ร่วมตีแผ่ “ภาวะผู้หญิง” ในสังคม ซึ่งพบว่าวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่

ส่งผลให้ผู้หญิงเอเชียกว่า 41%  ยอมรับการถูกทำร้ายจากสามี

 

               สสส.ร่วมแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สคส. ภาคีองค์กรผู้หญิงจัดประชุมนานาชาติ ชูประเด็น สุขภาวะหญิงเอเชีย ถูก วัฒนธรรม-กฎหมายริดรอดให้ ปกปิดความรุนแรงในบ้าน ผลวิจัยมหิดลชี้ร้อยละ 44 ของหญิงไทย เคยถูกกระทำรุนแรงโดยคู่ของตน และ 1 ใน 5 ของหญิงไทยทุกกลุ่มอายุมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สมัครใจ ด้านยูนิเซฟชี้ค่าเฉลี่ยร่วมทศวรรษ ผู้หญิงเอเชียร่วม 41% เชื่อว่า การถูกสามีทุบตีเป็นเรื่องรับได้

 

ร่วมตีแผ่ “ภาวะผู้หญิง” ในสังคม ซึ่งพบว่าวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่

               โรงแรมอิมพีเรียล ธารา สุขุมวิท 26 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.)องค์กรผู้หญิง และสมาคมสตรีศึกษาแห่งอาเซียน  ประเทศเกาหลี จัดประชุมนานาชาติหัวข้อ “Women’s Health, Well-being between Culture and the Law” หรือ สุขภาวะผู้หญิงภายใต้เงื้อมมือกฎหมายและวัฒนธรรมเพื่อเปิดเวทีให้นักวิชาการ นักกฎหมาย สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน คนทำงานด้านสุขภาพ/ผู้หญิงจากประเทศต่างๆในเอเชียจำนวน 8 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย เกาหลี ไต้หวัน เวียดนาม อินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาชนลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์  ร่วมแบ่งปันประสบการณ์จากการทำวิจัยและการทำงาน เพื่อชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาทางเพศวิถี เพศภาวะ และสุขภาวะของผู้หญิงในมิติทางวัฒนธรรมและกฎหมายในภูมิภาคเอเชีย                                                                                                                                        

 

               รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เผยรายงานการสำรวจระดับชาติเรื่องพฤติกรรมทางเพศ เมื่อปี 2549 ว่า หนึ่งในห้าของหญิงไทยรวมทุกกลุ่มอาชีพ มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกที่ตนเองไม่สมัครใจ ที่น่าตกใจคือ สัดส่วนนี้สูงมากในกลุ่มเด็กอายุ 10-14 ปี พบร้อยละ 46 ส่วนการสำรวจเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงในชีวิตคู่พบว่า ร้อยละ 44 ของหญิงไทยที่มีคู่ หรือเคยมีคู่ เคยถูกกระทำรุนแรงทางกายหรือทางเพศโดยคู่ของตน โดยกลุ่มผู้ที่ประสบความรุนแรงทางเพศจากคู่ (29%) นั้น ร้อยละ 20 รายงานว่า ยอมมีเพศสัมพันธ์ทั้งที่ไม่ต้องการเพราะกลัว ร้อยละ 6 ถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ และร้อยละ 3 ถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ในท่าที่ผู้หญิงรู้สึกรังเกียจ

 

                ที่น่าสนใจคือ การรายงานข่าวและบทความเรื่องเพศในประเทศไทยช่วง 10 ปี (พ.ศ.2541-2550) จาก 17,529 ข่าว พบว่าสัดส่วนข่าวข่มขืนสูงสุดถึงร้อยละ 38% รองลงมาคือ ความรุนแรง 26% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นอีกปั้ญหาหลักของสังคม แต่ด้วยวัฒนธรรม และกฎหมาย ทำให้ผู้หญิงต้องคอยปิดบังซ่อนเร้น และอดทนรับสภาพกับภัยใกล้ตัว การจัดประชุมนานาชาติครั้งนี้นอกจากจะเปิดมิติใหม่ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริงในสังคมผู้หญิงเอเซียแล้ว ยังเป็นเวทีแห่งการเรียนรู้วิธีตั้งรับ และต่อสู้จากกรณีศึกษาของประเทศเพื่อนบ้านด้วย

 

               รศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย หนึ่งในคณะกรรมการจัดประชุมกล่าวว่า สุขภาวะของผู้หญิง โดยเฉพาะเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเป็นปรากฎการณ์ทางสังคมที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันทำความเข้าใจในบริบททางวัฒนธรรม และทางกฎหมาย ซึ่งในประเทศไทยพบว่า นอกจากจะไม่เคยมีการจดสถิติความรุนแรงในครอบครัวอย่างเป็นระบบตามกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถสืบค้นข้อมูล กระทั่งลงลึกไปถึงต้นตอของปัญหาเพื่อหาคำอธิบายในการแก้ไขได้แล้ว สังคมและวัฒนธรรมยังเป็นกรอบรัดรึงให้ปกปิดความรุนแรงภายในบ้าน เพราะมองว่าเป็นเพียงเรื่องกระทบกระทั่งในครอบครัว

 

                เมื่อผู้หญิงถูกสามีทำร้ายร่างกาย เมื่อไปโรงพยาบาล แพทย์จะบันทึกว่า แผลถูกของมีคมเมื่อผู้หญิงไปสถานีตำรวจ ตำรวจแนะนำว่า อย่าแจ้งความเลย ลิ้นกับฟันย่อมกระทบกันแต่สังคมลืมไปว่า ฟันกระทบ ลิ้นเลือดไหลและลืมคิดไปว่าใครเป็นลิ้นใครเป็นฟัน เพราะฉะนั้นสังคมจำเป็นต้องก้าวข้ามความเข้าใจที่ว่า การสนับสนุนด้านสุขภาพของผู้หญิงหมายถึงเพียงกระบวนการทางการแพทย์ โดยต้องหันมาสนใจ วัฒนธรรมและ กฎหมายในฐานะที่เป็นแนวปฏิบัติและกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่มีผลต่อปัญหาเรื่องเพศวิถี เพศภาวะ และสุขภาพของผู้หญิงอย่างมีนัยยะสำคัญ

 

               ณัฐยา บุญภักดี ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) ภายใต้การสนับสนุนของสสส.เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการแยกส่วนการเรียนรู้ การนำผลวิจัย และการทำงานในประเทศผู้ร่วมประชุมมาเปรียบเทียบถึงประเด็นปัญหา และความรุนแรงที่เหมือนและแตกต่าง โดยเฉพาะแนวทางในการศึกษามาออกแบบจัดเป็นข้อเสนอในเชิงนโยบายและการแก้ปัญหาต่อไป

 

                ต้องยอมรับว่า ในสังคมเอเซีย วัฒนธรรมและกฎหมายยังเอื้อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว เพราะในเอเชียหลายประเทศยังมีกรอบความเชื่อทางสังคมว่า ผู้หญิงเมื่อแต่งงานไปแล้วก็เป็นสมบัติของผู้ชาย เมื่อวัฒนธรรมทำให้เกิดปัญหา และกฎหมายยังไม่เห็นว่าเป็นปัญหาเพราะมองด้วยแว่นทางวัฒนธรรม ซึ่งหากมองแค่เรื่องทำร้ายร่างกาย แล้วถูกลงโทษจับเข้าคุก มันไม่ละเอียดละออพอ แต่อยากให้มองสะท้อนไปถึงวัฒนธรรมที่เอื้อให้เกิดบรรทัดฐานการยอมรับในแบบผิดๆด้วย เราต้องช่วยกันสร้างบริบทใหม่ๆทางวัฒนธรรม และบรรทัดฐานทางสังคมเพื่อที่จะสร้างให้เกิดกฎหมายที่ไม่ถูกครอบด้วยมิติทางวัฒนธรรม

 

               ด้านยูนิเซฟเผยสถิติผู้หญิงอายุระหว่าง 15-49 ปีจาก 69 ประเทศทั่วโลกตั้งแต่ปี 2544-2551 เชื่อว่าสามีที่ทุบตีหรือทำร้ายภรรยานั้นไม่ผิด โดยค่าเฉลี่ยของผู้หญิงเอเซียใน 7 ประเทศ พบว่า ผู้หญิงเอเชียร่วม 41% เชื่อว่า การถูกสามีทุบตีเป็นเรื่องรับได้โดยสาธารณรัฐประชาชนลาวมีสถิติสูงสุดอยู่ที่ 81.2% เวียดนาม 63.8% อินเดีย 54.4% กัมพูชา 55.2% อินโดนีเซีย 24.8% ฟิลิปปินส์ 24.1% เนปาล 23.2% ขณะที่ประเทศไทยยังไร้ระบบจัดเก็บข้อมูลทั้งในเชิงของกฎหมายจากตำรวจ และเชิงสุขภาวะจากแพทย์ผู้รักษา ทำให้สังคมไทยไม่ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ส่งผลให้แนวทางการแก้ไขปัญหาทำได้ไม่ครบทุกมิติทางสังคม

 

               สำหรับการประชุมนานาชาติที่จัดต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 28-29 มกราคมนี้ มีบทความที่น่าสนใจ อาทิ ฉันซื้อเธอ”: การควบคุมผู้หญิงอพยพในการแต่งงานนานาชาติของเกาหลีจากเกาหลี, “งานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนจากเวียดนาม, “นู้ด ภาพสะท้อนแห่งอำนาจและความรุนแรงบนเรือนร่างผู้หญิงและ โรงซ่อมสามี: ให้อภัยหรือให้ยอมรับความรุนแรงในครอบครัวในสังคมไทย?” จากไทย, “คู่ที่ไร้เซ็กส์ในญี่ปุ่น: การต่อรองเพศวิถีและการเจริญพันธุ์จากญี่ปุ่น พร้อมการปาฐกถาเปิดงานในหัวข้อ กฎหมายและวิถีปฏิบัติแนวเฟมินิสต์ : การเป็นปฏิปักษ์กับวัฒนธรรมโดยวิระดา สมสวัสดิ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การอภิปรายสุขภาพผู้หญิง: เมื่อผู้หญิงต่อรองกับกฎหมายในบริบทวัฒนธรรม และสุขภาวะผู้หญิง: การเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานและแนวปฏิบัติทางวัฒนธรรมและกฎหมายในเอเชีย

 

 

 

 

 

 

ที่มา: สำนักข่าว สสส.

 

 

 

Update: 28-01-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ