รู้และทำ ป้องกันภัยธรรมชาติที่บานปลาย

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ปัญหาของพายุที่เกิดขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียงบ้านเรา ที่มีความรุนแรงส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ไฟฟ้าดับ บ้านเรือนเสียหาย ภาพเหล่านั้นคือภัยธรรมชาติ ที่ไม่ได้เกิดจากการสรรค์สร้างให้เป็น แต่ภัยธรรมชาติเหล่านี้คือสิ่งที่มนุษย์หล่อหลอมให้เกิด


รู้และทำ ป้องกันภัยธรรมชาติที่บานปลาย


บางเรื่องที่เราอาจมองข้าม แม้เป็นสิ่งเล็กๆ น้อย แต่นั่นคือสิ่งที่ส่งผลต่อธรรมชาติที่จะย้อนกลับมาหามนุษย์บนโลก เรามักพูดถึงสภาวะโลกร้อนกันมานาน ทุกคนรู้และเคยได้ยินคำนี้ แต่ขาดความตระหนักอย่างจริงจังที่จะปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไปมากกว่านี้


ดร.จิรพล สินธุนาวา อุปนายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและอาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า ข่าวคราวของภัยธรรมชาติ พายุต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ถือเป็นสิ่งปกติที่มาตามฤดูกาล ซึ่งก็หวังว่าอย่าให้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทย สิ่งที่เป็นปัญหาขณะนี้คือปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่สิ่งที่หนึ่งที่ตนมีความห่วงใยคือเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะโรคที่มาจากสัตว์เป็นพาหะ ที่มีเชื้อของนิป้าไวรัส เป็นเชื้อที่มาจากค้างคาวแม่ไก่ ซึ่งมีการแพร่ระบาดในมาเลเซีย บังกลาเทศ ที่นำพาไวรัสเข้ามา ผ่านการกินผลไม้เปลือกบางและมีรสหวาน พวกมะม่วง ชมพู่ ละมุด เป็นต้น เพราะผลไม้เหล่านี้เป็นเป้าหมายของค้างคาวแม่ไก่ที่ชอบกินเป็นอาหาร ในเมืองไทยเริ่มพบข้อมูลจากการเก็บฉี่ค้างคาวมาตรวจพบใน 29 จังหวัด ซึ่งเมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มาก อาจส่งผลให้เกิดโรคสมองอักเสบได้ ขึ้นอยู่พัฒนาการของโรคและภูมิคุ้มกันของแต่ละคน


“ขอเตือนผู้บริโภคโดยเฉพาะแม่บ้านที่ซื้อของเข้าบ้าน อย่าเน้นว่าราคาถูก พวกผลไม้ที่เปลือกบางและมีตำหนิ อาจนำพาเชื้อโรคมาโดยไม่รู้ตัว  โดยเลือกซื้อของถูกไม่ได้คิดว่าทำไมผลไม้เหล่านี้ถึงเหลือเลือก และนำมาเลขาย น่าเป็นห่วงมากเพราะแม่บ้านไทยขาดความระมัดระวัง ผมหนักใจมาก หลายเรื่องที่เป็นเรื่องที่เรารู้ แต่ไม่ทำ อย่างผลกระทบของโลกร้อน เรารู้ว่าควรใช้ถุงผ้า ช่วยลดโลกร้อน รู้แต่ซื้อมาเก็บไว้ ไม่ใช้ หรือการเดินทางไปกินของใกล้บ้าน ไม่ต้องขับรถเดินทางไปไกลสิ้นเปลืองพลังงาน แต่ก็ไม่ทำ การล้างเศษอาหารลงท่ออาหารมากๆ ส่งผลให้เกิดการผลิตก๊าซมีเทน และส่งผลต่อภาวะโลกร้อน ทุกคนรู้ แต่ไม่ทำ ทั้งหมดนี้มันโยงเข้าหากันหมด ซึ่งเราจะแก้ปัญหาภาพใหญ่ได้อย่างไร  หากปัญหาใกล้ตัวเหล่านี้ยังถูกมองข้าม”


ดร.จิรพล ยังบอกด้วยว่าปัญหาโลกร้อนก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่ยังเดินหน้าต่อ โดยปริมาณความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศก็ยังไม่ได้ลดลง


“ปริมาณความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ได้ลดลง ปีที่แล้วมี 194 ส่วนในอากาศ แต่ปีนี้คาดว่าน่าจะถึง 196-197 ส่วนในอากาศแล้ว เพราะตราบใดที่เราไม่ยอมลดการเดินทาง การปล่อยก๊าซเพิ่มขึ้น สภาวะเรือนกระจกก็คงจะลดลงยาก ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมสมัยอยู่ที่ไหน ผมก็ตอบได้คำเดียวคือคนรู้แต่ไม่ปฏิบัติ มีความรู้แต่ไม่ทำ อย่างไรก็ตามต้องฝากความหวังไปที่เงื่อนไขทางสังคมต้องสร้างแรงจูงใจให้คนทำ อย่างในยุโรปคนกินมังสวิรัติน้อย ประมาณ 8 ใน 100 คน ขณะนี้ในบางประเทศเพิ่มเป็น 26 ใน 100 คน เพราะเขาเริ่มรู้แล้วว่าการกินเนื้อสัตว์ของเขาจะทำให้มีการทำฟาร์มสัตว์เพิ่มมากขึ้น และมีมูลสัตว์และปล่อยแก๊สมีเทนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน และกระทบต่อไปยังคนรุ่นหลัง จึงทำให้เขาเริ่มคิดและตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อคนรุ่นต่อไปเป็นอย่างมาก ความตระหนักเขาสูงมาก ไม่ต้องรอการจัดรณรงค์อะไร แต่ของคนไทยรู้เข้าใจแต่ไม่ทำ อย่างไรก็ตามผมก็หวังว่าการสื่อสิ่งที่ถูกต้องเหล่านี้จะไปถึงผู้คนได้เข้าใจ และคิดจะทำ”ดร.จิรพล ฝากทิ้งท้าย


เรื่องของภัยธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การตระหนักถึงต้นเหตุของปัญหา และนำสิ่งที่รู้และควรปฏิบัติไปใช้จริง นั่นคือสิ่งที่มนุษย์ควรทำ จะใช่หรือไม่ ก็หวังเพียงว่าคงไม่ต้องรอให้เกิดกับตัวคุณเองแล้วเราถึงจะเริ่มทำ


 


 


เรื่องโดย : สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th


 

Shares:
QR Code :
QR Code