ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่
ปรองดอง-ปฏิรูป สาระสำคัญคือทำจริง
โดย นายใฝ่ฝัน…ปฏิรูป
เริ่มต้นเพื่อหาแนวทางปฏิรูปประเทศไทย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีหลากหลายความคิดที่สดับตรับฟังได้อย่างชัดเจน
ผมเห็นว่าเป็นกระแสความเคลื่อนไหวที่ดีครับ…หรือคุณว่าไง?!?
เพราะถ้ามองอย่างพิเคราะห์พิจารณาแล้ว การที่ทุกภาคส่วนลุกขึ้นมาใส่ใจกับการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ย่อมหมายความว่า เรายังมีหนทางที่จะก้าวเดินต่อไป เรายังสามารถพัฒนาได้ มิใช่ถึงทางตัน รอวันล่มสลายม็อบกับอีกหลายสังคมประเทศในโลก
วิกฤตการณ์การเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม เป็นต้นเหตุกระตุ้นให้เกิดกระแสความใส่ใจต่อการปฏิรูปในวันนี้ อย่างแน่นอนโดยไม่ต้องสงสัย ถึงแม้โดยข้อเท็จจริงแล้ว มีกลุ่มคนมากพอสมควรที่รวมตัวกันด้วยแนวคิดว่า “ประเทศไทยต้องเปลี่ยน” มานานพอสมควรอย่างน้อยก็มากกว่า 1 ปี อาทิ เครือข่ายสถาบันทางปัญญาที่มีศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นหัวหอกคนสำคัญ
ฉะนั้น การที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี รับปากเป็นประธานสมัชชาเพื่อการปฏิรูป จึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เหมือนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นรถไฟฟ้าจากสถานีจตุจักรไปถึงอ่อนนุชได้โดยไม่ต้องเสียเวลาติดปัญหาการจราจร เฉกเช่นรัฐบาลอื่นๆ ที่ผ่านมา
เพราะตลอดระยะเวลาในการทำงานของสถาบันเครือข่ายทางปัญญา เพื่อการปฏิรูปประเทศไทยให้น่าอยู่ที่สุดในโลกนั้นอาจารย์หมอประเวศทั้งทำการบ้านและฝากคนอื่นทำการบ้านเพื่อผลักดันแนวคิด จำนวน 10 ประการเพื่อการปฏิรูปมาอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ
(1) สร้างจิตสำนึกไทยใหม่(2) สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่(3) สร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น(4) สร้างระบบการศึกษาที่พาชาติออกจากวิกฤต(5) ธรรมาภิบาลทางการเมืองการปกครองระบบความยุติธรรมและสันติภาพ(6) ระบบสวัสดิการสังคมที่ถ้วนหน้า(7) ดุลยภาพเพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อม(8) ปฏิรูประบบสุขภาพ(9) วิจัยยุทธศาสตร์ชาติ และ (10) สร้างระบบการสื่อสารที่ดีที่ผสานการพัฒนาทั้งหมด
ฉะนั้น สาระสำคัญของการปฏิรูปประเทศไทยจึงไม่ได้อยู่ที่แนวทาง อยู่ที่รูปแบบ อยู่ที่โครงสร้างการจัดการ หรืออยู่ที่ตั้งคณะกรรมการชุดใดชุดหนึ่งให้งดงามสวยหรู ภายใต้การบริหารจัดการของทำเนียบรัฐบาล หรือบ้านพิษณุโลก แม้กระทั่งอยู่ที่ตัวบุคคลอย่างอาจารย์หมอประเวศ วะสี หรือนายอานันท์ ปันยารชุน…แต่อย่างใด
การปฏิรูปจะสำเร็จได้ด้วยดี ตามที่มุ่งหมาย สนองต่อความต้องการและความหวังของทุกฝ่าย สาระสำคัญคือ ทำจริงและต่อเนื่อง…ขอรับ
เหมือนอย่างที่อาจารย์หมอประเวศได้เขียนบทความแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายการปฏิรูปประเทศของรัฐบาลชุดนี้ตอนหนึ่งว่า
10 เรื่องในการปฏิรูปประเทศไทย เป็นเรื่องยากๆ อย่างนี้ ถ้าไม่ช่วยกันทำแล้วใครจะทำ ฝ่ายการเมืองเขาคงทำไม่ได้แต่ยามใดที่มีวิกฤตการณ์ทางการเมือง หน้าต่างแห่งโอกาสจะเปิดให้ทำเรื่องยากๆ ยามที่ฝ่ายการเมืองเข้มแข็งเขามักจะไม่สนองตอบต่อข้อเรียกร้องใดๆ จากภาคสังคม ยามเขาอ่อนแอเขาจะสนองตอบเพราะฉะนั้นการปฏิรูปประเทศไทยไม่ใช่ความริเริ่มของฝ่ายการเมืองแต่เป็นการสนองตอบความริเริ่มที่ดำเนินการอยู่แล้วในสังคม และก็เป็นโอกาสที่ภาคสังคมจะขับเคลื่อนการปฏิรูป
สรุปความตามท้องเรื่อง คงไม่พ้นที่จะกล่าวว่า รัฐบาลมาแล้วก็ไป รัฐบาลที่มาแต่ละชุดอาจจะมีนโยบายของตนเอง ที่เกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับการปฏิรูปบ้านเมืองเลย หากอยากเห็นการปฏิรูปประเทศเป็นจริงเป็นจัง ไม่ผูกติดกับการเมือง ไม่กลายเป็นเครื่องมือหาเสียงทางการเมือง ไม่ถูกหยิบยกมาเป็นวิธีการซื้อเวลาทางการเมือง อ้างเป็นความปรารถนาดีของนักการเมืองเพื่อการสร้างภาพล่ะก็ คนไทยทั้งประเทศต่างหากที่จะต้องลงมือทำงานปฏิรูปด้วยตนเอง
จิตสำนึกใหม่เพื่อการปฏิรูปของคนไทยทั้งหมดที่อยากเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลงต่างหาก คือ อาวุธสำคัญสู่อนาคตใหม่
ผมขอยืนยันว่า รายงานผลการระดมความคิดเพื่อหาแนวทางปฏิรูปประเทศไทยที่มีการนำเสนอต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีไม่ว่าจะสวนหรูงดงามเพียงใด มีทั้งการบริหารจัดการ/การจัดสรรทรัพยากรให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่นมีส่วนร่วมติดสินใจในการจัดการทรัพยากร มีการกำหนดให้การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นวาระแห่งชาติ มีการยกปัญหาการศึกษามาเพื่อการปฏิรูปครั้งแล้วครั้งเล่า มีการเขียนถึงการส่งเสริมจริยธรรม คุณธรรมและศีลธรรม ของคนไทยตั้งแต่เยาว์วัย มีการระบุถึงการปฏิรูปกฎหมาย และระบบราชการ ฯลฯ
ความงดงามเพื่อการปฏิรูปจากการระดมความเห็นมากมายอย่างตื่นตัว ของเครือข่ายภาคีทั้งหลายก็จะเป็นแค่ตัวหนังสือบนกระดาษ หรือลายลักษณ์อักษรบนหน้าเว็บไซต์ของรัฐบาลเท่านั้น ตราบเท่าที่คนลงมือกระทำ มิได้สนใจหน้าที่และความรับผิดชอบที่พึงกระทำในแต่ละภาคส่วน
วันนี้ ไม่มีใครปฏิเสธว่าประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลง
พรุ่งนี้ ก็ไม่มีใครมองข้ามความจริงได้ว่า แนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทยควรจะยึดหลัก 5 ส.ได้แก่ สันติภาพ: ยึดหลักเมตตาธรรม และนำไปปฏิบัติอย่างจริงใจและจริงจัง โดยปราศจากเงื่อนไขที่นำไปสู่การขัดแย้ง สามัคคี : น้อมนำแนวพระราชดำรัส รู้รัก สามัคคี และแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สัตยาบัน : ทุกฝ่ายลงนามข้อตกลงร่วมกัน และประกาศให้สังคมและนานาชาติรับรู้ สื่อสาร: ทุกฝ่ายเจรจาบนความจริงใจและความเป็นมิตร โดยหาข้อตกลงและบทสรุปร่วมกัน ส่วนร่วม : ทุกภาคส่วนในสังคม ร่วมคิด ร่วมกำหนดมาตรการ แนวทางและจัดทำแผนปฏิบัติการในการปฏิรูปฯ อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยทุกภาคส่วนให้การยอมรับและนำไปสู่การปฏิบัติ
แต่สำคัญที่สุดคือ ทำกันจริงหรือเปล่าครับ
ผมตั้งคำถามนี้กับรัฐบาล ข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำทุกฝ่ายครับ เพราะผมพิสูจน์มาแล้วว่า ถ้ารัฐบาลแค่ทำแบบเล่นปาหี่ นักการเมืองทำแบบหาเสียง ข้าราชการทำแบบเช้าชามเย็นชามขอไปที ยังมีชาวบ้านที่มีจิตสำนึกแนวร่วมใหม่เขาทำของเขากันเองอยู่ครับรับรอง–จบ–
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
Update: 24-06-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: คีตฌาณ์ ลอยเลิศ