันจำนวนผู้เข้ามารับบริการคลินิกเลิกบุหรี่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จจำนวนมาก พร้อมระบุว่าหากท้องถิ่นอื่น ๆ ต้องการที่จะจัดตั้งคลินิกเลิกบุหรี่ก็สามารถทำได้ทันที แต่หากยังไม่พร้อม อาจประสานงานไปที่เครือข่ายของกระทรวงสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลที่เป็นภาคีเครือข่าย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือบำบัดให้กับประชาชน

“ขอชื่นชม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ให้ความห่วงใย และสนับสนุนการทำงานควบคุมยาสูบในระดับพื้นที่ จนทำให้โครงการประสบความสำเร็จ” ดร.วัฒนพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

ร้อยเอ็ดตั้งคลินิกเลิกบุหรี่แห่งแรกของไทย เดินหน้าลดปริมาณผู้สูบบุหรี่ thaihealth

ด้าน ภกญ.ทรัพย์พานิช พลาบัญช์ เภสัชกรชำนาญการ ประจำศูนย์บริการสาธารณสุข เทศบาลเมือร้อยเอ็ด กล่าวว่า เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด มีศูนย์บริการสาธารณสุขที่จัดบริการคล้ายกับสถานพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก ให้บริการสำหรับผู้ป่วยทั่วไปในการตรวจรักษาโรค โดยการตั้งคลินิกเลิกบุหรี่มีจุดเริ่มต้นจากสภาพปัญหาของผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่นเบาหวาน ความดัน และโรคเรื้อรัง มีการสูบบุหรี่เป็นประจำทุกวัน ทำให้การควบคุมโรคทำได้ยาก จึงหารือกับผู้บริหาร และจัดทำคลินิกเลิกบุหรี่ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จและทำให้การรักษาโรคประจำตัวเป็นไปด้วยดี โดยเจ้าหน้าที่จะดำเนินการคัดกรองประวัติการสูบบุหรี่ตั้งแต่เริ่มเข้ามารับบริการ หากพบจะถูกส่งมาที่คลินิกเลิกบุหรี่ จากนั้นจะประเมินภาวะการติดนิโคติน และนำมาสู่การรักษาโรคติดบุหรี่่ที่แตกต่างกัน

โดยจะแยกเป็นกลุ่ม 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ติดนิโคตินน้อย เจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำเพียงอย่างเดียว ก็สามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ 2.กลุ่มที่ติดนิโคตินปานกลาง ถึงระดับสูง อาจจะต้องใช้ยาในการช่วยเลิก ซึ่งการรักษาในแต่ละบุคคลก็จะมีข้อห้ามแตกต่างกันไปตามสภาพร่างกายของผู้ป่วย

ภกญ.ทรัพย์พานิช เชื่อว่า ผู้ที่สูบบุหรี่ทุกคนรักสุขภาพของตนเอง และมีแรงจูงใจในการสูบบุหรี่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงเป็นบทบาทที่ท้าทายของเภสัชกรอย่างมาก เพราะการเลิกบุหรี่ไม่ใช่เพียงแต่ให้คำแนะนำ หรือใช้ยาช่วยเลิกเท่านั้น แต่จะต้องช่วยให้ผู้สูบกลับมามีสุขภาพแข็งแรง ใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ผู้สูบจะต้องให้ความร่วมมือด้วย

สำหรับยอดสะสมของผู้รับบริการจนถึงเดือนพฤษภาคม 2565 มีผู้รับบริการทั้งหมด 697 ราย เลิกสำเร็จทั้งหมด 147 ราย คิดเป็นอัตราความสำเร็จที่ร้อยละ 21 โดยเป้าหมายที่ต้องการคือร้อยละ 30 ซึ่งอาจยังมีจุดด้อยบางส่วนที่ทำให้ยังไปไม่ถึง จึงต้องมีการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชน บุคลากรครูในโรงเรียน และส่งเสริมให้มีแกนนำเยาวชน เพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ซึ่งเป้าหมายที่ต้องการในปีหน้า คือ ชุมชน บ้าน วัด โรงเรียน จะต้องปลอดบุหรี่ร้อยเปอร์เซ็นต์ 

ร้อยเอ็ดตั้งคลินิกเลิกบุหรี่แห่งแรกของไทย เดินหน้าลดปริมาณผู้สูบบุหรี่ thaihealth

ขณะที่นายสุรชัย เศวตกุญชร ผู้รับผิดชอบงานควบคุมยาสูบ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า แผนการดำเนินการควบคุมยาสูบจังหวัดร้อยเอ็ดในปี 2565-2566 ครอบคลุม 5 มาตรการหลัก ทั้งกลไกการขับเคลื่อนงาน การบังคับใช้กฎหมาย และการสร้างสิ่งแวดล้อมให้ปลอดบุหรี่ ตลอดจนการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ซึ่งในส่วนคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดร้อยเอ็ด (คผยจ.) นั้น ขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงวุฒิชุดใหม่ พร้อมทั้งมีแผนหนุนเสริมเพิ่มเติม 2 ข้อ คือ มุ่งเน้นสถานศึกษาในเขตพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน Gen Z ที่ได้เติบโตมาพร้อมเทคโนโลยีในการสื่อสารและเข้าถึงข้อมูลที่มีผลต่อการเลือกใช้ชีวิต จึงได้วางแผนประชุมร่วมกับสถานศึกษา เพื่อสกัดเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าสู่วงจรของการเสพติดบุหรี่ โดยใช้ลักษณะรูปแบบเพื่อนช่วยเพื่อนในการพูดคุย ตลอดจนการเชิญชวนศาสนาสถานเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเพื่อลดอัตราการสูบบุหรี่ในพื้นที่ ซึ่งการขับเคลื่อนงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การทำงานควบคุมยาสูบในพื้นที่ให้ประสบความสำเร็จ

ร้อยเอ็ดตั้งคลินิกเลิกบุหรี่แห่งแรกของไทย เดินหน้าลดปริมาณผู้สูบบุหรี่ thaihealth

ด้าน นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น (สคร.7) กล่าวว่า สคร.7 มีพื้นที่ความรับผิดชอบ 4 จังหวัด คือ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด มีหน้าที่ในการป้องกันและควบคุมโรค โดยบุหรี่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงในการก่อให้เกิดโรคและการเสียชีวิตของคนไทย ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ สคร. ที่ต้องควบคุมการสูบบุหรี่ของคนในพื้นที่ เพราะการป้องกันที่ดีที่สุด คือการป้องกันจากสาเหตุของปัญหา

สำหรับปัจจัยที่ทำให้การควบคุมยาสูบประสบความสำเร็จ คือ ความมุ่งมั่น และความทุ่มเทของผู้บริหารและทีมงาน ตลอดจนการสร้างภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่มีจิตใจมุ่งมั่น และตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่มาทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง รวมถึงระดมทรัพยากรต่าง ๆ กระจายสู่ในพื้นที่ และนอกเขตพื้นที่ด้วย ซึ่งการดำเนินงานของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดถือเป็น Best Practice ของการขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดถือเป็นท้องถิ่นแห่งแรกที่ทำให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ คิดเป็นร้อยละ 21

ร้อยเอ็ดตั้งคลินิกเลิกบุหรี่แห่งแรกของไทย เดินหน้าลดปริมาณผู้สูบบุหรี่ thaihealth

ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เป็นจุดเด่นของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ไม่ใช่เพียงการจัดตั้งคลินิกเลิกบุหรี่เท่านั้น แต่เป็นการทำงานเชิงรุกในการป้องกันผู้ที่ติดบุหรี่ โดยดำเนินมาตรการแบบผสมผสาน ทั้งการลงพื้นที่ ไม่ให้มีการโฆษณาส่งเสริมการขาย และจัดสภาพแวดล้อมปลอดบุหรี่ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนทัศนคติของกลุ่มเป้าหมายในศาสนาสถานและสถานศึกษา จึงทำให้จังหวัดร้อยเอ็ดประสบความสำเร็จในการดำเนินการลดการบริโภคยาสูบ โดยย้ำว่า หลังจากนี้ควรมีการขยายผลการทำงาน เพื่อเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code