ร่วมตั้งศูนย์ฟื้นฟูประเทศไทย ป้องกันและแก้ปัญหาที่จะเกิดในอนาคต
เป็นเวลากว่า 2 เดือนเศษ ที่คนไทยจำนวนมากต้องเผชิญกับเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่อันนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งทรัพย์สินสุขภาพ จิตใจ ตลอดจนชีวิตที่ไม่อาจหวนคืนกลับมาได้ เมื่อสถานการณ์น้ำเริ่มคลี่คลายลง ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือเอกชน จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันดำเนินการอย่างจริงจัง ในการเร่งฟื้นฟูสิ่งที่เสียหายให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด เพราะสิ่งเหล่านี้ถือเป็นชีวิตจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกคน
หนึ่งในหน่วยงานที่มีจิตสำนึกในการเร่งฟื้นฟูจิตใจ และสภาพแวดล้อมให้กลับคืนสู่ปกติ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจของคนไทยที่ขาดหายไปให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สมาคมจดทะเบียนไทย (CSR CLUB) และสถาบันเชนจ์ ฟิวชั่น เปิดตัว “ศูนย์ความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูประเทศไทย” เพื่อให้เป็นศูนย์ข้อมูล และปฏิบัติการฟื้นฟูประเทศไทยหลังน้ำลด โดยให้ทุกภาคส่วนมีบทบาทสนับสนุนการฟื้นฟูชุมชนอย่างยั่งยืน
นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานมูลนิธิหัวใจอาสาและที่ปรึกษา สสส. กล่าวว่า ศูนย์ความร่วมมือฯแห่งนี้จะเป็นส่วนเสริมในการทำงานของภาครัฐ โดยจะเอื้ออำนวยให้การทำงานในด้านต่างๆมีความสะดวกมากขึ้นเนื่องจากจะทำหน้าที่ในการจัดเก็บข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม และข้อมูลของผู้ที่ต้องการสนับสนุน ซึ่งจะทำให้เกิดการจับคู่ที่เหมาะสม และตรงกับความต้องการของผู้ที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้งยังเป็นการสร้างการพัฒนาความร่วมมือของเครือข่ายต่างๆ ให้มีการต่อยอดและขยายผลต่อไปได้ เพื่อรองรับกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกได้
ท่านประธานมูลนิธิหัวใจอาสา ย้ำอย่างหนักแน่นว่า”ศูนย์ความร่วมมือฯดังกล่าวนี้ จะเก็บฐานข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการทั้งระยะเร่งด่วน กลาง และยาว ซึ่งจะทำให้ผู้ที่จะเข้าไปช่วยเหลือมีข้อมูลในการบริหารจัดการ เพื่อจะได้ทราบว่าที่ไหนมีความต้องการอย่างไร และมีการบริหารจัดการตามความต้องการแล้วหรือไม่ อย่างไรก็ตามศูนย์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นเพียงแค่ระยะสั้น หรือปีเดียว แต่จะดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพราะการฟื้นฟูไม่ได้มีเพียงแค่โครงสร้างพื้นฐาน ชีวิตความเป็นอยู่ หรือสภาพจิตใจเท่านั้น ยังรวมถึงการฟื้นฟูในแง่ของการพัฒนา และสร้างนวัตกรรม เพื่อป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย”
นอกจากนี้ นายไพบูลย์ ยังกล่าวด้วยว่า ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปเยี่ยมชมโครงการได้ที่เว็บไซต์ Thairecovery.org ซึ่งเว็บไซต์นี้จะรวบรวมที่มาของโครงการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือฯ และเว็บไซต์ Infoaid.org จะเป็นฐานข้อมูลที่ทุกคนสามารถเข้ามาดูความเสียหายของแต่ละพื้นที่ในระดับตำบลได้ และข้อมูลของหน่วยงานที่เข้าไปทำการฟื้นฟูว่ามีหน่วยงานใดเข้ามาดำเนินการแล้วบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ถูกบรรจุอยู่ในเว็บไซต์นั้น จะได้จากการกรอกข้อมูลของเจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเจ้าหน้าที่ของโครงการที่ลงไปสำรวจ
รศ.ดร.ธนิต ธงทอง รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ เป็นอีกหนึ่งเสาหลักของสังคมซึ่งเมื่อสังคมเกิดปัญหาในฐานะที่เป็นสถาบันอุดมศึกษา จึงมีบทบาทที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือ โดยที่ผ่านมาจุฬาฯ ได้จัดกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ ศูนย์พักพิง การจัดทำอาหารปรุงสุก และการนำนวัตกรรมต่างๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งยังได้มีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการบริหารจัดการภัยพิบัติขึ้นด้วยเพื่อศึกษาปัญหา และการป้องกันภัยในอนาคต ซึ่งไม่ได้เพียงแต่เหตุการณ์น้ำท่วมเท่านั้น แต่อาจรวมถึงปัญหาในปีต่อไปที่อาจจะเป็นปัญหาภัยแล้ง หรือปัญหาอื่นๆ ก็ได้
“การเปิดศูนย์ความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ จุฬาฯ มีส่วนร่วม 3 ส่วนคือ
1.เป็นสถานที่จัดตั้งศูนย์ฯ
2.นำองค์ความรู้และนวัตกรรมของนิสิตและคณาจารย์ มาใช้ และพัฒนาให้เกิดประโยชน์ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว และ
3.นำโครงการจิตอาสารูปแบบต่างๆ ของนิสิต มาใช้เป็นโมเดลต้นแบบการทำกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเหล่านี้จุฬาฯ หวังว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติในอนาคตอย่างแน่นอน” รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวด้วยความมั่นใจ
เหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ยังไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าในอนาคตจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ แต่จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทั่วโลกในขณะนี้ พบว่ามีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น การศึกษาปัญหา และวิธีการป้องกัน รวมถึงการแก้ไขปัญหาจะเป็นการเตรียมพร้อมที่ดีที่สุด เพื่อรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิด หรือไม่เกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า