“ร้อยพลัง สร้างสุข” สร้างผู้นำ สานความร่วมมือ
สสส. จัดงาน “ร้อยพลัง สร้างสุข” สุดคึกคัก ระดมโครงการชุมชนน่าอยู่จาก 600 ภาคีทั่วไทยจัดแสดง หวังขยายผลครอบคลุมยิ่งขึ้น ปลื้ม 3 ปี มีชุมชนน่าอยู่ 1,390 แห่ง-ผู้ได้รับประโยชน์เกือบล้านคน ชี้ “ผู้นำ-ความร่วมมือ” เป็นปัจจัยความสำเร็จ ตั้งเป้าขยายผลทุกชุมชนทั่วประเทศ ใน 10-15 ปี
เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวในการเปิดงาน “ร้อยพลัง สร้างสุข” ว่า การสร้างชุมชน และท้องถิ่นให้เข้มแข็ง เป็นหนึ่งในเป้าหมาย 10 ด้าน ของ สสส. ที่เชื่อมั่นว่าจะเป็นพื้นฐานสนับสนุนให้เกิด “สุขภาวะ” ทั่วทั้งแผ่นดิน เน้นสนับสนุนให้ชุมชนค้นพบศักยภาพ ภูมิปัญญา และแนวทางพัฒนาตนเองจากทุนเดิมที่มีอยู่ เพื่อให้สอดคล้อง เหมาะสมกับพื้นที่ พร้อมทั้งนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์เป็นแนวทางดำเนินงาน จนเกิดชุมชนพึ่งตนเองได้ ซึ่งในช่วง 3 ปี (2255-2557) สสส.สนับสนุนโครงการรายย่อยกว่า 3,400 โครงการครอบคลุมทุกภูมิภาค ส่วนใหญ่ 92% ดำเนินงานในพื้นที่ชนบท
“การดำเนินการดังกล่าว ทำให้เกิดชุมชนน่าอยู่ 1,390 ชุมชนทั่วประเทศ มีผู้ได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกว่า 703,000 คน อีกทั้งยังเป็นฐานสนับสนุนการควบคุมบุหรี่(ยาเส้น/ มวนเอง) ใน 40 ตำบล ครอบคลุม 430 หมู่บ้านใน 6 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ บุคคลและชุมชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่มีผลต่อสุขภาวะ เช่น บริโภคอาหารปลอดภัย จัดการขยะ ลดใช้สารเคมี ออกกำลังกาย ลดค่าใช้จ่ายในการทำเกษตร งดสุราในงานบุญ และงานศพ” ทพ.กฤษดา กล่าว
รศ.นพ.อำนาจ ศรีรัตนบัลล์ รองประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 6 สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งสนับสนุนให้คนในชุมชนทำสิ่งที่คิดว่าจะทำให้ท้องถิ่นน่าอยู่ และนำแบบอย่างของชุมชนน่าอยู่ต้นแบบไปปรับใช้ จากการดำเนินโครงการมา 3 ปี ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร หมู่บ้านส่วนใหญ่พอใจ หลายแห่งทำต่อเนื่อง และเป็นหลักในการขบยายผลไปยังหมู่บ้านอื่น ทั้งนี้ความสำเร็จขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้นำ และคนในชุมชน เช่น หมู่บ้านหนองกลางดง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นแบบอย่างในการพัฒนาชุมชนเรื่องการจัดตั้งสภาผู้นำ และความร่วมมือที่ดีของคนในชุมชน ซึ่งคาดหวังหากมีการจัดงานขยายผลเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง ชุมชนทั่วประเทศจะเป็นชุมชนน่าอยู่ได้ โดยตั้งเป้าขยายให้ครอบคลุมทุกชุมชนภายใน 10-15 ปี
สำหรับกิจกรรมน่าสนใจในงาน อาทิ ปาฐกถาพิเศษ “ชุมชนท้องถิ่นกับอนาคตประเทศไทย” โดย ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และ นายธวัชชัย ฟักอังกูร อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย การเสวนาห้องย่อย 6 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. 2 กลไกร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นน่าอยู่ 2.สร้างสรรค์เศรษฐกิจพอเพียงและการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต 3.ชุมชนน่าอยู่ด้วยพลังงานชุมชน 4.หลากวิธีสร้างอาหารปลอดภัยในชุมชน 5.นวัตกรรมลดพฤติกรรมเสี่ยงเหล้า บุหรี่ 6.พลังเยาวชน พลังเพื่อการเปลี่ยนแปลง การจัดแสดงนิทรรศการต้นแบบความสำเร็จของชุมชนน่าอยู่จาก 600 ภาคีทั่วประเทศ และเกมตรวจเช็คสุขภาพความเข้มแข็งชุมชน รวมถึงให้คำปรึกษาการเขียนข้อเสนอโครงการเปิดรับทั่วไป
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข