ร้อนใน แผลในปาก เรื่องเล็กที่เจ็บจี๊ดกว่าที่คิด

ที่มา: โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

                    หลายคนคงคุ้นเคยกับอาการ “ร้อนใน” หรือแผลในปาก ที่แม้จะดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่กลับสร้างความรำคาญและเจ็บปวดได้ไม่น้อย โดยเฉพาะเวลารับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักแผลร้อนในให้มากขึ้น พร้อมวิธีดูแลและป้องกันอย่างถูกต้อง

                    แผลร้อนใน คืออะไร?

                    แผลร้อนใน คือแผลเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นภายในช่องปาก เช่น ริมฝีปากด้านใน กระพุ้งแก้ม ลิ้น หรือเหงือก แผลมักมีลักษณะเป็นวงกลม สีขาวหรือเหลือง มีขอบแดง และเจ็บเมื่อสัมผัสหรือเคี้ยวอาหาร ขนาดแผลอาจเล็กเพียง 1 มิลลิเมตร หรือใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร โดยทั่วไปจะหายได้เองภายใน 1–2 สัปดาห์

                    สาเหตุของแผลร้อนใน แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มักมีปัจจัยกระตุ้นหลายประการ เช่น

  • กรรมพันธุ์

  • การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย

  • ขาดวิตามินบางชนิด เช่น วิตามิน B12, กรดโฟลิก

  • ความเครียด พักผ่อนไม่พอ

  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน (โดยเฉพาะในผู้หญิงช่วงมีประจำเดือน)

  • การแพ้อาหารบางชนิด

  • การใส่เหล็กดัดฟันหรืออุปกรณ์ในปาก

  • โรคเรื้อรัง เช่น ภูมิคุ้มกันบกพร่อง, โรคโครห์น, โรคเบเช็ท

                    อาการของแผลร้อนใน

  • แผลบวมแดง เจ็บเมื่อโดน

  • อาจมีไข้ หรือมีต่อมน้ำเหลืองบวมร่วมด้วย

  • หากแผลไม่หายภายใน 2 สัปดาห์ หรือมีแผลหลายจุดพร้อมกัน ควรพบแพทย์

                    แผลร้อนใน อันตรายหรือไม่?

                    แผลร้อนในส่วนใหญ่มักหายได้เอง แต่หากแผลมีขนาดใหญ่ เกิดบ่อย หรือไม่หายขาด อาจเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งช่องปาก โดยเฉพาะหากมีลักษณะดังนี้:

  • แผลจำนวนมากและเกิดซ้ำ

  • แผลขยายลุกลาม หรือมีลักษณะแปลกไปจากเดิม

  • แผลยังอยู่แม้ผ่านไปเกิน 2 สัปดาห์

                    วิธีดูแลและรักษาแผลร้อนใน

  • รักษาความสะอาดในช่องปากเป็นประจำ

  • ใช้แปรงสีฟันขนนุ่ม และน้ำยาบ้วนปากอ่อนๆ

  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เผ็ด เปรี้ยวจัด หรือของทอด

  • ใช้ยาทาบรรเทาอาการ เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์

  • กรณีรุนแรง แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะหรือยาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน

  • บางกรณีอาจรักษาด้วยการจี้แผลด้วยเคมีหรือไฟฟ้า

  • พักผ่อนให้เพียงพอ และลดความเครียด

                    ใช้เกลือกลั้วปาก ดีจริงไหม?

                    การผสมเกลือ 1–2 ช้อนชากับน้ำ 1 แก้ว แล้วนำมาอมหรือบ้วนปากวันละ 2–3 ครั้ง สามารถช่วยลดการอักเสบได้ แต่ไม่ควรใช้เกลือบริสุทธิ์แตะแผลโดยตรง เพราะอาจทำให้ระคายเคืองและแผลหายช้าลง

                    วิธีป้องกันแผลร้อนในไม่ให้กลับมา

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ของทอด ของมัน

  • กินผักผลไม้ให้เพียงพอ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีวิตามิน B และ C

  • ดื่มน้ำสะอาดวันละ 6–8 แก้ว

  • พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงความเครียด

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

  • ดูแลสุขภาพช่องปากอย่างเคร่งครัด

Shares:
QR Code :
QR Code