ร่วมพัฒนาระบบ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
สสค. ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เร่งพัฒนาระบบสารสนเทศ’-‘กลไลจัดการเชิงพื้นที่ ลดความความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สู่การประกันคุณภาพเด็กเยาวชนไทย ย้ำ ‘ท้องถิ่น’ ต้องช่วย “เด็กด้อย” ก่อน “เด็กเด่น”
เมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงแรมสตาร์ จังหวัดระยอง สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้รับเกียรติจากสมาคมผู้บริหารโรงเรียน สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย (ส.บ.อ.ท.) บรรยายพิเศษในการประชุมสัมมนาวิชาการและประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2556 ในหัวข้อ “การพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สู่การประกันคุณภาพการศึกษา” โดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. และบรรยายในหัวข้อ “การบริหารจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ: การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่” โดยนายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน นักวิชาการ สสค.วานนี้ โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศกว่า 250 คนร่วมงาน
นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ประธานในพิธีกล่าวว่า จังหวัดระยองสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) กว่าหนึ่งในสามของภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศไทย โดยภาครัฐส่งเสริมให้บริษัททั้งในประเทศ และต่างประเทศเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากระยองมาหลายทศวรรษ แต่กลับไม่เคยจัดสรรงบมาสนับสนุนเรื่องการสร้างคุณภาพเยาวชน การสร้างโรงเรียน หรือยกระดับการศึกษาให้คนระยองทันต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของจังหวัดกว่าหลายสิบปีแล้ว ทำให้คนในจังหวัดระยองให้คุณค่าแต่ความเจริญทางเศรษฐกิจกับทางวัตถุ จึงเป็นหน้าที่ของอบจ.ที่ต้องรับผิดชอบเพื่อชาวระยอง ตอนผมเข้ามาเป็นนายกอบจ.ระยองมีงบเพียง 600 ล้าน แต่ผมลงทุนให้การศึกษาเป็นอันดับแรกทุกปี ปีละ 200-300 ล้านบาท เพื่อให้เด็กระยองที่ยังขาดโอกาสทางการศึกษาอีกจำนวนมากมีโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี
“ในฐานะเด็กเรียนไม่เก่ง ผมเห็นว่า ทุกวันนี้โรงเรียนเชิดชูกันแต่เด็กเก่ง ทั้งที่เป็นฝีมือเด็กและผู้ปกครองทั้งนั้น หลายครั้งที่ผมได้การติดต่อจากองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่จากต่างประเทศ และหลายๆองค์กรในประเทศที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์ในจังหวัดระยองว่าจะให้สร้างโรงเรียนที่เน้นคัดแต่เด็กเก่งมาเรียนเพื่อให้เก่งขึ้น แล้วไปทำงานในบริษัทเข้าต่อ ผมบอกปฏิเสธไปหมด ถ้าทำเช่นนั้นแล้วเด็กไม่เก่งของจังหวัดระยองอีกมากมายจะไปเรียนที่ไหน ผมต้องการทำโรงเรียนที่มุ่งเน้นสร้างคนที่มีระเบียบวินัย เป็นคนดีมีคุณธรรม ความเก่งทางวิชาการ และกีฬาเราก็ปั้นได้ เด็กระยองของผมใครยากจนแต่รักเรียน มาเรียนกับผม ผมให้ทุนทุกคน ผมเข้าใจว่า เด็กเหล่านี้ต้องการโอกาสทางการศึกษาและโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเชื่อว่า อบจ.ทุกจังหวัดก็มีทิศทางคล้ายคลึงกันเพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กเยาวชนในท้องถิ่นของตน”
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. กล่าวว่ากลุ่มโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กว่า 300 แห่งทั่วประเทศเป็นกลุ่มสถานศึกษาที่มีความพิเศษ เป็นสถานศึกษาที่เกิดจากการสานพลังระหว่างโรงเรียนสังกัดกรมสามัญเดิมของกระทรวงศึกษาธิการที่มีศักยภาพทางวิชาการและการบริหารสถานศึกษาที่เข้มข้นแล้วร่วมกับการกำกับทิศทางการขับเคลื่อนการศึกษาของจังหวัดภายใต้การสนับสนุนของผู้บริหารอบจ.ทำให้โรงเรียนสังกัดอบจ.สามารถเป็นผู้นำในการจัดการศึกษาที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ ทันสมัยและที่สำคัญสอดคล้องกับความต้องการด้านแรงงานและการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง สสค.จึงมีความยินดีที่ได้สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จากกระบวนการวิจัยอย่างต่อเนื่องของ สสค.และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และระบบสารสนเทศการศึกษาเพื่อหลักประกันโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพจากต้นแบบ บราซิลโมเดล ที่ สสค.ได้มีการวิจัยมากว่า 2 ปีร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยจากการประชุมครั้งนี้ สสค.และผู้บริหารสถานศึกษาอบจ.จำนวนกว่า 50 โรงเรียนจากจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น เชียงใหม่ และระยอง กำลังศึกษาแนวทางการทดลองนำร่องระบบสารสนเทศดังกล่าวซึ่งจะเป็นการสร้างมิติใหม่ในการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนในสถานศึกษาไทย
นายสุรพล ธรณี ผู้อำนวยการโรงเรียนโพธิ์ทองพิทยาคม โรงเรียนในสังกัด อบจ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ผมไม่เคยรู้จัก สสค.มาก่อน แต่วันนี้ได้รู้จักผ่านการทำงานเชิงพื้นที่แล้ว รู้สึกดีใจมาก นึกว่าเป็นเหมือนสภาการศึกษาที่ทำงานในระดับชาติ แต่สสค.เป็นองค์กรคนรุ่นใหม่ ที่ทำงานแบบมี “ราก” และ “ติดดิน” กับพวกเรา ผมในฐานะโรงเรียนในสังกัดท้องถิ่นก็ดีใจที่จะมีเพื่อนร่วมทางช่วยสนับสนุนการทำงานของเรา ไม่เดียวดายอีกต่อไป
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)