ร่วมปฏิรูปการศึกษา ตั้งเป้าพัฒนาเด็กจังหวัดน่าน
สสค. เดินหน้าขยายผลการยกระดับการพัฒนาการศึกษาของ “10 จังหวัดดีเด่น” จากโครงการ “ครูสอนดี” หนุนท้องถิ่นยกระดับการเรียนรู้ นำร่องสู่การปฏิรูปการศึกษาในระดับจังหวัด ล่าสุดร่วมกับ “จังหวัดน่าน” นำเสนอผลงานการยกระดับการพัฒนาการเรียนรู้เด็กและเยาวชนจังหวัดน่าน ภายใต้ยุทธศาสตร์ “เด็กน่านรักดี รักษ์ถิ่นเกิด เรียนรู้สู่สากล” จับมือ 6 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างพื้นที่ต้นแบบแก้ปัญหาด้านการจัดการศึกษาด้วยตนเอง
จากการดำเนินงาน “โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ ยกย่อง เชิดชู ครูสอนดี เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน” หรือ “ครูสอนดี” ของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชนหรือ สสค. ที่ได้ก่อให้เกิด “คณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น” ขึ้นในแต่ละจังหวัดซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ท้องถิ่นตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา จนเป็นที่มาของ“จังหวัดดีเด่น” จำนวน 10 จังหวัด ที่สามารถต่อยอดขยายผลการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาของจังหวัดได้อย่างยั่งยืน ภายใต้คณะทำงานที่ปรับเปลี่ยนบทบาทไปเป็น “คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้”
สำหรับจังหวัดน่านเป็น 1 ใน 10 จังหวัดดีเด่นที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน เป็นจังหวัดนำร่องและพื้นที่ต้นแบบในการปฏิรูปการศึกษาของจังหวัดภายใต้แนวคิด “เด็กน่านรักดี รักษ์ถิ่นเกิด เรียนรู้สู่สากล” เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของท้องถิ่นและการพัฒนาในมิติต่างๆ ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว เศรษฐกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน
นายสมเพ็ชร สิทธิชัย เลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดน่าน เปิดเผยว่า แนวคิดในการทำงานของคณะกรรมการฯ จังหวัดน่าน เน้นการทำงานใน 3 เรื่องคือ หนึ่งความร่วมมือของคนในพื้นที่ สองผลจากการทำงานจะต้องเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน และสามความยั่งยืนในทำงาน จึงได้เชิญชวนคนในจังหวัดน่านให้มาร่วมกันสร้างวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน และเห็นร่วมกันว่าการทำงานของคณะกรรมการฯ จะเข้มแข็งไม่ได้ ถ้าไม่มีพื้นที่หรือท้องถิ่นเข้ามาร่วมมือ
“ตรงนี้จึงเป็นที่มาของการคัดเลือกตำบลทั้ง 6 แห่งเข้าร่วมเป็นเครือข่ายทำงานด้านเด็กและเยาวชนในรูปแบบของคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ระดับตำบล เพื่อให้เครือข่ายในพื้นที่เป็นฐานในการทำงาน เป้าหมายของการสร้างเด็กน่าน รักดี รักษ์ถิ่นเกิด เรียนรู้สู่สากล เป็นวิสัยทัศน์ของการพัฒนาเด็กและเยาวชนในจังหวัดน่าน โดยเน้นจุดแข็งทางวัฒนธรรมของจังหวัดที่มีความหลากหลายให้เยาวชนสานต่อ รวมไปถึงการรักและหวงแหนสิ่งแวดล้อม และสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษเพื่อตอบรับการก้าวสู่ความเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยังคงวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่” นายสมเพ็ชรกล่าว
โดย 6 ตำบลที่เข้าร่วมเป็นพื้นที่ต้นแบบปฏิรูปการเรียนรู้ประกอบไปด้วย ตำบลปอน, ตำบลงอบ จากอำเภอทุ่งช้าง ตำบลศิลาเพชร, ตำบลไชยวัฒนาจากอำเภอปัว และตำบลสะเนียน, ตำบลกองควาย จากอำเภอเมือง โดยทั้ง 6 ตำบลจะ ขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนในรูปแบบของ “คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ระดับตำบล” ซึ่งประกอบไปด้วย นายก อบต. หรือ เทศบาลตำบล เป็นประธาน มี อบต.หรือเทศบาลตำบล เป็นหน่วยจัดการ และมีผู้บริหารโรงเรียน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ปกครอง ร่วมเป็นคณะกรรมการ โดยใช้หลัก “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน และชุมชน ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อสร้างและพัฒนาให้เด็กและเยาวชนในท้องถิ่นรักดีรักษ์ถิ่นเกิดเรียนรู้สู่สากลตามบริบทในท้องถิ่นของแต่ละตำบล
นายเสกสรร ใจประสงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมณีพฤกษ์ และคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ตำบลงอบ กล่าวว่า เนื่องจากตำบลงอบเป็นพื้นที่สูงและมีความหลากหลายในเรื่องของชนเผ่าต่างๆ อาทิ ไทลื้อ, ลั๊วะ, ม้ง และ ขมุ ดังนั้นแนวทางในการปฏิรูปการเรียนรู้ของตำบลงอบจะเน้นในเรื่องของการนำเอาเรื่องของความหลากหลายทางชาติพันธุ์เป็นฐานในการทำงาน และขับเคลื่อนผ่าน 3 โครงการหลักๆ คือ โครงการเด็กและเยาวชนตำบลงอบรักษ์ถิ่นเกิด, โครงการเด็กและเยาวชนตำบลงอบพร้อมใจสู่ประชาคมอาเซียน และ โครงการยกระดับการเรียนรู้สู่สังคมที่เป็นสุข
“การขับเคลื่อนโครงการรักษ์ถิ่นเกิดจะมีการจัดกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน มีการตั้งกลุ่มเรียนรู้เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกันและกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขท่ามกลางความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ส่วนโครงการพร้อมใจประชาคมอาเซียนเนื่องจากเด็กและเยาวชนในพื้นที่ยังไม่พร้อม จึงจะจัดให้มีค่ายอบรมให้ความรู้ในเรื่องของอาเซียน มีการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งทักษะด้านการสื่อสารและการติดต่อค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะภาษาจีนซึ่งชนเผ่าม้งจะมีพื้นฐานการพูดที่ใกล้เคียงกัน ส่วนโครงการสุดท้ายจะเน้นในเรื่องของทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ โดยการนำเอาเรื่องของอาชีพในชุมชนทั้งการปลูกขิง กะหล่ำ ผลไม้เมืองหนาว ผ้าทอพื้นเมืองมาพัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน พร้อมสอดแทรกความรู้ในของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดูแลผืนป่า การลดละเลิกใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต รวมไปถึงการนำเอาเรื่องกาแฟมณีพฤกษ์ซึ่งมีชื่อเสียงมาจัดทำเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ตั้งแต่การปลูก ผลิต จำหน่าย และแปรรูปเป็นเมนูกาแฟต่างๆ โดยเด็กๆ สามารถเลือกได้ตามความถนัดและสนใจ” ผอ.เสกสรรกล่าว
สำหรับตำบลไชยวัฒนา อำเภอปัว จากปัญหาหมู่บ้านที่มีขนาดเล็กลง ส่งผลต่อโรงเรียนขยายโอกาสที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 20 คน รูปแบบการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ตำบลไชยวัฒนา จึงเน้นเรื่องการแก้ปัญหา“โรงเรียนขนาดเล็ก” เป็นหลัก
นางลำไย หานิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสระวงค์ และคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ตำบลไชยวัฒนา กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปการเรียนรู้ว่า เนื่องจากในพื้นที่มีโรงเรียน 5 แห่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ของ สพฐ. คือ 60 คนทั้งสิ้น ทั้งยังประสบปัญหาจำนวนครูไม่ครบชั้น ไม่เพียงพอต่อการเปิดสอนในทุกระดับชั้นของแต่ละโรงเรียน ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาที่เด็กๆ จะได้รับ ทางคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ฯ จึงมาร่วมกันคิดและหาทางแก้ปัญหาจนเกิดเป็น “ไชยวัฒนาโมเดล” ที่มีการนำนักเรียนของทั้ง 5 โรงเรียนจำนวน 165 คนมาจัดแบ่งเป็นแต่ละกลุ่มช่วงชั้นเพื่อเรียนร่วมกัน และมีการจัดรถรับส่งเด็กนักเรียนไปเรียนยังโรงเรียนต่างๆ
“ไชยวัฒนาโมเดลเป็นการแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ที่เกิดจากการที่แต่ละโรงเรียนมีครูไม่เพียงพอต่อการเปิดสอนในแต่ละชั้น ดังนั้นการจัดการเรียนร่วมกันจึงเป็นทางออกของปัญหาที่ดีที่สุดของโรงเรียนต่างๆ ตัวอย่างเช่นนักเรียนชั้น ป.1 และ ป.3 ก็จะไปเรียนที่โรงเรียนบ้านเสี้ยว นักเรียนชั้น ป. 2 และ ป.4 ก็จะไปเรียนที่โรงเรียนบ้านหนาด ส่วน ป.5 ไปเรียนที่โรงเรียนบ้านแดนพนา และ ป.6 ไปเรียนที่โรงเรียนศรีสระวงค์ ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาส ดังนั้นเด็กก็จะได้เรียนต่อจนจบ ม.3 โดยทุกๆ เช้าเด็กๆ ก็จะไปรออยู่ที่โรงเรียนต้นสังกัดของตนเองและทาง อบต.ก็จะจัดรถรับส่งไปยังศูนย์การเรียนยังโรงเรียนต่างๆ ทั้งไปและกลับ ที่สำคัญในไชยวัฒนาโมเดลนี้ยังทำให้ในแต่ละชั้นมีครูผู้สอนเพิ่มขึ้นถึง 2 คนต่อชั้นเรียน ทำให้สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง จึงมั่นใจได้ว่าคุณภาพและผลการเรียนของเด็กๆ จะดีขึ้นอย่างแน่นอน และนอกเหนือไปกว่านั้นเด็กยังได้รับความสุขและสนุกจากการเรียน ได้พบเพื่อนใหม่ๆ มีความรักสามัคคี และยังทำให้ในตำบลของเรามีความรู้สึกว่าเป็น 1 โรงเรียนเดียวกัน นอกจากนี้ในแต่ละโรงเรียนยังมีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ตามความถนัดและศักยภาพ เช่นด้านวิชาการ วัฒนธรรม ด้านการกีฬาฯลฯ ซึ่งจะทำให้เด็กๆ ในตำบลไชยวัฒนาที่จะหมุนเวียนไปเรียนยังโรงเรียนต่างๆ ตามช่วงชั้น ได้รับการพัฒนาศักยภาพในทุกๆ ด้าน” ผอ.ลำใยระบุ
นายนรินทร์ เหล่าอารยะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน เผยถึงแนวทางการดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่นว่า เป็นโครงการนำร่องที่ส่วนกลางเป็นผู้จุดประกายให้ท้องถิ่นลุกขึ้นมาทำงานด้านการศึกษา ทำให้ท้องถิ่นเกิดความมั่นใจว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นมาถูกทางแล้ว เพราะในอดีตหลายท้องถิ่นอาจจะเข้าใจว่าตัวเองมีความชำนาญด้านงานก่อสร้างมากกว่างานสร้างคน เรื่องคนเป็นเรื่องของส่วนกลาง แต่ตอนนี้ท้องถิ่นได้หันมาทำงานเรื่องคนกันมากขึ้น
“สิ่งที่ทำให้โครงการต่างๆ ประสบผลสำเร็จก้คือเราให้ชาวบ้านเป็นคนตัดสินใจ เพราะคนในพื้นที่เป็นคนที่รู้ปัญหาดีที่สุด และความยั่งยืนเกิดจากคนที่ทำงานร่วมกัน แม้ในช่วงแรกคิดเอาไว้เหมือนกันว่าเราไม่มีอำนาจตามกฎหมาย แต่ที่จริงแล้วอำนาจเกิดขึ้นจากการยอมรับในการทำงานร่วมกันและถือเป็นหุ้นส่วนร่วมกัน” นายก อบจ.กล่าว
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาวิชาการ สสค. ระบุว่า ตอนนี้ทิศทางของประเทศเรื่องการปฏิรูปการศึกษาคงต้องเป็นแนวคิดในการจัดการศึกษาในเชิงพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น เป็นการรวมพลังทุกภาคส่วนในพื้นที่เข้ามาช่วยกันจัดการศึกษาเพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษา เข้ามาร่วมพูดคุยกันถึงเรื่องโจทย์ต่างๆ ที่จะต้องแก้ไขในจังหวัดของตนเอง ตั้งแต่เรื่องปัญหาการดูแลเด็กตั้งแต่ปฐมวัย ปัญหาการดูแลเด็กยากจนและด้อยโอกาส ไปจนถึงเรื่องของการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ การสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในจังหวัดเพื่อทำให้เด็กได้มีอาชีพที่มั่นคง เป็นต้น
“ตอนนี้เราจะเริ่มได้ยินคำว่าจังหวัดจัดการตนเองด้านการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ตรงนี้เป็นการเริ่มต้นที่ดี และเป็นกระบวนการที่อาศัยการจัดการภายในจังหวัดเองทั้งหมด ตรงนี้คิดว่าเป็นความท้าทายและก็เป็นโอกาสที่ว่า ในช่วงเวลา1-2 ปีข้างหน้า เราน่าจะได้เห็นกระแสของจังหวัดจัดการตัวเองด้านการศึกษาเพิ่มมากขึ้น และแน่นอนว่าพลังของครูสอนดีของเราที่มีอยู่ถือเป็นคานงัดใหญ่ที่จะทำให้เกิดกำลังของครูที่เก่งๆ เกิดขึ้นมาในพื้นที่เหล่านั้น แล้วก็จะเป็นปัจจัยที่เราจะทำให้ไม่ว่าโจทย์ของการศึกษาในจังหวัดนั้นจะเป็นเรื่องอะไร ตั้งแต่เรื่องเด็กเล็กไปจนถึงการศึกษาเพื่อการมีงานทำ เครือข่ายครูเหล่านี้ก็จะเป็นพลังในการช่วยตอบโจทย์เหล่านั้นได้” อ.อมรวิชช์ กล่าวสรุป
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน สสค.