รู้ทัน ป้องกันไว้ ไม่ให้หัวใจขาดเลือด

เรื่องโดย ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลบางส่วนจาก คู่มือรู้ทันโรคและภัยสุขภาพ


ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th  และแฟ้มภาพ


รู้ทัน ป้องกันไว้ ไม่ให้หัวใจขาดเลือด thaihealth


“จุดอ่อนของฉัน อยู่ตรงที่หัวใจ ที่ทำเป็นแข็งแรง ที่ฉันแสดง ที่แท้แทบขาดใจ” เรื่องของหัวใจยังไงก็สำคัญ อวัยวะทุกส่วนของร่างกายดำรงอยู่ได้ก็เพราะมี “หัวใจ” เป็นศูนย์กลางควบคุม แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่หัวใจอ่อนแอจากภาวะหัวใจขาดเลือด ย่อมส่งผลเสียต่อร่างกาย


แน่นอน รู้หรือไม่ว่า จากการรายงานสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2563 พบว่า กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนทั่วโลก ร้อยละ 80 เสียชีวิตด้วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และเพื่อให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงภัยอันตรายจากโรคหัวใจ จึงกำหนดให้ทุกวันที่ 29 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันหัวใจโลก”


 


รู้ทัน ป้องกันไว้ ไม่ให้หัวใจขาดเลือด thaihealth


โรคหัวใจขาดเลือด จัดอยู่ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า คนไทยเสียชีวิตด้วยโรค NCDs ราวปีละ 4 แสนราย หรือวันละไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย คิดเป็น 3 ใน 4 ของการเสียชีวิตของทั้งหมดของประเทศ และครึ่งหนึ่งเป็นการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร กลุ่มโรค NCDs ถือเป็นภัยเงียบที่ร้ายแรงกว่าโควิด-19 หลายเท่า สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคได้มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ได้แก่


1. การรับประทานอาหารที่มีไขมัน คอเลสเตอรอลสูง เช่น ไขมันทรานส์ อาหารที่มีกากใยน้อยเกินไป


2. ขาดการออกกำลังกาย มีกิจกรรมทางกายที่น้อยลง


3. สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ


4. ผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักเกิน


5. เป็นผู้ป่วยในกลุ่มโรคเบาหวาน มีระดับไขมันในเลือดสูง มีภาวะความดันโลหิตสูง


6. มีประวัติบุคคลในครอบครัวหรือญาติ ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดแดงอุดตัน โรคหัวใจขาดเลือด


 


รู้ทัน ป้องกันไว้ ไม่ให้หัวใจขาดเลือด thaihealth


และเนื่องด้วยสาเหตุข้างต้นเหล่านี้ เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด หนึ่งในกลุ่มโรค NCDs ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญที่ สสส. และภาคีเครือข่ายทำงานร่วมกัน ในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค ลดความเสี่ยงจากกลุ่มโรค NCDs


ดร. สุปรีดา  อดุลยานนท์  ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กลุ่มโรค NCDs เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนไทย  มีปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ทั้งการสูบบุหรี่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม  การขาดกิจกรรมทางกายร่วมกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทางเศรษฐกิจและสังคมในครัวเรือน


“สสส. สนับด้านงานวิชาการ และงบประมาณมาตลอด 10 ปี สร้างการรับรู้ รณรงค์ให้คนไทยหันมาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค มีกิจกรรมทางกายที่มากขึ้น ลดปัจจัยเสี่ยงจากเหล้า บุหรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรค NCDs มุ่งสร้างสังคมสุขภาวะให้คนไทย” ดร. สุปรีดา กล่าว


 


อาการแบบไหนบ้างที่บ่งบอกว่ามีภาวะหัวใจขาดเลือด


  • เจ็บตรงหน้าอกซีกซ้ายตำแหน่งหัวใจ
  • มีลักษณะปวดแบบจุก ๆ เหมือนถูกบีบ หรือถูกของกดทับ ขณะมีอาการจะอ่อนเพลียร่วมด้วย
  • มีอาการปวดร้าวบริเวณต้นคอจนถึงขากรรไกร ปวดหัวไหล่ หรือปวดแขน


 


รู้ทัน ป้องกันไว้ ไม่ให้หัวใจขาดเลือด thaihealth


“รู้ทัน ป้องกันไว้ ไม่ให้หัวใจขาดเลือด” วิธีง่าย ๆ ที่ทุกคนทำได้ เพื่อป้องกันและดูแลสุขภาพไม่ให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือด มีวิธีไหนบ้าง มาดูกันเลย


1. งดการสูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


2. อย่าปล่อยให้ตัวเองอ้วน รักษาน้ำหนักและสุขภาพเสมอ


3. ลดการรับประทานอาหารที่มีไขมัน คอเลสเตอรอลสูง เพิ่มการกินผักผลไม้ อาหารที่มีกากใยสูง


4. ลดภาวะความเครียดทางอารมณ์ ฝึกสมาธิ ทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย


5. ตรวจร่างกายประจำปี หากมีประวัติญาติหรือบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ควรตรวจร่างกายทุกปี และประเมินโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด


6. ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดควรพบแพทย์สม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือภาวะแทรกซ้อนได้


รู้ทัน ป้องกันไว้ ไม่ให้หัวใจขาดเลือด thaihealth


“ภารกิจป้องกันก่อนรักษา” เป็นสิ่งที่ สสส. และภาคีเครือข่ายร่วมกันขับเคลื่อน ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ สร้างการรับรู้และตระหนักถึงภัยสุขภาพ รณรงค์ให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพจากเหล้า บุหรี่ และเพิ่มกิจกรรมทางกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้คนไทยห่างไกลจากโรค NCDs


           


             


 

Shares:
QR Code :
QR Code