ร้อยละ 48.6 คนไทย ‘กินอาหารว่าง’ เพราะความอยาก

สำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดทำการสำรวจพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของประชากร พ.ศ. 2552 ในด้านการบริโภคอาหาร เช่น การบริโภคอาหารมื้อหลัก การบริโภคอาหารว่าง รสชาติอาหาร และวิธีการปรุงอาหารที่รับประทานเป็นประจำ รวมถึงความถี่ในการรับประทานอาหารแต่ละประเภท ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวมีผลต่อภาวะสุขภาพของประชากร ดังนี้

การบริโภคอาหารมื้อหลัก

จากผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 87.1 ของคนไทยรับประทานอาหารมื้อหลักในแต่ละวันครบ 3 มื้อ รองลงมาคือผู้ที่ทานอาหาร 2 มื้อ และทานมากกว่า 3 มื้อ (ร้อยละ 8.0 และร้อยละ 4.7 ตามลำดับ) ส่วนผู้ที่รับประทานเพียง 1 มื้อ มีเพียงร้อยละ 0.2 ประชากรวัยเด็ก (6-14 ปี) มีสัดส่วนของการบริโภคอาหารมื้อหลักครบ 3 มื้อสูงสุด (ร้อยละ 90.1) รองลงมาคือวัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) วัยเยาวชน (15-24 ปี) และต่ำสุดคือวัยทำงาน (25-59 ปี) ร้อยละ 86.0 

การบริโภคอาหารมื้อหลักครบ 3 มื้อ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2548 พบว่า ประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป มีพฤติกรรมการบริโภคอาหารมื้อหลักครบ 3 มื้อเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.9 คือจากร้อยละ 82.2 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 87.1 ในปี 2552 ประชากรวัยเด็ก ซึ่งมีสัดส่วนการบริโภคอาหารมื้อหลักครบ 3 มื้อสูงสุดนั้น มีสัดส่วนของการบริโภคอาหารมื้อหลักครบ 3 มื้อ เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 2.9 ส่วนกลุ่มอายุอื่นๆ พบว่า มีสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเยาวชน (15-24 ปี) และผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) คือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 และ 5.8 ตามลำดับ

การบริโภคอาหารว่าง

จากผลการสำรวจพบว่า ผู้ที่บริโภคอาหารว่างมีทั้งสิ้น 46.8 ล้านคน หรือประมาณ 3 ใน 4 ของประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 76.3) โดยประชากรวัยเด็กมีอัตราการบริโภคอาหารว่างสูงสุด (ร้อยละ 87.6) รองลงมาคือ วัยเยาวชน (ร้อยละ 82.6) วันทำงาน (ร้อยละ 74.1) และต่ำสุดคือ วัยสูงอายุ (ร้อยละ 64.9)

ในกลุ่มผู้ที่รับประทานอาหารว่างนั้น เกือบครึ่งหนึ่งที่รับประทานเพราะความอยาก (ร้อยละ 48.6) รองลงมาคือ รับประทานเพราะความหิว (ร้อยละ 35.8) และเพราะได้เวลารับประทาน หรือเคยรับประทานเป็นประจำ (ร้อยละ 15.6) และเป็นลักษณะที่มีเหมือนกันในทุกกลุ่มอายุ

 

รสชาติอาหาร

สำหรับรสชาติอาหารที่รับประทานเป็นประจำ พบว่าประชากรส่วนใหญ่รับประทานอาหารรสจัดมากที่สุด (ร้อยละ 36.8) รองลงมาคือ รสเผ็ด (ร้อยละ 28.7) รสเค็ม (ร้อยละ 13.0) รสหวาน (ร้อยละ 11.2) และรสอื่นๆ เช่น รสเปรี้ยว และรสชาติกลางๆ (ร้อยละ 10.3) เมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุ พบว่า พฤติกรรมการบริโภคมีลักษณะแตกต่างกันตามวัย คือ เด็กเกินกว่าครึ่งหนึ่ง บริโภคอาหารรสจืดเป็นประจำ รองลงมาคือ รสหวาน ส่วนเยาวชนและวัยทำงานบริโภคอาหารรสเผ็ดมากขึ้น และรสจืดน้อยลง แต่เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ จะบริโภคอาหารรสจืดมากขึ้น และลดรสเผ็ดลง

วิธีปรุงอาหารที่รับประทานเป็นประจำ ประชากรไทยมากกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 57.7) รับประทานอาหารที่ปรุงด้วยวิธีต้มหรือลวก สุก รองลงมาคือ ผัด ทอด ปิ้ง/ย่าง ตุ๋น/นึ่ง และวิธีอื่นๆ ประชากรในภาคกลางและกรุงเทพมหานคร มีสัดส่วนการรับประทานอาหารที่ปรุงโดยใช้น้ำมัน ได้แก่ อาหารประเภทผัด และทอดสูงกว่าภาคอื่นๆ (ร้อยละ 48.5 และร้อยละ 41.9 ตามลำดับ) สำหรับภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มากกว่าร้อยละ 60 ที่รับประทานอาหารปรุงด้วยวิธีต้มหรือลวกสุก แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การรับประทานอาหารที่ปรุงด้วยวิธีปิ้ง/ย่าง พบสูงสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 6.8) 

ความถี่การบริโภคอาหารแต่ละกลุ่ม

เมื่อจำแนกอาหารเป็น 8 กลุ่ม พบว่า ความถี่ในการบริโภคอาหารแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกัน ดังนี้ การบริโภคอาหารกลุ่มที่ร่างกายต้องการเป็นประจำ ได้แก่ กลุ่มเนื้อสัตว์ และกลุ่มผัก/ผลไม้สด ผู้ที่รับประทาน 3-4 วัน ขึ้นไป / สัปดาห์ มีสัดส่วนสูงสุด (ร้อยละ 79.7 และร้อยละ 90.4 ตามลำดับ) โดยเฉพาะกลุ่มผัก/ผลไม้สดมีผู้ที่ทานทุกวันเกินครึ่งหนึ่ง / ร้อยละ 58.0)

สำหรับกลุ่มอาหารที่รับประทานเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และกลุ่มแร่ธาตุวิตามิน พบว่า มีเพียงร้อยละ 9.2 และ 11.7 ที่รับประทานโดยผู้สูงอายุ (60 ปี ขึ้นไป) มีสัดส่วนของการรับประทานอาหารกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและกลุ่มแร่ธาตุวิตามินสูงกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ (ร้อยละ 15.8 และร้อยละ 17.0 ตามลำดับ) 

ส่วนอาหารในกลุ่มที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ หากบริโภคมากเกินพอดี ได้แก่ กลุ่มอาหารที่มีไขมันสูง กลุ่มขนมสำหรับกินเล่น / ขนมกรุบกรอบ กลุ่มอาหารประเภทจานด่วนทางตะวันตก และกลุ่มเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม / เครื่องดื่มที่มีรสหวาน พบว่า ในกลุ่มอาหารที่มีไขมันสูง ส่วนใหญ่คนไทย รับประทาน 1-2 วัน/สัปดาห์ (ร้อยละ 47.3) รองลงมา คือ รับประทาน 3-4 วัน/สัปดาห์ และมีประมาณร้อยละ 10 ที่ไม่รับประทาน

สำหรับกลุ่มขนมสำหรับกินเล่น / ขนมกรุบกรอบ พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งที่ไม่รับประทาน (ร้อยละ 49.0) และเมื่อพิจารณาความถี่ของการรับประทานขนมกรุบกรอบตามวัย พบว่า กลุ่มเด็ก (6-14 ปี) รับประทานทุกวัน สูงกว่าวัยอื่นคือร้อยละ 36.8 ส่วนเยาวชนและวัยทำงานส่วนใหญ่จะรับประทาน 1-2 วัน / สัปดาห์ รองลงมาคือ 3-4 วัน/สัปดาห์ กลุ่มอาหารจานด่วนทางตะวันตก พบว่า มากกว่า 4 ใน 5 ที่ไม่ทาน (ร้อยละ 85.8) ส่วนกลุ่มเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม / เครื่องดื่มที่มีรสหวาน พบว่า ประมาณ 1 ใน 3 ไม่ดื่ม ส่วนกลุ่มที่ดื่มพบว่า มีสัดส่วนของการดื่มทุกวัน และดื่ม 1-2 วัน/สัปดาห์ ใกล้เคียงกัน คือร้อยละ 22.9 ตามลำดับ และพบว่า ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานดื่มทุกวันถึงร้อยละ 31.3

 

 

ที่มา : สำนักสถิติแห่งชาติ

Shares:
QR Code :
QR Code