รู้เท่าทัน “มะเร็งตับ”
บริโภคถูกหลัก…ลดความเสี่ยง!!
อวัยวะทุกส่วนในร่างกายต่างก็มีความหมายความสำคัญไม่ควรละเลยการดูแล ตับ อวัยวะภายในที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย อีกทั้งยังทำหน้าที่สำคัญหลายประการ ทั้งสร้างสารต่าง ๆ ที่ร่างกายต้องการ มีหน้าที่สร้างเกลือน้ำดี และน้ำดีที่ช่วยคลุกเคล้าไขมันทำให้ย่อยสลายไขมันในลำไส้ได้ ง่ายขึ้น
อีกทั้งยังมีหน้าที่สลายสารอาหารแปลงเป็นพลังงานให้ร่างกาย เป็นแหล่งสะสมพลังงาน สารอาหารและวิตามินต่าง ๆ รวมทั้งยังเป็นแหล่งทำลายสารพิษรวมถึงการเอาโปรตีนเก่ามาผ่านขบวนการรีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่และยังเป็นเกราะกำบังของร่างกายโดยเป็นที่อยู่ของเซลล์ที่ทำหน้าที่ดักจับเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย
การเจ็บป่วยด้วยโรคตับ ทั้ง ตับอักเสบ ตับแข็งและมะเร็งตับ มีอยู่ไม่น้อย และมะเร็งตับ ก็พบได้บ่อยเป็นลำดับต้น ๆ ของสาเหตุการเสียชีวิตจากมะเร็งทั้งเพศชายและเพศหญิง การตระหนักดูแลไม่ละเลยความสำคัญของอวัยวะส่วนนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง วรา จันทร์มณี กรรมการผู้จัดการมูลนิธิโรคตับ ให้ความรู้ว่า มะเร็งตับ ถือได้ว่าเป็นภัยเงียบใกล้ตัว ซึ่งปัจจุบันการตระหนักถึงการดูแลสุขภาพตับอาจถูกมองข้ามละเลยไปซึ่ง แท้จริงแล้ว ตับเป็นอวัยวะที่ มีความสำคัญอย่างหนึ่งของร่างกายเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดมีหน้าที่ผลิตสารอาหารที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้และทำลายของเสีย รวมทั้งยังมีหน้าที่อีกหลากหลายที่สำคัญ ซึ่งที่ผ่านมามูลนิธิฯได้เผยแพร่ความรู้รณรงค์ให้ประชาชนได้เห็นและเข้าใจถึงความสำคัญของตับ และตระหนักในโรคตับที่เกิดขึ้น
“ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นนั้นสร้างความทุกข์ทรมานทั้งต่อผู้ป่วยและคนใกล้ชิดรอบข้างซึ่งต้องดูแลเป็นห่วงเป็นใย อีกทั้งยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาอีกไม่น้อยและดังที่กล่าวมา มะเร็งตับภาพรวมนั้นมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่ง แล้วก็มีอัตราผู้ป่วยมะเร็งตับเกิด ขึ้นใหม่ในแต่ละปีประมาณ 20,000-25,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วง”
โรคมะเร็งตับ มีสาเหตุเบื้องต้นจากการเป็นตับอักเสบ เป็นภาวะที่เซลล์ตับถูกทำลายจากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ติดเชื้อแบคทีเรียหรือจากสาเหตุอื่น ๆ อย่างเช่น พิษของสุรา สารเคมีหรือยาบางชนิด การที่เซลล์ตับอักเสบถูกทำลาย ทำให้การทำหน้าที่ของตับบกพร่องไปจนเกิดเป็นตับแข็งและมะเร็งตับในที่สุด
ปัจจุบันไวรัสตับอักเสบที่สำคัญมีอยู่ด้วยกัน 5 ชนิดได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ เอ, บี, ซี, ดี และอี โดยอาจแบ่งได้เป็น กลุ่มแรก ไวรัสตับอักเสบ เอ และอี ติดต่อจากการได้รับเชื้อไวรัสปนเปื้อนในอาหารซึ่งเมื่อป่วยแล้วจะหายจากโรคไม่พบโรคเรื้อรัง ขณะที่กลุ่มที่ 2 ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบบี ซี และดี
“เชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี ถือว่ามีความรุนแรงสามารถติดต่อได้ทางเลือด น้ำเหลืองโดยผู้ป่วยอาจรับเชื้อได้ในช่องทางต่าง ๆ ทั้งจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อโดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย การใช้เข็มฉีดยา แปรงสีฟันที่ตัดเล็บร่วมกันกับผู้ที่มีเชื้อ การเจาะหู ใช้เข็มสักตามตัวหรือสีที่ใช้สักตามตัวร่วมกันและแม่ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบก็สามารถติดต่อไปยังลูกได้หากหลังคลอดไม่ได้ฉีดวัคซีนให้แก่ทารก”
ส่วนการก่อภาวะตับอักเสบของไวรัสตับอักเสบ เกิดได้จากปฏิกิริยาระหว่างไวรัสตับอักเสบกับภูมิต้านทานของเราซึ่งส่วนใหญ่ คือ เม็ดเลือดขาว อย่างเช่น เมื่อเม็ดเลือดขาวพบไวรัสตับอักเสบบีเป็นสิ่งแปลกปลอมในเซลล์ตับจึงพยายามทำลาย แต่เนื่องจากไวรัสอยู่ในเซลล์ตับ การที่จะทำลายไวรัสได้ก็ต้องทำลายเซลล์ตับที่ไวรัสอาศัยอยู่ด้วย หากภูมิต้านทานของเราแข็งแรงก็สามารถทำลายไวรัสได้รวดเร็ว การอักเสบก็จะเกิด แค่ในระยะสั้น แต่หากภูมิ ต้านทานของเราไม่แข็งแรงพอ ปฏิกิริยาต่าง ๆ ก็เกิดต่อเนื่องทำให้เซลล์ตับถูกทำลายตลอดเวลา ผลก็คือ นานเข้าเซลล์ตับจะลดลงเรื่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยแผลเป็นหรือพังผืดเกิดภาวะตับแข็งซึ่งการเกิดตับแข็งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งตับ
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่ชวนตระหนักถึงความรุนแรงของโรคตับ เช่น โรคตับมัก จะเกิดในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งก็ถือ ว่าเป็นช่วงวัยทำงานเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวและประเทศชาติ ที่น่าสนใจคือ คนที่เป็นไวรัสตับอักเสบเรื้อรังจะไม่มีอาการ แต่หากโรคลุกลามเป็นมากขึ้นจะมีอาการตาเหลือง ท้องมาน ฯลฯ และหากมีอาการตับแข็งการรักษาก็จะไม่ได้ผลดีซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่แพทย์ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งตับมักจะเป็นระยะสุดท้ายและมักจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
อีกทั้งยังพบว่า ประมาณร้อยละ 25 ของผู้ที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบีและซีจะเสียชีวิตจากโรคตับและผู้ที่รับประทานอาหารปนเปื้อนเชื้อราที่มีสารอัลฟาทอกซินซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอาหารแห้งที่เก็บไว้ในที่ชื้น อาทิ ถั่วลิสงป่น พริกป่น กุ้งแห้ง ฯลฯ ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งตับสูง รวมทั้งการรับประทานปลาดิบน้ำจืดของประชากรภาคอีสานก็เป็นอีกสาเหตุของการเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีในตับอีกด้วย
ดังนั้นการหลีกไกลจาก โรคมะเร็งตับและโรคตับ 5 ข้อปฏิบัติและ 6 ข้อที่ไม่ควรทำที่ทางมูลนิธิฯรณรงค์ไว้ กรรมการผู้จัดการมูลนิธิฯให้ความรู้ต่ออีกว่า ควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ ควรใช้ถุงยางอนามัยป้องกันโรคเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ตรวจสุขภาพตับสม่ำเสมอทุก 6-12 เดือน อีกทั้งควรรับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัยครบหมวดหมู่และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ
นอกจากนี้สิ่งที่ไม่ควรกระทำ ได้แก่ ไม่ใช้อุปกรณ์สัก เจาะ ฯลฯ ร่วมกัน ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานาน และควรรับประทานอาหารปรุงสุก ไม่ควรรับประทานปลาดิบน้ำจืด อย่าง ปลาตะเพียน ปลาขาว ปลาสร้อย เพราะอาจมีพยาธิใบไม้ในตับทำให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดีในตับ ขณะเดียวกันควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ปล่อยตัว ให้เป็นโรคอ้วนลงพุงซึ่งจะทำให้เป็น โรคเบาหวาน โรคตับอักเสบและมะเร็งตับในที่สุด
อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาและอาหารเสริมที่ไม่จำเป็นซึ่งอาจมีสารสเตีย รอยด์ที่เป็นอันตรายต่อตับ ท้ายที่สุดไม่รับประทานอาหารที่มีสารอัลฟาทอกซินซึ่งพบมากในอาหารแห้งที่เก็บในที่ชื้นดังที่กล่าวไว้ ซึ่งการเคร่งครัดดูแลสุขภาพดังที่กล่าวมาไม่เพียงมีความหมายเฉพาะโรคตับและมะเร็งตับ หากแต่ยังมีความสำคัญต่อการสร้างเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ห่างไกลและปลอดภัยจากโรคร้ายทั้งปวงอีกด้วย.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Update:08-12-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่