ร็อกวัยรุ่น..ปลุกไฟดนตรีฟื้นความเฟี้ยว

ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึก 


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ร็อกวัยรุ่น..ปลุกไฟดนตรีฟื้นความเฟี้ยว thaihealth


แม้สูงวัยแต่ไฟยังเต็มเปี่ยม และเพราะสังคมไทยมีลักษณะการ “เหยียดวัย” ทำให้ “เบเน็ตตี้" (Benetty) วงดนตรีที่มีสมาชิกอายุมากสุด 87 ปี น้อยสุด 65 ปี จึงต้องออกมาวาดลวดลายแสดงฝีมือทางดนตรี เพื่อบอกว่า “อะไรที่วัยรุ่นทำได้ สูงวัยก็ยังมีไฟทำได้” ผ่านเพลงแนวร็อก “จุดเดิม” ที่จะออนแอร์ให้ได้ฟังในคลื่นวิทยุวัยรุ่นเร็วๆ นี้


สมาชิกวง “เบเน็ตตี้” มีทั้งหมด 6 คน ประกอบด้วย ร.ต.บุญเสริม ชูช่วย อายุ 87 ปี เมาท์ออแกน, นายวิชาญ ณ ระนอง อายุ 80 ปี ร้องนำ, นายเทพ เก็งวินิจ อายุ 74ปี คีย์บอร์ด, นายศิริ ดีลัน อายุ 69 ปี เบส, นายธนกร เจียสิริ อายุ 66 ปี กลอง และนายฐิติชัย สวัสดิ์เวช อายุ 65 ปี กีตาร์ ส่วนชื่อวงมาจาก โทนี เบนเนต นักร้องชาวอเมริกัน โดยเติม ty เข้าไปหลังนามสกุลเบนเนต เป็นคำที่ไม่มีคำแปล แปลกๆ ดีสมาชิกวงจึงลงมติตั้งชื่อนี้


“จากที่มองเห็นศักยภาพของผู้สูงอายุในเชิงดนตรี จะเห็นว่าผู้สูงอายุมักจะชอบเรื่องดนตรีอยู่แล้ว แต่ถูกตั้งคำถามว่าทำไมจะต้องเป็นดนตรีสำหรับผู้สูงอายุอย่างเดียว ทำไมต้องเป็นดนตรีสมัยก่อน เป็นไปได้หรือไม่ที่จะลดช่องว่างระหว่างวัย ผู้สูงอายุเล่นดนตรีร่วมสมัย สนุกไปพร้อมกับคนรุ่นใหม่ได้หรือไม่ เกิดจากคำถามนี้ และข้อค้นพบว่าพลังศักยภาพของผู้สูงอายุมีอยู่จริงและสามารถสนุกไปพร้อมกับคนรุ่นใหม่ได้ มองดนตรีเป็นเครื่องมือในการสร้างเสริมสุขภาวะทางใจ ทำให้ผู้สูงอายุมีชีวิตชีวา มีความสุขและนำไปสู่สิ่งต่างๆ สุขภาพดี สามารถมีเพื่อน เครือข่ายและดูแลตัวเองได้ เพราะดนตรีเป็นเครื่องมือสำคัญในการหล่อเลี้ยงหัวใจของคน รวมถึงผู้สูงอายุและเป็นการลดช่องว่างระหว่างวัย จะได้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุขภาพ” นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าถึงแนวคิดการสร้างวง “เบเน็ตตี้” 


ด้วยเหตุนี้ สสส.จึงเชิญ บริษัท ชูใจกะกัลยาณมิตร จำกัด ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยสานฝันให้เป็นจริง ด้วยการสร้างวงดนตรีผู้สูงอายุสมัยใหม่ โดยเริ่มดำเนินการเมื่อมาราว 4-5 เดือนก่อน ซึ่งต้องมีกระบวนการที่ละเอียดอ่อนทั้งในเรื่องความเข้าใจผู้สูงอายุ การรับสมัคร การคัดเลือก การให้เกียรติ และการหาจุดแข็งของผู้สูงอายุแต่ละคน


ร็อกวัยรุ่น..ปลุกไฟดนตรีฟื้นความเฟี้ยว thaihealth


นายคงเดช จาตุรันต์รัศมี ผู้กำกับสารคดี ซึ่งรับผิดชอบงานโปรดักชั่นของวง เล่าว่า บริษัท ชูใจกะกัลยาณมิตร จำกัด ได้รับแนวคิดจาก สสส. จึงมีการหารือร่วมกันเกี่ยวกับแนวเพลงที่จะทำ ซึ่งสรุปร่วมกันที่จะทำแนวเพลงร่วมสมัย เพราะปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่ร้องเพลงมากอยู่แล้ว แต่มีผู้สูงอายุอีกจำนวนมากที่มีความสามารถทางดนตรี และทุกคนเคยวัยรุ่นมาก่อน ดังนั้น ปักธงเลยว่าเมื่อทุกคนเคยเฟี้ยวมา เพราะฉะนั้น จะทำเพลงร่วมสมัย ที่เป็นเพลงยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะแนวร็อก ทว่า ก่อนที่ทีมงานจะเริ่มต้น จะต้องมีการอบรมเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้สูงอายุก่อนที่คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้มีความเข้าใจผู้สูงอายุมากขึ้นทั้งในเรื่องอารมณ์และสุขภาพ การเตรียมวงจึงเริ่มตั้งแต่การหาโปรดิวเซอร์ที่ทำเพลงร่วมสมัย จนได้ เจ เจตมนต์ มละโยธา แห่งค่ายสมอลล์รูมมาร่วมงาน การคัดเลือกสมาชิกวงด้วยการออดิชั่น


หลังจากมีการประกาศรับสมัครในสื่อออนไลน์ต่างๆ และผ่านสมาคมผู้สูงอายุ โดยคุณสมบัติสำคัญคือ ต้องอายุ 65 ปีขึ้นไป มีความรักในเสียงเพลง และมีทักษะด้านดนตรีชนิดใดก็ได้ ซึ่งมีผู้สูงอายุสนใจจำนวนไม่น้อย ต้องใช้เวลาในการคัดเลือกหลายสัปดาห์ ในการคัดเลือกนอกจากดูความสามารถเหมือนการคัดเลือกวงวัยรุ่นทั่วไปแล้ว ยังต้องมีความละเอียดเพิ่มขึ้นในเรื่องสุขภาพและทัศนคติที่จะต้องยังมีไฟอยู่เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้สูงอายุอื่นๆ ว่าสามารถออกมาแสดงศักยภาพต่างๆ ตามความถนัดของตัวเองได้


ที่สุดแล้วได้สมาชิกวงทั้ง 6 คน ทุกคนล้วนแต่มีดนตรีอยู่ในชีวิตตัวเอง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุกท่านยังมีความกระชุ่มกระชวยอยู่ตลอด ในแง่ของชิ้นงาน วงเบเน็ตตี้ จะมีการผลิต 3 ส่วนสำคัญ คือ เพลง มิวสิกวิดีโอ และสารคดีการทำวงและชีวิตของสมาชิกวงแต่ละคน เพื่อให้เห็นภาพว่าการที่คนเรามีเป้าหมายอะไรสักอย่าง จะทำให้ชีวิตเรามีควาหมาย ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องดีสำหรับคนสูงวัยในการหาเป้าหมายให้แก่ตัวเอง


ณ ตอนนี้เพลงแรกของวงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชื่อเพลง “จุดเดิม” เป็นแนวร็อกแบบร็อกวัยรุ่นทั่วไป เนื้อหาจะมองว่าเป็นเพลงรักหรือเพลงเกี่ยวกับวิธีมองชีวิตก็ได้ เพราะตอนแต่งได้แจ้งกับนักแต่งเพลงว่า ไม่ต้องการเพลงรักที่เป็นเพลงรักเลย เพราะสมาชิกวงเป็นรุ่นใหญ่ที่มาร้องและเล่น ควรจะมีความลึกมากขึ้นด้วย ส่วนทำมิวสิกวิดีโอมีการถ่ายทำเสร็จแล้วเช่นกัน คาดว่าจะปล่อยเพลงให้ได้ฟังกันในเร็วๆ นี้ โดยจะออนแอร์ผ่านคลื่นวิทยุวัยรุ่นต่างๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนเปิดตัวเพลง


“โครงการนี้ไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อให้ผู้สูงอายุตื่นตัวเท่านั้น แต่ต้องการให้วัยอื่นๆ มองเห็นศักยภาพผู้สูงอายุว่ามีมากกว่าที่เขาเข้าใจ และผู้สูงอายุจะมองเห็นศักยภาพของตัวเองด้วยว่า จริงๆ ไม่จำเป็นจะต้องอยู่แต่รูปแบบเดิมๆ ซึ่งเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจของคนทุกวัย เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะอยู่ร่วมกับลูกหลาน จะทำให้ช่องว่างระหว่างวัยหรืออะไรต่างๆ นานา มีความเข้าใจกันมากขึ้น” นายคงเดช ผู้รับผิดชอบงานโปรดักชั่นกล่าวด้วยความเชื่อมั่น


ขณะที่ ร.ต.บุญเสริม ตัวแทนสมาชิกวง บอกว่า ทราบเรื่องการเปิดรับสมัครสมาชิกวงจากการที่หลานมาบอกให้ลองไปสมัคร เพราะเป็นคนชอบสนุกสนาน จึงสนใจสมัครเข้าร่วม ปกติก็เล่นดนตรีอยู่แล้ว โดยเฉพาะเมาท์ออแกน เป่ามา 50-60 ปี ช่วงไปอยู่ดอยตุง จ.เชียงราย ก็เป็นจิตอาสาเล่นดนตรีการกุศลตามสถานที่ต่างๆ เมื่อลองเป่าให้ทีมงานฟัง ก็ได้รับคัดเลือก ซึ่งการรวมวงของสมาชิกแม้จะไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ก็ไม่ได้มีปัญหา ทุกคนเป็นกันเองสนุกสนาน


“วันที่นัดซ้อมของวงหรือทีมงานนัดเจอ หลานก็ช่วยพาไป ผมไปเองไม่ได้ ถนนหนทางในกรุงเทพฯเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะไปอยู่ จ.เชียงรายมา 5 ปี เพลงแรกที่เตรียมจะออกมา ฟังแล้วดี ไม่ใช่เพลงที่เก่าเกินไป มีความร่วมสมัยฟังได้ทุกวัย แม้ผู้สูงอายุเล่นและร้อง ก็เป็นแนวเพลงที่วัยรุ่นก็ฟังได้ การที่ผมได้ร่วมในวงก็สนุกดี ส่วนตัวไม่ได้เป็นนักดนตรีมืออาชีพอะไร แต่ดนตรีช่วยทำให้ผู้สูงอายุมีความสุข ผมอายุ 87 ปีก็เป่าเมาท์ออแกนสบาย เป่า 20 เพลงต่อเนื่องก็ได้” ร.ต.บุญเสริมกล่าว


หลังจากปล่อยเพลงแรกแล้ว นางภรณี บอกว่า สิ่งที่คาดหวังคืออยากให้สังคมเห็นศักยภาพผู้สูงอายุ เห็นว่าท่านมีความสามารถและทำได้เหมือนที่วัยอื่นๆ ทำเช่นกัน เพียงแต่ปรับมุมมองของคนในสังคม เพราะปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในภาวะเหยียดวัย จะเห็นได้จากคำพูด “มนุษย์ลุง” “มนุษย์ป้า” ต่างๆ ซึ่งในแผนผู้สูงอายุชาติ จะเห็นว่าประเทศไทยสอบตกในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นมุมนี้จะเป็นการสร้างให้หลายคนฉุกคิดว่า “ปู่ย่าตายายเราที่อยู่ในบ้าน ความจริงท่านมีความสามารถหรือมีแง่มุมอื่นๆ ที่มีประสบการณ์ ชุดความรู้ต่างๆ ที่มีคุณค่ามาก ลืมมองไปหรือเปล่า อยากให้ทุกคนหันมาสนใจและให้ความสำคัญเรื่องผู้สูงอายุกับภูมิปัญญา กับความรู้ที่ท่านมี” นางภรณีกล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code