ร่วมใจกินเปลี่ยนโลก ‘คนยุคดิจิตอลสุขภาพดี’

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากแฟนเพจ food4change 


ร่วมใจกินเปลี่ยนโลก 'คนยุคดิจิตอลสุขภาพดี' thaihealth


ปัญหาสุขภาพส่วนหนึ่งมาจากการรับประทานไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น ทานหวาน มัน เค็ม มากเกินไป และยังมีสารเคมีปนเปื้อนไม่ถูกสุขลักษณะ ส่งผลให้คนจำนวนไม่น้อยในยุคดิจิตอลมีความเสี่ยงเป็นโรคในกลุ่ม NCDs หรือกลุ่มโรคติดต่อไม่เรื้อรัง จนเกิดเป็นกระแสปลุกคนยุคใหม่ให้ตื่นตัวมาดูแลสุขภาพมากขึ้น


เริ่มต้นด้วยการกินอาหารอินทรีย์ หรือปลอดสารพิษ รวมทั้งอาหาร คลีนให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ทุกคนห่างไกลโรคร้าย ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิชีววิถี และเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก ได้จัดเทศกาล "กินเปลี่ยนโลก ครั้งที่ 3 ตอน ขบวนการเชฟน้อย" ระหว่างวันที่ 10-12 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา บริเวณสวนสันติชัยปราการ ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพฯ


โดยมีกิจกรรมน่าสนใจจากเครือข่ายการทำเกษตรอินทรีย์ ปลอดสารเคมีและปลอดภัย จากเครือข่ายกลุ่มตลาดสีเขียวจากจังหวัดต่างๆ อาทิ ศรีสะเกษ มหาสารคาม เชียงใหม่ ฉะเชิงเทรา สงขลา พัทลุง กรุงเทพฯ ฯลฯ มาจำหน่ายสินค้าและแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน ภายใต้แนวคิดมีจิตสำนึกต้องการเห็นสังคมมีผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัย และคนไทยมีสุขภาพดี


นางปราณี มรรคนันท์ ผู้ประสานงานเครือข่ายกลุ่มทามมูล จาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า หอมแดงและกระเทียมเป็นพืชผลเศรษฐกิจของจังหวัดศรีสะเกษ แต่ที่ผ่านมาพบว่าการปลูก 1 รอบต้องมีการใส่สารเคมี เช่น ยาฆ่าหญ้า ฆ่าเชื้อรา ถึง 16 ครั้ง ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอย่างยิ่ง จึงคิดค้นวิธีปลูกหอม กระเทียม แบบเกษตรอินทรีย์ เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ได้ผลผลิตปีละประมาณ 2 ตัน แม้จะใช้เวลานานกว่าการปลูกแบบเดิม และใช้วัตถุชีวภาพในการปลูก แต่ได้ผลผลิตที่ปลอดภัย


ร่วมใจกินเปลี่ยนโลก 'คนยุคดิจิตอลสุขภาพดี' thaihealth


"ที่ผ่านมาได้สำรวจพบชาวบ้านมีปัญหาสุขภาพในกลุ่มโรค NCDs อาทิ โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ จึงคิดว่าส่วนหนึ่งมาจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง จึงคิดว่าน่าจะพลิกผืนดินที่เคยใช้สารเคมีหันมาทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อประโยชน์ของสมาชิกทุกครัวเรือนจนมีสุขภาพดีขึ้น" นางปราณีกล่าว


นางนวลจันทร์ จันทบุตร รองประธานและผู้ประสานงานกลุ่มเกษตรอินทรีย์หนองคูศรีวิไล จ.มหาสารคาม ได้นำเมนูอาหารกินเปลี่ยนโลกมาเชิญชวนให้เราได้ลิ้มลอง นั่นคือ เมนู "ปูเข้าแถว" เป็นปูที่ได้จากทุ่งนาบ้านไร่ นำมาปิ้ง กลิ่นหอมหวน รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ หรือข้าวจี่แสนอร่อย ซึ่งได้จากท้องทุ่งอันอุดมสมบูรณ์ หลังจากหันมาปลูกพืชทำนาโดยปลอดสารพิษจากปุ๋ยเคมีกว่า 10 ปีที่ผ่านมา จากเดิมที่ระบบนิเวศถูกทำลาย สัตว์ต่างๆ ก็กลับคืนสู่ท้องทุ่ง เช่น ไส้เดือน ปูนา ปลาน้อยใหญ่ ทำให้ชีวิตชุมชนมีความสุข สุขภาพดีกันอีกครั้ง และภาคภูมิใจในวิถีชาวบ้านเกษตรสีเขียวที่ฟื้นความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพกลับสู่สมาชิกชุมชนอีกครั้ง


ร่วมใจกินเปลี่ยนโลก 'คนยุคดิจิตอลสุขภาพดี' thaihealth


นางนพวรรณ ทิพย์วงค์ และนางจำลอง อินชัย ตัวแทนสมาชิกข่วงเกษตรอินทรีย์ จ.เชียงใหม่ ได้มีโอกาสมาร่วมงานเทศกาลกินเปลี่ยนโลก ครั้งที่ 3 และพูดถึงงานครั้งนี้ว่า ตลาดสีเขียวดังกล่าวนี้เป็นตลาดทางเลือกสำหรับทุกคนทุกวัย โดยกลุ่มของเรานำสินค้าจากภาคเหนือมาจำหน่าย มีทั้งผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ สินค้าทั้งหมดไม่ใช้สารเคมี เปิดมาแล้ว 4-5 ปี มีการให้ความรู้กับผู้บริโภค ทำให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะสินค้าเราปลอดสารพิษ และมาจากแปลงของเกษตรกรอย่างแท้จริง


นางสุมาลี หมาดเส้น สมาชิกป่าไผ่สร้างสุข จ.พัทลุง หนึ่งในกลุ่มผู้มาร่วมงาน เปิดเผยว่า แบ่งสินค้าเป็น 3 เขตคือ เขตป่า เป็นสินค้าประเภทผัก ผลไม้ เขตนา ก็คือข้าว และเขตเล เป็นอาหารทะเล แม้จะเปิดมาไม่นานแต่ได้รับความสนใจ เพราะสินค้าไม่มีสารเคมีและภาชนะที่ใส่อาหารทั้งหมดเป็นวัสดุจากธรรมชาติทั้งสิ้น


นางพูลเพ็ชร สีเหลืองอ่อน ผู้ประสานงานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ทำเกษตรอินทรีย์มากว่า 10 ปี สาเหตุที่ทำเกษตรอินทรีย์เพราะปัญหาสุขภาพเกษตรกรจากการใช้ปุ๋ยเคมี ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาปุ๋ย ไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านราคาผลผลิต จึงรวมกลุ่มดำเนินงาน มีการคำนวณราคาต้นทุนของสินค้า และประกันราคาให้เกษตรกรในกลุ่ม


ร่วมใจกินเปลี่ยนโลก 'คนยุคดิจิตอลสุขภาพดี' thaihealth


นายศิโรจน์ ชนันทวารี ครูโรงเรียนวัดเจียรดับ เขตหนองจอก กรุงเทพฯ ที่ใช้พื้นที่เพียง 1 ไร่ของโรงเรียน สร้างสรรค์เป็นครอบครัวเกษตร โดยใช้กิจกรรมสวนผักส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิชาการของเด็ก เปิดเผยว่า โรงเรียนของเราร่วมกันคิด ร่วมกันทำ มีไอเดียให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ประสบการณ์จริงด้วยโครงการปลูกผักปลูกเด็ก โดยให้นักเรียน ป.1-ป.6 ปลูกผักแบบง่ายๆ เพื่อนำมารับประทานโดยไม่ใช้สารเคมี โดยเด็ก ป.1 ให้เริ่มจากปลูกพืชผักง่ายๆ คือเพาะเมล็ดผัก ป.2 เริ่มเพาะพันธุ์ เช่น ปักชำกิ่ง ป.3 ปลูกผักในกระถาง ป.4 ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ป.5 ปลูกข้าวในกระถาง และ ป.6 เลี้ยงปลา โดยในงานวันนี้ เด็กได้มาโชว์ฝีมือปลูกผักและแบ่งปันประสบการณ์สาธิตการทำอาหารจากพืชผักสวนครัวโรงเรียนทั้งหมด เช่น สลัดโรล ฯลฯ ให้ผู้มาร่วมงานได้ชิมกัน


สำหรับบรรยากาศของงานยังมีกิจกรรมเล่าเรื่องเกษตรกรรุ่นใหม่, ร้านค้ากินเปลี่ยนโลกที่นำเสนอเครื่องปรุงรสเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ตามธรรมชาติเท่าที่จำเป็นสำหรับทุกครัวเรือน, กิจกรรมบนเวทีมากมาย, Workshop ทำอาหารจากเชฟคนดัง, โซนเชฟน้อยกินเปลี่ยนโลกที่สนุกกับการลองฝึกทำเมนูง่ายๆ อร่อยๆ สุขภาพดี, เสวนาเกี่ยวกับรสชาติเด็กกับการกินและตลาดทางเลือก


นับเป็นกิจกรรมดีๆ ที่ผู้ผลิตนอกจากใส่ใจดูแลตัวเองแล้ว ยังมีความรับผิดต่อผู้บริโภคในยุคที่คนไทยเริ่มตื่นตัวและรักสุขภาพมากขึ้น ผู้สนใจติดตามข้อมูลได้ที่  www.food4change.in.th  หรือ Facebook กินเปลี่ยนโลก กินทุกวันเปลี่ยนโลกทุกวัน

Shares:
QR Code :
QR Code