รู้จักร้านอาหารไทยลุคใหม่หรือยัง
ในแต่ละปี “ร้านอาหาร” ผุดขึ้นราวดอกเห็น ทั้งร้านอาหารไทย-จีน-ญี่ปุ่น-ฝรั่ง ต่างเลือกทำเลหาที่ตั้ง รวมทั้งเลือกสรรเมนูอาหารเลิศรสมาเสิร์ฟกลุ่มลูกค้าอย่างไม่วางวาย
จากตัวเลขประมาณการรายได้ธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย ของบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด พบว่า ในปี 2551 ธุรกิจร้านอหารในประเทศไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านบาท
โดยแยกเป็นร้านอาหารไทยประมาณ 90,000 ล้านบาท หรือคิดเห็นร้อยละ 90 ของมูลค่าตลาดรวม และร้านอาหารต่างชาติประมาณ 10,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของมูลค่าตลาดรวม
ที่น่าสนใจ คือ การตีตลาดของธุรกิจร้านอาหารต่างชาติที่เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น!!
จะเห็นได้ว่า จากจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีเพียง 660 แห่ง สามารถกินส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 6,000 ล้านบาท ขณะที่ร้านหารเวียดนามและอิตาเลี่ยน สามารถกินส่วนแบ่งทางตลาดถึงวันละ 1 ล้านบาท โดยพบว่า อาหารญี่ปุ่นและเวียดนามตีตลาดจากจุดขายเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ
การยกระดับมาตรฐานอาหารไทย โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของการบริโภคเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญเนื่องจากในปีหนึ่งๆ มีผู้ป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคนต่อปี และจากข้อมูลด้านระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในเดือนมกราคม-มีนาคม 2551 มีผู้ป่วยด้วยโรคติดต่อจากอาหารและน้ำทั่วประเทศ 270,000 ราย เสียชีวิต 37 ราย ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิด
จากการบริโภคอาหารไม่สะอาด มีการปนเปื้อนเชื้อโรคในขั้นตอนการผลิตการปรุง การเก็บรักษาที่ไม่ดี
และสิ่งที่ควรคำนึงถึงไม่ยิ่งหย่อนกว่าผลกำไรที่ผู้ประกอบธุรกิจจะได้รับ นั่นคือ “ความสุข” ของลูกค้าผู้มาบริโภคอาหาร นอกเหนือจากความอร่อยและความปลอดภัย ผู้ประกอบการร้านอาหารควรคำนึงถึงการมีระบบมาตรฐานบริการที่ดี ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในเชิงการแข่งขันทางธุรกิจกับธุรกิจร้านอาหารจากต่างชาติที่มีมาตรฐานได้อีกทางหนึ่ง
ด้วยความใส่ใจในมาตรฐานการบริการของร้านอาหาร สมาคมภัตตาคารไทยและชมรมร้านอาหารภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุน สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จัดทำโครงการพัฒนายกระดับร้านอาหารไทยสู่มาตรฐานสากล เพื่อส่งเสริมให้ร้านอาหารทุกร้านได้คำนึงถึงมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร เพราะการบริโภคอาหารที่ดีย่อมส่งผลต่อการมีสุขภาพที่ดี
นางปวรวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ในฐานะผู้จัดการโครงการพัฒนายกระดับร้านอาหารไทยสู่มาตรฐานสากล สสส. กล่าวว่า ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารแต่ละแห่ง ล้วนต้องการให้ลูกค้าที่เข้ามาบริโภคอาหารมีความสุขกับการรับประทานอาหารดีๆ และอร่อยด้วยกันทั้งนั้น แต่เพื่อให้ร้านอาหารมีมาตรฐานในการบริการมากขึ้น โครงการนี้จึงถือว่ามีส่วนช่วยยกระดับการบริการได้มากทีเดียว
เบื้องต้นร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการจะมีการจัดทำร่างเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพและการบริการจัดการร้านอาหารไทย ประกอบด้วย เกณฑ์ความปลอดภัยด้วยอาหาร มาตรฐานการบริการ จริยธรรม วิธีการตรวจประเมินและผู้ประเมิน นอกจากนี้ ยังจะมีข้อกำหนดอื่นๆ อาทิ เกณฑ์การคัดเลือกวัตถุดิบที่ปลอดภัยภายในประเทศ เกณฑ์ด้านคุณค่าทางโภชนาการที่ให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคการจัดเมนูพิเศษสำหรับผู้บริโภคกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มคนอ้วน ผู้ป่วยเบาหวาน การรักษาวัฒนธรรมอาหารไทย เป็นต้น
“สิ่งเหล่านี้ถือว่ามีความสำคัญในการพัฒนาการให้บริการ ซึ่งผู้ประกอบการร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการควรร่วมมือกันผลักดัน โดยปีแรกคาดว่าจะมีร้านอาหารนำร่องกว่า 150 แห่ง จากนั้นจะขยายผลไปทั่วประเทศ และในอนาคตขยายความร่วมมือกับประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน”
อย่างไรก็ตามการจะให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จ 100% ไม่ได้อยู่ที่ผู้ประกอบการร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการทุกร้านเท่านั้น แต่ส่งที่ทำให้โครงการนี้สมบูรณ์แบบได้ คือ “ผู้บริโภค” ที่ถือเป็นเป้าหมายของโครงการนี้ ควรช่วยกันสอดส่องว่าร้านอาหารแต่ละแห่ง ได้ยกระดับการให้บริการจริงหรือไม่
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบ: อินเทอร์เน็ต
Update 15-12-51