รู้จัก โรคตุ่มน้ำพอง
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
แฟ้มภาพ
ระยะหลังมานี้เรามักจะได้ยินข่าวคราวอาการป่วยของคนในวงการบันเทิงด้วยชื่อโรคที่ไม่ค่อยคุ้นหูนัก อย่างโรคตุ่มน้ำพอง ซึ่งอันที่จริงแล้วตุ่มน้ำพองไม่ใช่โรคเกิดใหม่แต่อย่างใด เพราะจากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขแล้วพบว่า ในประเทศไทยมี ผู้ป่วยด้วยโรคนี้มากถึง 1,371 รายทีเดียว
ศ.ดร.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ ประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า ตุ่มน้ำพองเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่พบได้ไม่บ่อยมากแต่ก็ไม่ใช่โรคหายาก สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่มาทำลายโครงสร้างที่ทำหน้าที่ยึดเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังหลุดออกจากกันกลายเป็นตุ่มน้ำและแผลถลอก ร่องรอยของโรคสามารถพบได้ทั้งผิวหนังและเยื่อบุ ลักษณะเหล่านี้เรียกว่า "ภูมิเพี้ยน" คือ ภูมิต้านทานที่มีหน้าที่คอยต่อสู้กับเชื้อโรค-สิ่งแปลกปลอมกลับมาทำอันตรายอวัยวะของตนเอง ทำให้เกิดโรคแพ้ภูมิตัวเองขึ้น ซึ่งโรคที่พบได้บ่อยมี 2 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ โรคเพมฟิกัส และโรคเพมฟิกอยด์
โรคเพมฟิกัสมักพบในช่วงอายุ 50-60 ปี เกิดจากความผิดปกติที่ชั้นผิวหนังกำพร้าในผิวหนังชั้นตื้นแต่อาจกินบริเวณกว้าง ผู้ป่วยจะมีแผลเหมือนถูกน้ำร้อนลวก และส่วนใหญ่มักมีแผลถลอกในช่องปากร่วมด้วย รวมถึง อาจพบแผลถลอกที่เยื่อบุบริเวณอื่น เช่น ทางเดินหายใจ เยื่อบุช่องคลอดและอวัยวะเพศ บริเวณผิวหนังมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำ แตกได้ง่าย กลายเป็นแผลถลอก มีอาการปวดแสบ หรือคัน เมื่อแผลหายมักทิ้งรอยดำโดยไม่เป็นแผลเป็น
ส่วนโรคเพมฟิกอยด์พบได้บ่อยกว่าโรคเพมฟิกัส มักพบในอายุมากกว่า 60 ปี เกิดจากการหลุดลอกของชั้นหนังกำพร้าจากชั้นหนังแท้ เกิดการแยกชั้นที่ลึกกว่าแต่กินบริเวณไม่กว้างนัก ผู้ป่วยมักมีอาการผื่นแดงคันนำมาก่อน ต่อมาเริ่มมีตุ่มน้ำใส โดยตุ่มน้ำมีลักษณะพอง แตกยาก หรืออาจแตกออกเป็นแผลถลอก รอยโรคที่เยื่อบุพบได้น้อยกว่าโรคเพมฟิกัส และมักไม่เจ็บ ความรุนแรงของโรคน้อยกว่าเพมฟิกัส
สำหรับการปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคตุ่มน้ำพอง คุณหมอแนะนำว่า ควรทำความสะอาดร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ในบริเวณที่เป็นแผลให้ใช้น้ำเกลือ ทำความสะอาด ไม่แกะเกาผื่นเพื่อลดความเสี่ยง ในการติดเชื้อ ผู้ป่วยที่มีแผลในปากควรงดอาหารรสจัด และงดรับประทานอาหารแข็ง เช่น ถั่ว ปลาแห้ง ของขบเคี้ยว เนื่องจากอาจกระตุ้นการ หลุดลอกของเยื่อบุในช่องปาก หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก ๆ ไม่ใส่เสื้อผ้ารัดคับ เพื่อลดการถลอกที่ผิวหนัง หลีกเลี่ยงแสงแดด และความเครียดซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ การรักษาด้วยการทานยา และพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาดำรงชีวิตได้ เหมือนคนปกติทั่วไป และไม่มีรอยโรคใหม่เกิดขึ้นอีก