รู้เท่าทันอันตรายจากลูกโป่ง

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์


รู้เท่าทันอันตรายจากลูกโป่ง thaihealth


แฟ้มภาพ


เด็กๆ มักชอบเล่นลูกโป่ง อย่างไรก็ตามของเล่นทุกชนิดก็มีอันตรายแอบแฝงอยู่ ถ้าเป็นลูกโป่งประเภทที่บรรจุก๊าซไฮโดรเจน หากอยู่ใกล้ไฟหรือความร้อน ก็จะติดไฟหรือเกิดระเบิด เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ขณะเดียวกันถ้าลูกโป่งแตกผู้ปกครองควรเก็บเศษไปทิ้งถังขยะทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหยิบเศษลูกโป่งมาอมหรือกัดเล่น เพราะอาจลื่นเข้าไปในลำคอจนอุดทางเดินหายใจได้


รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ลูกโป่งไม่ได้สร้างความสนุกอย่างเดียว ยังสร้างความเสี่ยงต่ออันตรายอีกด้วย ในสหรัฐอเมริกาได้รายงานการตายของเด็กจากลูกโป่งถึง 110 ราย ในเวลาตั้งแต่ปี 1977-2001 สาเหตุการตายเกิดจากการอุดตันทางเดินหายใจโดยเศษลูกโป่งหรือลูกโป่งที่ยังไม่ได้เป่า เด็กส่วนใหญ่ที่ตายอายุน้อยกว่า 6 ขวบ อย่างไรก็ตามมีรายงานการอุดตันทางเดินหายใจจากลูกโป่งในเด็กที่อายุมากกว่า 6 ขวบ แต่ช่วยเหลือได้ทัน


พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการอุดตันทางเดินหายใจโดยลูกโป่งนั้นมี 2 แบบ แบบที่หนึ่งคือเด็กเป่าลูกโป่งเอง ในขณะเป่านั้น จังหวะที่เด็กต้องการหายใจเข้าเพื่อเติมลมในปอดนั้นจะต้องดูดอากาศเข้าอย่างแรงโดยมีลูกโป่งจ่ออยู่ที่ริมฝีปากทำให้เกิดโอกาสที่ลูกโป่งจะถูกดูดเข้าไปในปากและลงไปในหลอดลมเกิดการอุดตันทางเดินหายใจได้ อีกพฤติกรรมหนึ่งคือการที่เด็กเอาลูกโป่งที่ยังไม่ได้เป่าเข้าปากแล้วอมไว้หรือเคี้ยวเล่น การเผลอของเด็ก การวิ่ง ปีนป่าย หรือหัวเราะ อาจทำให้สำลักลูกโป่งที่อมไว้นั้นเข้าปอดเกิดการอุดตันทางเดินหายใจได้


เศษลูกโป่งที่แตกแล้ว ก่อให้เกิดความเสี่ยงแบบเดียวกันได้ทั้งสองกรณี คือการเอาเศษลูกโป่งมายืดออกไว้ที่ริมฝีปากและเป่า ในจังหวะหายใจเข้า เศษลูกโป่งอาจจะถูกดูดเข้าไปในปากและสำลักลงหลอดลม หรือการเอาเศษลูกโป่งอมเคี้ยวในปาก


การอุดตันทางเดินหายใจทำให้สมองขาดออกซิเจน มีเวลาช่วยเหลือเพียง 4-5 นาที การสำลักลูกโป่งลงไปในท่อหลอดลมแล้ว คงไม่ง่ายนักที่จะทำให้มันหลุดออกมาได้ 


ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงต้องตระหนัก ระวัง ดูแลเจ้าตัวน้อยให้ดี และสอนเจ้าหนูตัวน้อยให้มีพฤติกรรมที่ปลอดภัย ดังนี้


1. ไม่อนุญาตให้เด็ก ๆ อายุน้อยกว่า 8 ขวบ เล่นลูกโป่งที่ยังไม่เป่า


2. ผู้ใหญ่ต้องเป็นคนเป่าลูกโป่งให้เด็ก ๆ ที่อายุน้อยกว่า 8 ขวบเท่านั้น


3. ห้ามเด็กอมลูกโป่งเข้าปาก4. ลูกโป่งที่แตกแล้ว ต้องเก็บเศษลูกโป่งให้หมดทันที อย่าให้เด็กเล่นโดยเด็ดขาด


5. เด็กที่เล่นลูกโป่งที่เป่าลมแล้วต้องมีผู้ใหญ่เฝ้าดูอยู่ใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เล่นตามลำพัง


6. แขวนลูกโป่งให้สูง อย่าให้เด็กหยิบถึงได้เอง


7. สอนเด็ก อย่าให้เล่นลูกโป่งใกล้หน้า ใกล้ตา เพราะหากเกิดการแตก แรงระเบิดจะเป็นอันตรายต่อใบหน้าและตาได้การที่จะทำให้พ่อแม่รับรู้ความเสี่ยงได้นั้น ผู้ผลิตเองจะมีบทบาท ในต่างประเทศที่พัฒนาแล้วผู้ผลิตจะต้องมีคำเตือนบนถุงลูกโป่งเสมอ


ภัยจากลูกโป่ง จากก๊าซไฮโดรเจน


ลูกโป่งที่ขายในประเทศไทยโดยทั่วไป พบบรรจุก๊าซอยู่ 2 ชนิด คือไฮโดรเจน และฮีเลียม ก๊าซไฮโดรเจนมีความไวไฟสูง ส่วนก๊าซฮีเลียมเป็นก๊าซเฉื่อย ไม่ติดไฟ ลูกโป่งที่บรรจุก๊าซไฮโดรเจนอยู่ใกล้ไฟหรือความร้อน ก็จะติดไฟหรือสามารถเกิดระเบิดในกรณีที่มีลูกโป่งจำนวนมากได้ และอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิต


ผู้ซื้อไม่สามารถแยกออกได้ โดยเฉพาะการใช้ในงานรื่นเริงตามโรงเรียน งานเลี้ยงเทศกาล หรือแม้แต่งานรวมญาติของบ้านเรา ปัจจุบันทางสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคได้ควบคุมการขายลูกโป่งก๊าซไฮโดรเจน อย่างไรก็ตามมีผู้ผลิตที่ยังคงผลิตอยู่ ดังนั้นผู้ใช้ต้องตรวจสอบถามผู้ผลิตเสมอว่าใช้ก๊าซอะไร

Shares:
QR Code :
QR Code