รู้เท่าทัน สู้ 5 โรค ภัยเงียบช่วงหน้าฝน
ที่มา : มติชน
แฟ้มภาพ
ในช่วงสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง นำมาสู่การเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ง่าย ยิ่งในช่วงฤดูฝน ยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า โรคและภัยสุขภาพที่มาพร้อมกับหน้าฝน และ สธ.มีข้อกังวลอยากให้ประชาชนเฝ้าระวัง มีด้วยกัน 5 กลุ่มโรค ได้แก่ 1.กลุ่มโรคติดต่อทางระบบหายใจ โดยโรคที่พบบ่อยคือ โรคหวัดธรรมดา และโรคไข้หวัดใหญ่ที่มีเชื้อไวรัส ทำให้อาการป่วยของโรครุนแรงขึ้นกว่าไข้หวัดธรรมดา ไข้ที่เกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจ ซึ่งอาจมีอาการปอดบวมตามมาได้ โดยข้อมูลสำนักระบาดวิทยา ปี 2561 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 183,363 ราย เสียชีวิต 32 ราย ส่วนปี 2562 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมวันที่ 17 มิถุนายน พบผู้ป่วย 175,199 ราย เสียชีวิต 14 ราย
อีกโรคคือ โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ ปี 2561 พบผู้ป่วย 283,601 ราย เสียชีวิต 290 ราย ส่วนปี 2562 ตั้งแต่วันที่ 1-17 มิถุนายน มีผู้ป่วย 111,181 ราย เสียชีวิต 96 ราย เมื่อวิเคราะห์อุบัติการณ์การเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ พบกลุ่มที่น่ากังวัลคือ กลุ่มคนวัยทำงาน 25-34 ปี รองลงมาเป็น กลุ่มเด็กเล็ก 7-9 ปี และกลุ่มวัยรุ่น 10-14 ปี ตามลำดับ ส่วนโรคปอดบวม กลุ่มเสี่ยงเป็นผู้สูงอายุเกิน 65 ปีขึ้นไป รองลงมา 55-64 ปี และ 45-54 ปี
"จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ สธ.ต้องร่วมกับทุกภาคส่วนช่วยกันดูแล พร้อมสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันโรคมากขึ้น เช่น อากาศหน้าฝนมักมีความเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับร่างกาย โดยเฉพาะเมื่อร่างกายเปียกฝน ต้องทำตัวให้แห้ง ผมเปียกต้องสระผม ต้องเช็ดตัวและผมให้แห้ง เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลง รวมถึงพยายามทำร่างกายให้แข็งแรง เช่น การหลีกเลี่ยงอยู่ในพื้นที่ที่มีคนอยู่จำนวนมาก หรือชุมชนแออัด เพื่อป้องกันการติดโรค สวมหน้ากากอนามัย หากมีน้ำมูก ไอ เสมหะ หรือมีไข้ ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะคนวัยทำงาน หากร่างกายอ่อนเพลีย ขอให้ลาพักงานหรือหยุดพักผ่อน อย่าฝืนเพื่อให้ร่างกายกลับมาปกติโดยเร็วและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น" ปลัด สธ.กล่าว นพ.สุขุมกล่าวว่า อีกโรคที่พบบ่อยในช่วงหน้าฝน ได้แก่ 2.โรคไข้เลือดออก ปีนี้จากการคาดการณ์ค่าเฉลี่ยมัธยฐานมีแนวโน้มการระบาดของโรคไข้เลือดออกรุนแรงเป็น 2 เท่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-18 มิถุนายน พบผู้ป่วย 31,843 ราย เพิ่มจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 3,058 ราย เสียชีวิต 48 ราย ฉะนั้น จึงต้องร่วมมือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกที่มีพาหะมาจากยุงลาย ซึ่งปีที่แล้วที่มีผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวนมาก อาจทำให้ผู้ป่วยที่มีเชื้อมีโอกาสป่วยรุนแรง ช็อก และเสียชีวิตได้มากกว่า ทว่าประชาชนสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อได้เบื้องต้น ด้วยการดูแลบริเวณรอบบ้านไม่ให้เกิดน้ำท่วมขัง พยายามระมัดระวังไม่ให้ ถูกยุงกัด ใช้ยาทากันยุง หรือฉีดพ่นยากันยุงภายในบ้าน ส่วนพื้นที่แพร่ระบาด เจ้าหน้าที่ สธ.ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) จัดหน่วยเฝ้าระวังลงพื้นที่ฉีดพ่นยาในรัศมีที่มีการระบาด ดังนั้น หากพบว่าตนเองมีไข้สูงลอย 3 วัน ไข้ไม่ลด ไม่มีอาการไอ จาม และปวดเมื่อยตามตัว ต้องรีบพบแพทย์
3.โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ หน้าฝนเป็นฤดูที่มีการเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์และเชื้อโรค เช่นเดียวกับช่วงหน้าร้อน มักมีการปนเปื้อนของอาหาร ทำให้อาหารบูดเสียง่าย ทำให้เกิดโรคท้องร่วง โดยเฉพาะน้ำและน้ำแข็งต้องระวังเป็นพิเศษ อีกทั้งต้องระวังโรคอหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ ไวรัสตับอักเสบเอ จึงแนะนำให้กินอาหารปรุงสุกใหม่ เพราะอากาศชื้นจะทำให้เชื้อเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
"ส่วนโรคอื่นจะเป็น 4.โรคที่มากับน้ำท่วม เช่น โรคฉี่หนู หรือเลปโตสไปโรซิส สามารถติดเชื้อโดยการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากปัสสาวะหนู อาจทำให้คนไข้มีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน น้ำท่วมขัง โดยเฉพาะเมื่อมีแผล เพราะอาจทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ ปัจจุบันพบผู้ป่วยแล้ว 772 ราย เสียชีวิต 9 ราย และโรคมือ เท้า ปาก พบมากในเด็ก มักมีผื่นเป็นจุดแดงตามมือ เท้า ปาก โรคนี้เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งคล้ายไข้หวัด พบความชุกของโรคเกิดได้ทั้งปี แต่หน้าฝนมีการระบาดมากขึ้น ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-17 มิถุนายน พบผู้ป่วย 14,294 ราย ยังไม่พบผู้เสียชีวิต โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ เกินครึ่งเป็นกลุ่มเด็กเล็กอายุ 1-3 ปี โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดความชุกของโรคมากขึ้น เกิดจากอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ร้อนจัด หนาวจัด ฝนตก น้ำท่วม ฯลฯ"นพ.สุขุมกล่าว
นอกจากนี้ นพ.สุขุมกล่าวว่า 5.ภัยสุขภาพที่มากับฝนและต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ การกินเห็ดพิษ โดยหน้าฝนเป็นช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้ป่าชุ่มชื้น รวมทั้งทำให้เห็ดและพืชผลเจริญเติบโต ประชาชนจึงนิยมเก็บเห็ดป่ามาปรุงอาหาร ล่าสุด ได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดทำ "ธนาคาร เห็ดพิษ" เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์เห็ดต่อประชาชน เช่น เห็ดกินได้ เห็ดพิษ ส่วนภัยสุขภาพอื่น ได้แก่ อันตรายจากสัตว์มีพิษ พวกงู ตะขาบ แมงป่อง ซึ่งเป็น ช่วงที่สัตว์มักเคลื่อนย้ายและอพยพหนี น้ำท่วม รวมถึงภัยธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า น้ำท่วม ฯลฯ ที่ประชาชนต้องระมัดระวังในการอยู่ที่โล่ง
"เป้าหมายการดำเนินงานของ สธ. สำหรับปัญหาสุขภาพ ไม่ได้อยู่ที่การตั้งรับ หรืออยู่ที่โรงพยาบาลเท่านั้น แต่ สธ.จะต้องเผยแพร่ความรู้ให้เท่าทันโรค ออกสู่สาธารณชนให้ได้ ปัจจุบันกรมอนามัยเป็นหน่วยรวบรวมและเผยแพร่ความรู้ ข้อมูลต่างๆ และประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชน หลายประเด็นพยายามผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เช่น การรู้เท่าทันโรค การผลักดันให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ชวนคนเลิกบุหรี่ให้ได้ 1 ล้านคน การตั้งชมรม ตลอดจนการสร้างเครือข่าย"นพ.สุขุมกล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพไม่ใช่เป็นเฉพาะหน้าที่ของ สธ.เพียงหน่วยงานเดียว แต่ สธ.เป็นเพียงหน่วยงานกลางที่ต้องทำหน้าที่รวมพลังจากทุกภาคส่วน เพราะบางครั้งแม้เราจะรู้ว่าสิ่งนั้นไม่ดี แต่ก็ยังจะทำ ดังนั้น สธ.จะต้องทำให้นอกจากเขารู้แล้ว จะนำความรู้มาพัฒนาตัวเองให้รู้เท่าทันโรคอย่างไรนั้น เป็นสิ่งสำคัญ