รู้จักโรคไขมันพอกตับ
ปัจจุบัน ประเทศไทย พบภาวะไขมันพอกตับได้มากขึ้นตามแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของภาวะเมตาโบลิกซินโดรม(Metabolic Syndrome) ซึ่งได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในโลหิตสูงซึ่งมักจะเกิดขึ้นในวัยกลางคนอายุประมาณ 45 ถึง 50 ปีขึ้นไป ที่อัตราการเผาผลาญอาหารเริ่มลดลง
ไขมันพอกตับคืออะไร
ภาวะไขมันพอกตับ หมายถึงภาวะที่มีการสะสมของไขมัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของ Triglyceride อยู่ในเซลล์ตับโดยที่คนๆนั้นไม่ได้ดื่มสุรา (ปกติคนที่ดื่มสุรามานานจะมีการ พอกของเซลล์ไขมันในตับ) ซึ่งทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า Non-Alcoholic Fatty Liver Disease (NAFLD) เซลล์ไขมันนี้จะไม่ก่อให้เกิดการเสียหายหรืออักเสบกับตับในระยะแรก แต่ก็มีผู้ป่วยบางส่วนที่ไขมันทำให้เกิดการอักเสบของตับเกิดกลุ่มอาการที่ เรียกว่า Non-Alcoholic Steatohepatitis (NASH)ในที่สุดก็จะเป็นตับแข็ง Cirrhosis แต่นักวิทยาศาสตร์ยังอธิบายไม่ได้ว่าทำไมถึงเกิดการอักเสบของตับ พบว่าร้อยละ5-8ของผู้ป่วยไขมันพอกตับจะกลายเป็นตับอักเสบและตับแข็ง
ภาวะไขมันพอกตับอาจแบ่งได้เป็น 4 ชนิด โดยแบ่งตามพยาธิสภาพของชิ้นเนื้อตับ ดังนี้
ชนิดที่ 1 ชนิดนี้จะมีแต่ไขมันคั่งสะสมในเซลล์ตับอย่างเดียว แต่ไม่มีการอักเสบของตับ ร่วมด้วย
ชนิดที่ 2 ชนิดนี้จะมีไขมันคั่งสะสมในเซลล์ตับ ร่วมกับมีการอักเสบของตับเล็กน้อย
ชนิดที่ 3 ชนิดนี้จะมีไขมันคั่งสะสมในเซลล์ตับ และมีการบวมโตของเซลล์ตับ
ชนิดที่ 4 จะเป็นแบบชนิดที่ 3 แต่มีการตายของกลุ่มเซลล์ตับ และอาจมีพังผืดในตับร่วมด้วย
ชนิดที่ 1 และ 2 มักจะสบายดี แม้ว่าจะติดตามไปเป็นระยะเวลา 10-20 ปี ก็ยังปกติดีไม่มีอาการของโรคตับเรื้อรังเกิดขึ้น แต่ไขมันคั่งสะสมในตับชนิดที่ 3 และ 4 จะมีการดำเนินโรคจนเกิดตับแข็งได้ถึงร้อยละ 20-28 ในเวลา 10 ปี ดังนั้น แม้ว่าโดยรวมดูเหมือนว่าภาวะไขมันพอกตับจะเป็นภาวะที่ไม่รุนแรงเท่าใดนัก แต่ผู้ป่วยที่ เป็นชนิดที่ 3 และ 4 จะมีการดำเนินโรคไปเป็นตับแข็งและอาจเสียชีวิตได้ ไม่ต่างจากโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง
ไขมันพอกตับพบได้บ่อยขนาดไหน
มีการศึกษาทั้งจากประเทศทางอเมริกาและญี่ปุ่น พบว่ามีประชากรประมาณร้อยละ 10-20 มีภาวะไขมันพอกตับโดยการตรวจด้วยวิธี อัลตราซาวด์ และประมาณร้อยละ 1-3 ของประชากร จะมีการอักเสบของตับ หรือที่เรียกว่า NASH ร่วมด้วย และถ้าดูผู้ป่วยที่มาตรวจด้วยเรื่อง ภาวะตับอักเสบเรื้อรังที่ไม่ได้เกิดจากไวรัสตับอักเสบบี, ซี, การดื่มสุรา, หรือรับประทานยา แล้วพบว่าร้อยละ 60 ของผู้ป่วยจะมีภาวะไขมันพอกตับ ที่อาจเป็นสาเหตุของตับอักเสบเรื้อรัง สำหรับในประเทศไทยยังไม่ได้มีการศึกษาอย่างจริงจังแต่ก็พบว่าภาวะไขมันพอกตับเป็นสาเหตุของตับอักเสบเรื้อรัง ที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มาตรวจเรื่องตับอักเสบเรื้อรัง
สาเหตุของไขมันพอกตับ
1. ผู้ที่มีไขมันพอกตับโดยที่ไม่มีสาเหตุเรียก Primary ซึ่งความรู้จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่าภาวะที่ร่างกายดื้อต่ออินซูลินเป็นปัจจัย ที่สำคัญของการเกิดภาวะไขมันคั่งสะสมในตับ หลังจากนั้นอาจจะมีปัจจัยหรือกลไกอื่นอีกที่มากระตุ้นให้เกิดการอักเสบและ การตายของเซลล์ตับ ซึ่งกลุ่มอาการที่สัมพันธ์ต่อการดื้อต่ออินซูลินนี้เรียกว่า Insulin Resistant Syndrome ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย คือ
· อ้วน ซึ่งมักจะอ้วนที่ลำตัวมากกว่าแขนขา
· เบาหวาน
· ไขมันในเลือดสูง
· ความดันโลหิตสูง
2. ส่วนพวกที่มีสาเหตุเรียก Secondary สาเหตุที่พบได้บ่อยคือ
· จากการดื่มสุรา alcoholic liver disease (ALD)
· จากไวรัสตับอักเสบ บี
· ไวรัสตับอักเสบซี
· จากโรคแพ้ภูมิ Autoimmune hepatitis
· จากยาบางชนิด เช่น prednisolone, amiodarone (Cordarone), tamoxifen (Nolvadex), methotrexate (Rheumatrex, Trexall), และ nonsteroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDS).
· การขาดอาหาร
กลไกการเกิดไขมันพอกตับ
ในคนปกติระดับน้ำตาลจะถูกควบคุมโดยอินซูลินซึ่งผลิตมา จากตับอ่อน เมื่อน้ำตาลในเลือดสูง ตับอ่อนจะหลั่งอินซูลินออกมากมากขึ้น โดยอินซูลินจะออกฤทธิ์ที่ตับ กล้ามเนื้อและเซลล์ไขมันเพื่อให้ใช้น้ำตาล
ในภาวะที่ดื้อต่ออินซูลินซึ่งอาจจะเกิดจากกรรมพันธุ์ หรือจากพฤติกรรมเช่น อ้วน ไม่ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลหรือไขมันมาก จะทำให้เซลล์ต่างๆไม่ตอบสนองต่ออินซูลินในขนาดปกติ ทำให้ตับอ่อนต้องผลิตอินซูลินเพิ่มมากขึ้นเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ คงที่ เมื่อภาวะดื้อต่ออินซูลินเพิ่มมากขึ้นจนกระทั่งตับอ่อนไม่สามารถสร้าง อินซูลินได้อย่างเพียงพอจึงเกิดโรคเบาหวานชนิดที่2 ซึ่งเมื่อเป็นมากจนกระทั่งต้องฉีดอินซูลิน
ภาวะดื้อต่ออินซูลินเกิดจากกรรมพันธุ์ แต่เมื่อโตขึ้นร่างกายอ้วนขึ้นรับประทานอาหารที่มีแป้งเพิ่มขึ้นรวมทั้งไม่ ได้ออกกำลังกายทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินเพิ่มมากขึ้น ทำให้ตับมีการสะสมไขมันเพิ่มมากขึ้น
อาการและอาการแสดง
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการ มักจะตรวจพบโดยบังเอิญจากการมาเจาะเลือดเช็คสุขภาพ ในบางรายอาจมีอาการปวดแน่นบริเวณใต้ชายโครงขวา ในบางรายอาจจะมีอาการอ่อนเพลียง่าย เมื่อโรคตับเป็นมากแล้ว ตรวจร่างกายผู้ป่วยมักจะพบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติยกเว้นอาจจะพบว่าผู้ป่วยอาจจะ อ้วน ซึ่งมักจะเป็นอ้วนแบบลงพุง และในกรณีผู้ป่วยที่มีตับแข็งแล้วก็อาจตรวจเจอลักษณะของโรคตับเรื้อรังหรือ ตับแข็งร่วมด้วย การเจาะเลือดดูการทำงานของตับอาจจะพบค่า AST กับค่า ALT สูงกว่าปกติประมาณ 1.5 เท่า ถึง 4 เท่า อาจจะมีค่าALP สูงขึ้นเล็กน้อยส่วนค่าอื่นๆ มักจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ที่มา: ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต