รู้-เข้าใจ-เท่าทัน วัยรุ่นยุคดิจิตอล

 

ปัจจุบันวิถีชีวิตของวัยรุ่นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ตำบลแก่งโสภาอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทั้งในค่านิยมและความเชื่อต่างๆ ของเยาวชน โดยเฉพาะปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

รู้-เข้าใจ-เท่าทัน วัยรุ่นยุคดิจิตอล

จากสภาพปัญหาดังกล่าว ทีมวิจัยสาธารณสุขวังทอง จึงได้จัดทำ “โครงการการพัฒนารูปแบบการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นายมนัส โตสมบัติ นักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขอำเภอวังทอง หัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า งานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นมาจากการพบตัวเลขทารกแรกเกิดในอำเภอวังทอง มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานเป็นจำนวนมาก และมีสุขภาพไม่แข็งแรงสมบูรณ์ โดยส่วนใหญ่เกิดจากมารดาเป็นวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีโดยมีอัตราเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 20

รู้-เข้าใจ-เท่าทัน วัยรุ่นยุคดิจิตอล

ตะลึงน.ร.ใช้ผ้ารัดท้อง-คลอดโดยไม่ฝากครรภ์

“การเป็นแม่วัยรุ่นจะมีปัญหาหลายด้าน เมื่อรู้ว่าตั้งท้องเด็กจะไม่กล้าบอกผู้ปกครอง บางคนจะใช้ผ้ารัดไว้และยังไปโรงเรียนอยู่ ใกล้คลอดแล้วก็มาคลอดโดยที่ไม่ได้ฝากครรภ์ เมื่อไม่ได้รับการฉีดวัคซีนและดูแลระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้ลูกที่ออกมามีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ปกติมาก ทั้งแม่และลูกจะไม่ได้รับภูมิคุ้มกันต่างๆ” คุณมนัส กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีปัญหากับครอบครัวเพราะรับไม่ได้ว่าลูกท้องจนอาจถูกทำร้าย ด้านสุขภาพจิตของแม่เองก็มีปัญหาหากไม่มีพ่อเด็กมารับผิดชอบ เมื่อท้องก็ต้องออกจากโรงเรียน อนาคตก็หมดไป เด็กทารกที่คลอดออกมาอาจพิการ ไม่สมบูรณ์เพราะไม่ได้รับการดูแลตั้งแต่ต้น

แต่ปัญหาใหญ่คือเมื่อคลอดลูกออกมาแล้วเลี้ยงลูกไม่เป็น ทิ้งให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง ส่วนตัวเองก็ต้องออกไปหางานทำ ซึ่งก็มีรายได้น้อยเพราะไม่มีวุฒิการศึกษา ต้องทำงานรับจ้าง เด็กที่เกิดมาจะเป็นปัญหาที่สังคมต้องมาแบกรับต่อ” นายมนัสระบุ

รู้-เข้าใจ-เท่าทัน วัยรุ่นยุคดิจิตอล

วัยรุ่นชูศักดิ์ศรีเป็นชาย-เรียนรู้เรื่องเพศผ่านสื่อ

จากการทำงานในพื้นที่พบว่ากลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนมีมุมมองทางเพศและค่านิยมที่เปลี่ยนไป ฝ่ายชายมีความเชื่อในเรื่องการสะสมประสบการณ์ทางเพศว่าเป็นศักดิ์ศรีของผู้ชาย ประกอบกับผู้ปกครองและครูผู้สอนขาดความเข้าใจ และมีทัศนคติในเรื่องเพศที่แตกต่างกันกับเด็ก ทำให้เด็กเรียนรู้เรื่องเพศที่ไม่ถูกต้องผ่านสื่อสมัยใหม่มากกว่าความรู้ที่ได้จากในห้องเรียนหรือครอบครัว

จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ อาทิ “โครงการล้อมรั้วชุมชน” กำหนดมาตรการในดูแลเฝ้าระวังเด็กและเยาวชน “การอบรมเยาวชนรู้ทันสื่อยุคดิจิตอล เพื่อขจัดสื่อร้ายขยายสื่อดี” จัดทำ “เว็บไซต์” เพื่อเป็นสื่อกลางของเยาวชนในการเรียนรู้เรื่องเพศ “โครงการครอบครัวตัวอย่างเยาวชนต้นแบบ” และผลิตสื่อเพศศึกษา “หนังสั้น”เพื่อให้ความรู้และข้อคิดเตือนใจให้กับเด็กและเยาวชน

รู้-เข้าใจ-เท่าทัน วัยรุ่นยุคดิจิตอล

ผลิตสื่อเพศศึกษา-หนังสั้น สอนก้าวระเริง-ก้าวที่พลาด

นอกจากนี้ยังผลิตสื่อเพศศึกษา “หนังสั้น” มีเนื้อหาสอดคล้องกับชีวิตจริงและความต้องการที่จะเรียนรู้ตามวัย เพื่อให้ความรู้และข้อคิดเตือนใจให้กับเด็กและเยาวชน แบ่งออกเป็นช่วงอายุดังนี้คือ หนังสั้น “ก้าวแรก” สำหรับนักเรียนชั้น ป.6-ม.2, “ก้าวระเริง” สำหรับนักเรียนชั้น ม.3-ม.4, “ก้าวที่พลาด” สำหรับนักเรียนชั้น ม.5-ม.6 และหนังสั้นเรื่อง “ทางออก” สำหรับครอบครัวและผู้ปกครอง เพื่อนำไปใช้ในชั่วโมงเรียนวิชาสุขศึกษาและในการจัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับชุมชน

น.ส.วลัยพร พงษ์มณี พยาบาลประจำสถานีอนามัยตำบลแก่งโสภา หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า ในการดำเนินงานไม่ได้คาดหวังว่าตัวเลขของมารดาวัยรุ่นจะลดลง แต่อยากเห็นความรุนแรงของปัญหาการมีเพศสัมพันธ์อย่างขาดความรับผิดชอบลดลง เพื่อลดผลเสียจากปัญหาโรคติดต่อที่จะเกิดขึ้น การตั้งครรภ์ก่อนวัย ที่จะส่งผลกระทบไปตลอดชีวิต

“อยากให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่มีความเข้าใจในเรื่องเพศอย่างถูกต้อง เขาอาจจะมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่ต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่นๆ แต่ถ้าเลือกได้ให้เรียนจบไปก่อนแล้วค่อยมีจะดีกว่า” น.ส.วลัยพร แนะนำ

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

Shares:
QR Code :
QR Code