รู้ทันอารมณ์โกรธลดรุนแรงรับปีใหม่

/data/content/26928/cms/e_bdfghlopruwx.jpg


          กรมสุขภาพจิตเผยปี 2557 สื่อไทยเสนอข่าวความรุนแรงมากกว่า 2.5 หมื่นครั้ง สะท้อนคนไทยจัดการภาวะอารมณ์ไม่เหมาะสม ชวนปลดล็อกอารมณ์เริ่มปีใหม่ รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง ควบคุมพฤติกรรมลดอารมณ์ด้านลบ อ่านใจอีกฝ่าย ใช้ความสงบสยบรุนแรง แนะเริ่มต้นที่ครอบครัว


          นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลการรายงานข่าวทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ และเว็บไซต์ ในรอบปี 2557 พบว่า สถานการณ์ความรุนแรงถูกนำเสนอผ่านสื่อเพิ่มขึ้น คือถูกนำเสนอมากกว่า 25,000 ครั้ง แบ่งเป็นความรุนแรงทางสังคมและการเมือง 8,182 ครั้ง ความรุนแรงในชายแดนใต้ 6,170 ครั้ง ความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก 5,524 ครั้ง ความรุนแรงในครอบครัว 4,314 ครั้ง และความรุนแรงของเด็กและวัยรุ่น 897 ครั้ง ล้วนสะท้อนถึงภาวะทางอารมณ์ของคนไทยที่ขาดการจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสม ปีใหม่ 2558 กรมฯจึงขอชวนคนไทยมาร่วมปลดล็อกอารมณ์ โดยการทำใจให้สบาย ไม่เคร่งเครียดจนเกินไป รู้จักจัดการกับอารมณ์ทางลบ ได้แก่ โกรธ กลัว วิตกกังวล


         "เทคนิคในการจัดการกับอารมณ์ทางลบ คือ จับสัญญาณเตือนของอารมณ์ที่เริ่มเกิดขึ้นให้เร็วที่สุด เช่น หัวใจเต้นแรง กล้ามเนื้อเริ่มเกร็ง เหงื่อไหล หน้าเริ่มร้อน หรือหน้าเริ่มซีด จากนั้นควรหยุดนิ่งสักพัก รู้ทันสถานการณ์ที่มากระตุ้นอารมณ์ เช่น โกรธ เมื่อรู้สึกว่าถูกดูหมิ่น ควรหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือสิ่งต่างๆ ที่อาจเข้ามากระตุ้นให้เกิดอารมณ์โกรธ จัดการอารมณ์อย่างถูกวิธี ลดอารมณ์โกรธให้ได้ โดยอาจใช้เทคนิคควบคุมพฤติกรรม เช่น นับเลขถอยหลัง ขอเวลาไปห้องน้ำ ดื่มน้ำสักแก้ว สูดลมหายใจลึกๆ ฯลฯ หลีกเลี่ยงความรู้สึกอคติที่เกิดขึ้น โดยบอกความรู้สึกตนเองอย่างตรงไปตรงมาแต่ไม่ก้าวร้าว ไม่กล่าวโทษ ด่วนสรุปหรือตัดสินอีกฝ่าย ขออภัยกับการกระทำที่เกิดจากการเข้าใจผิด รวมทั้ง สร้างบรรยากาศความไว้วางใจและใช้อารมณ์ขันเพื่อสร้างความอบอุ่น" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว


          นพ.เจษฎา กล่าวว่า ส่วนการปลดล็อกอารมณ์ของคนอื่น สามารถทำได้โดยพยายามอ่านใจและอารมณ์ของอีกฝ่ายให้ได้ เช่น การถามตรงๆ ถึงความคับข้องใจหรือไม่สบายใจของอีกฝ่าย จัดการอารมณ์ของอีกฝ่าย โดยกล่าวขอโทษ หรืออาจขอเวลานอกเพื่อให้อีกฝ่ายคิดทบทวนอีกครั้ง ใช้ความสงบสยบความรุนแรง ไม่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเสียหน้า รวมทั้ง อาจหาผู้ช่วยไกล่เกลี่ยหรือประสานรอยร้าวที่เกิดขึ้น ฯลฯ


          "ทั้งนี้ สามารถเริ่มต้นได้ที่ครอบครัว ซึ่งจะช่วยให้ครอบครัวเกิดความรักความผูกพัน เติมเต็มความสุข ความสมานฉันท์และเข้าใจกันได้มากยิ่งขึ้น ที่สำคัญช่วยตัดวงจรความรุนแรงภายในครอบครัว นำไปสู่ความสุขของครอบครัวและสังคมต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยต้องการ" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว


 


          ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code