รู้เท่าทัน…โฆษณา อาหาร ยา ช่วงโควิด -19

เรื่องโดย เทียนทิพย์ เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลจากงานเวทีสาธารณะออนไลน์ รู้เท่าทัน..โฆษณาอาหารยารักษาโควิด-19 ได้หรือไม่?


 ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th และ สสส.


รู้เท่าทัน...โฆษณา อาหาร ยา ช่วงโควิด -19 thaihealth


ต้องยอมรับว่าปัจจุบันทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ได้ง่ายขึ้น นอกจากประโยชน์ในการสื่อสารแล้วนั้น สังคมออนไลน์ยังเป็นตลาดออนไลน์ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือ อาหาร และ ยา ที่มาพร้อมสรรพคุณที่ชวนเลือกซื้อ


ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เรามักได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นตัวเสริมให้ร่างกายเราแข็งแรงและมีภูมิคุ้มกันที่ดีเพิ่มมากขึ้น จนไม่รู้ว่าควรจะเลือกใช้ให้ถูกต้องได้อย่างไร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา จึงจัดเวทีเสวนาสาธารณะออนไลน์ รู้เท่าทัน..โฆษณาอาหารยารักษาโควิด-19 ได้หรือไม่? เพื่อให้ความรู้และช่วยเสริมการทำงานของครือข่ายให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น สร้างความรู้เท่าทันในการส่งเสริมให้สื่อโฆษณาของประเทศมีความถูกต้องและเที่ยงตรง สื่อสารในสิ่งที่มีประโยชน์


รู้เท่าทัน...โฆษณา อาหาร ยา ช่วงโควิด -19 thaihealth


นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ( สสส.)  กล่าวว่า สสส.ทำหน้าที่จุดประกาย สาน เสริม กระตุ้นพลัง เพราะฉะนั้นจะทำยังไงให้ประชาชนมีความรอบรู้ทางสุขภาพในการจัดการการบริโภค  การเลือกซื้อสินค้าและบริการอย่างเท่าทัน ผลสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในปี 2562 พบว่า การบริโภคสินค้าออนไลน์ ในส่วนของการซื้อเพิ่มขึ้น 40% จากปี 2561  ดังนั้น เราจะทำอย่างไรที่จะรู้เท่าทันข้อมูลที่หลากหลาย และมีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลต่างๆ


“ ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคและสุขภาพได้ทำการวิจัยในปี 2562 พบว่า 1 ใน 5 ของกลุ่มตัวอย่าง สั่งผลิตภัณฑ์สุขภาพออนไลน์ อาหารเสริม ยาผิดกฎหมาย ยาแผนปัจจุบัน ยาลดความอ้วน ยานอนหลับ ดังนั้น ตอนนี้งานดูแลผู้บริโภคจึงเป็นส่วนสำคัญ ที่จะทำให้ทุกคนมีสิทธิ มีความรอบรู้ และมีความสามารถในการจัดการ” นายชาติวุฒิ กล่าว


ภญ. อรัญญา เทพพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียน และปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ กล่าวว่า ปัจจุบันระบบ AI ตรวจจับคำพูดของผู้บริโภคที่มักเกิดในสื่อออนไลน์  จะมีผลิตภัณฑ์ขึ้นมาให้เห็น จำนวนหลายยี่ห้อ มีการโฆษณาซ้ำ ๆ จนให้เกิดความเชื่อว่าสามารถรักษาได้จริง และน่าเชื่อถือ การระมัดระวังจึงไม่เกิดขึ้น ดังนั้น การรู้เท่าทัน…โฆษณา อาหาร ยา ช่วงโควิด -19 สามารถทำได้โดย


1.ต้องดูว่าผลิตภัณฑ์ได้รับอนุญาตเป็นอะไร ถ้าได้รับอนุญาตเป็นอาหาร หรือเครื่องสำอาง จะไม่มีสรรพคุณในการรักษาโรค


2.ไม่กดไลก์ กดแชร์ ไม่กดติดตาม และช่วยกันกดรายงานปิด สุดท้ายแล้วระบบ Ai ของแพลตฟอร์มจะเรียนรู้ว่าโฆษณาเหล่านั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรไปปรากฏ และจะเกิดการบล็อกได้ ต้องใช้พลังของภาคประชาชน จึงจะสามารถช่วยกันได้


3.ช่วยกันเผยแพร่และส่งต่อชุดความรู้ การสื่อสารเตือนภัย ข่าวปลอม ผลิตภัณฑ์หลอกลวง ให้กระจายถึงประชาชนในวงกว้าง


4.หากพบการโฆษณาดังกล่าว สามารถแจ้งทางสายด่วนผู้บริโภค 1556  


รู้เท่าทัน...โฆษณา อาหาร ยา ช่วงโควิด -19 thaihealth


สิ่งที่น่ากลัวควบคู่ไปกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั่นคือ ข่าวปลอม ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการ เฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา กล่าวว่า ประเทศไทย  พบคนไทยแชร์ข่าวปลอม 20 ล้านคน (1 ต.ค. – 30 มิ.ย. 64) โดยกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมมากว่า 90% อยู่ในช่วงอายุ 18-34 ปี และพบว่า 70% ข้อมูลปลอมที่แชร์เป็นเรื่อง สุขภาพ การโฆษณาชวนเชื่อ  ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลข่าวลวงได้ที่ Cofact  https://blog.cofact.org/ 


ในช่วงสถานการณ์แบบนี้ ผู้บริโภคมักพบเจอกับการโฆษณาเกินจริง ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทัน ซึ่งบางส่วนทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อไป สสส. สนับสนุนเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ให้ต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมทั้งเสริมพลังและทักษะต่างๆ ให้กับผู้บริโภค รู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายและรวดเร็วในสังคมดิจิทัล เลือกรับและส่งต่อข้อมูลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อก้าวสู่สังคมแห่งสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน

Shares:
QR Code :
QR Code