รู้ได้อย่างไรว่า อ้วนลงพุง
โรคอ้วนลงพุง หรือทางการแพทย์เรียกว่า เมตะบอลิค ซินโดรม (Metabolic syndrome) เป็นโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม กินอาหารมากเกินไป โดยเฉพาะอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง ร่วมกับขาดการออกกำลังกาย จึงทำให้น้ำหนักมากเกินจนพุงยื่น
หลายคนอาจสงสัยว่า รู้ได้อย่างไรว่าเข้าข่ายอ้วนลงพุงแล้ว วันนี้เรามีความรู้และคำแนะนำดีๆ มาฝากค่ะ
สำหรับคนไทย โดยปกติ ผู้ชาย ไม่ควรมีรอบเอวเกิน 90 เซนติเมตร ส่วนผู้หญิง ไม่ควรเกิน 80 เซนติเมตร แต่ผู้ที่มีปัญหาอ้วนลงพุงมักจะมีความผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่
1.ความดันโลหิตสูง ตั้งแต่ 130/80 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป (ความดันโลหิตตัวใดตัวหนึ่งสูงก็ถือว่าผิดปกติ)
2.น้ำตาลในเลือดสูง ตั้งแต่ 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป
3.ไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์สูง ตั้งแต่ 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป
4.โคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL cholesterol) ต่ำกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร สำหรับผู้ชาย และผู้หญิง ต่ำกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
การมีความผิดปกติต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อัมพาตที่เกิดจากหลอดเลือดสมองอุดตันทำให้สมองขาดเลือด นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน และยังอาจก่อให้เกิดโรคตับเรื้อรังจากการที่มีไขมันสะสมอยู่ในเนื้อตับซึ่งนำไปสู่โรคตับแข็งได้
มีหลายคนมองจากภายนอกไม่พบความผิดปกติใดๆ ยกเว้น “อ้วนลงพุง” ถ้าไม่ได้รับการตรวจสุขภาพก็จะไม่รู้ว่ามีความดันโลหิตสูง น้ำตาลสูง หรือมีไขมันผิดปกติแฝงอยู่ บางรายที่ความดันโลหิตสูงอาจมีอาการปวดศีรษะ หรือเวียนศีรษะ ส่วนรายที่น้ำตาลในเลือดสูงเข้าขั้นเบาหวานอาจมีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย หรือมีอาการอื่นๆ ของโรคเบาหวานร่วมด้วย
สำหรับผู้ที่มีปัญหาต่างๆ เหล่านี้มานาน และไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพ อาจมีภาวะของโรคแทรกซ้อน เช่น เจ็บหน้าอก หัวใจวาย หรืออัมพาตในที่สุด
ที่มา : ผศ.ดร.พญ.มยุรี หอมสนิท ภ.เวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ผู้จัดการออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต