รู้ข้อมูล เพื่อรับมือภัยพิบัติ
ธรรมชาติและความเสียหายมักมาพร้อมกับภัยพิบัติเสมอ เพราะมนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการกระทำของมนุษย์เองที่บุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
นายเชวง สมพังกาญจน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลต้นยวน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฏร์ธานี 1 กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้พื้นที่หรือชุมชนอยู่ร่วมกับภัยพิบัติได้คือข้อมูล เพราะข้อมูลเป็นตัวชี้วัดว่าชาวบ้านหรือชุมชนมีความเสี่ยงมากแค่ไหน คนที่อยู่พื้นที่ใกล้ดินหรือแม่น้ำมีความเสี่ยงมาก พวกเขาต้องรู้จักการอยู่รอดด้วยตัวเอง ชุมชนต้องมีการตื่นตัว หากไม่ตื่นตัว ไม่พร้อมช่วยเหลือตัวเอง เราไม่สามารถอยู่รอดได้ เพราะภัยพิบัติมนุษย์ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยง แต่สามารถป้องกันและบรรเทาได้ ข้อมูลหรือเหตุการณ์ที่ผ่านมาสามารถให้คำตอบได้ว่าน้ำจะท่วมกี่วัน แล้วเอาข้อมูลมารวบรวมเพื่อการเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติ
การถอดบทเรียนจากข้อมูลแล้วนำมาปรับใช้ สามารถบอกตำบลต้นยวนได้ว่าต้องเตรียมตัวรับมืออย่างไร จนวันนี้ต้นยวนเป็นตำบลต้นแบบแห่งการจัดการภัยพิบัติ ทั้งยังเป็น 1 ในตำบลสุขภาวะ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายกฯเชวง เล่าอีกว่า กว่าจะเป็นตำบลหรือชุมชนที่มีการจัดการจัดการภัยพิบัติที่ประสบความสำเร็จได้ก็ยากอยู่ไม่น้อย ต้องเริ่มจากการสืบเสาะหาข้อมูลจากอดีต เพราะต้นยวนเกิดภัยพิบัติบ่อยครั้งทั้งดินถล่มและอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก ส่งผลให้ชุมชนได้รับความเสียหาย
จากการสืบค้นข้อมูลแล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาทางออก และเลือกพื้นที่ปลอดภัย เช่น วัด โรงเรียน ที่อยู่บนที่สูง โดยเว้นระยะทางให้ห่างจากจุดเกิดเหตุ ทั้งนี้สถานที่ต้องกว้างขวาง สามารถรองรับผู้ประสบภัยได้อย่างเหมาะสม
“ตำบลต้นยวนประสบภัยพิบัติแยกประเภทเป็นต่างๆ ดังนี้คือ น้ำท่วมที่เกิดจากน้ำที่ล้นตลิ่งจนไหลบ่ามาท่วมบ้านเรือน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม โดยทางตำบลมีจุดรับแจ้งเกิดเหตุ ได้แก่ 1.ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลต้นยวน 2.จุดรับแจ้งประจำจุด โดยจัดเจ้าหน้าที่ อปพร.อยู่ประจำจุด ประมาณ 3-5 คนส่วนด้านการทำงานจะประสานขอความช่วยเหลือกับทุกๆ ตำบลในอำเภอพนม ซึ่งตำบลต้นยวนจะเป็นจุดรวบรวมข้อมูลหรือศูนย์กลาง ซึ่งมีหน้าที่นัดหมายประชุมสำหรับผู้ที่เป็นอาสาสมัคร และเตรียมอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค และติดต่อขอความช่วยเหลือจากเครือข่ายต่างๆ
ปัญหาที่พบบ่อยครั้งสำหรับการป้องกันภัยพิบัติคืออุปกรณ์ไม่เพียงพอ ทั้งเรือที่ต้องใช้ในพื้นที่ เชือกที่ใช้สำหรับช่วยผู้ประสบภัย วิทยุสื่อสาร เป็นต้น สิ่งของเหล่านี้เราจำเป็นต้องใช้โดยเฉพาะวิทยุสื่อสารเป็นอุปกรณ์สำคัญเพราะต้องสื่อสารหรือส่งข่าวให้ทราบโดยทั่วกัน” นายกฯเชวง กล่าว
ด้านการช่วยเหลือหลังเกิดภัยพิบัตินายกฯเชวง บอกว่า เป็นเรื่องของการเยียวยา หรือการช่วยเหลือผ่านงบประมาณของรัฐบาที่เข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่ยังมีการส่งเสริมชาวนา ชาวไร่ หรือเกษตรกรโดยการจัดเกษตรอำเภอเข้ามาให้การอบรมความรู้เรื่องการทำการเกษตรให้กับชาวบ้านต่อไป
เช่นเดียวกับสุนทร ผอมทอง คณะทำงานเครือข่ายชุมชนคลองชะอุ่น อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี ที่มีการตั้งรับกับภัยพิบัติได้เป็นอย่างดี โดยแกนนำชุมชนคลองชะอุ่น เล่าว่า การเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติสิ่งที่ง่ายและสำคัญที่สุดคือ ต้องสนับสนุนให้ชาวบ้าน ชุมชน หรือเครือข่ายร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติ และจัดการประชุมพูดคุย สร้างคณะทำงานเพื่อดำเนินการเฝ้าระวังภัยพิบัติภายในชุมชน โดยดำเนินการจัดตั้ง การถอดบทเรียนจากข้อมูลแล้วนำมาปรับใช้เพื่อสรุปข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
“การทำงานเรามีการเชื่อมโยงกับโรงเรียนโดยใช้ศูนย์สื่อสารวิทยุเฝ้าระวังภัยพิบัติ และเชื่อมโยงเครือข่ายสมาชิกโดยการใช้วิทยุการสื่อสารสแตนบายเมื่อเกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักหรือดินถล่ม จะมีการส่งข่าวเข้ามาที่ศูนย์สื่อสารวิทยุเฝ้าระวังภัย เพื่อการเตรียมการในขั้นต่อไป” สุนทรเล่าถึงการทำงานสำหรับการจัดการภัยพิบัติของตำบลคลองชะอุ่น
นอกจากการเกิดศูนย์สื่อสารวิทยุเฝ้าระวังภัยแล้วชุมชนตำบลคลองชะอุ่นยังนำเหตุการณ์ภัยพิบัติเดิมมาพูดคุยกับสมาชิกในชุมชนและเฝ้าสังเกตขณะฝนตกว่ามีปริมาณน้ำฝนมากน้อยเพียงใด ผิดจากเมื่อก่อนที่ตำบลคลองชะอุ่นไม่เคยสังเกตการณ์ใดๆเลย เพราะคิดว่าแก้ไขอะไรไม่ได้
“จากการประชุมหรือการสังเกตการณ์เรื่องน้ำสามารถช่วยบรรเทาและป้องกันการเกิดภัยพิบัติในตำบลคลองชะอุ่นได้ในระดับหนึ่ง และที่สำคัญชาวบ้านมีการตื่นตัวมากขึ้น และเริ่มดึงครู อาจารย์เข้ามาร่วมในเวทีพูดคุยเพื่อให้ความรู้ นอกจากครูแล้วเรายังนำเด็กมาจัดกิจกรรม จัดค่ายเยาวชนเพื่อให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย” สุนทรกล่าว
แกนนำชุมชนตำบลคลองชะอุ่นยังบอกอีว่า “เรายังมีการเตรียมพร้อมด้านการเตรียมฝึกอาสาสมัครพื้นที่เสี่ยงภัย จัดกิจกรรมชวนเครือข่ายไปฝึกเพิ่มขีดความสามารถ โดยการฝึกให้สมาชิกใช้สัญญาณทางอากาศในภาคพื้นดิน เพื่อฝึกให้สมาชิกเกิดความชำนาญ และจัดทำแผน การจัดการภัยพิบัติในเรื่องการสื่อสาร ข้อมูลต่างๆ ภูมินิเวศน์ ให้พร้อมต่อการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ”
แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะนำพาให้ทุกพื้นที่ ทุกชุมชนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติสามารถหลีกเลี่ยงและรับมือกับภัยพิบัติคือความสามัคคี และความพร้อมเพรียงร่วมมือร่วมใจของสมาชิกในชุมชนที่ก่อให้เกิดพลังเพื่อการต่อสู้กับเหตุการณ์นั้นๆได้
ด้านผู้ใหญ่โกเมศร์ ทองบุญชู ผู้ดูแลโครงการพัฒนาระบบและโครงข่ายการจัดการภัยพิบัติด้วยพลังสังคมในพื้นที่ภาคใต้ สนับสนุนโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยถึงการรับมือกับภัยพิบัติ 3 ขั้นตอนว่า ขั้นแรกต้องเปลี่ยนวิธีคิดของคนใหม่ เพราะส่วนใหญ่มักคิดว่าภัยพิบัติเราไม่สามารถหยุดยั้ง แต่สามารถป้องกันได้ เราต้องรับมือหรือปรับตัวให้อยู่กับภัยพิบัติให้ได้
สิ่งสำคัญคือข้อมูลและความรู้ที่ผู้ประสบภัยหรืออาสาสมัครต้องมีให้มากที่สุด ข้อมูลเป็นตัวแปรที่ทำให้เรารู้ว่าเราควรเตรียมรับมืออย่างไรบ้าง เพราะข้อมูลเหล่านี้จะไปสัมพันธ์ถึงการจัดเตรียมยา อาหาร สถานที่ที่เหมาะสมและปลอดภัย รวมถึงอุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยผู้ประสบภัย และระบบการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องใช้ในช่วงประสบภัย เช่น เรือ เชือก วิทยุสื่อสาร เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 2 ขณะเผชิญหน้ากับภัยพิบัติ อาสาสมัครต้องเตรียมเรือ หรือมีความรู้เรื่องการขับเรือ การใช้เรือยนต์ การโรยตัวด้วยเชือก รวมถึงมีข้อมูลที่ชัดเจนและแน่นอนก่อนที่จะดำเนินการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่น จำนวนผู้ประสบภัย เส้นทางในการไปกู้ภัย เป็นต้น สำหรับการจัดที่พักให้กับผู้ประสบภัยนั้นต้องจำแนกที่อยู่ให้กับผู้ประสบภัย เช่น ที่อยู่สำหรับเด็ก ผู้ป่วย คนชราเพื่อความสะดวกและปลอดภัยของผู้ประสบภัยเหล่านี้
ขั้นตอนที่ 3 ระยะฟื้นฟูเป็นช่วงระยะที่สำคัญอาจต้องใช้ทีมจิตแพทย์เข้ามาพูดคุยหรือช่วยเยียวยาผู้ประสบภัยไม่ให้เกิดอาการเครียด จิตตก หรือระแวงในเรื่องต่างๆ
ผู้ใหญ่โกเมศร์ ยังบอกถึงการแก้ปัญหาเพื่อช่วยลดการเกิดภัยพิบัติอีกว่า การแก้ไขปัญหาในส่วนต่างๆ เราต้องรู้ถึงสาเหตุหรือที่มาของปัญหาเป็นหลัก เช่น ภัยพิบัติที่เกิดจากดินถล่ม คือการเปิดหน้าของดิน ไม่มีอะไรปกคลุม เราต้องช่วยกันปลูกกล้วยป่า หญ้าแฝก ไม้ไผ่ เพื่อป้องกันการเกิดดินถล่มหรือการเปิดหน้าดิน การปลูกพืชเหล่านี้จะช่วยซึมซับปริมาณน้ำฝนตกได้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์
หากต้องการแก้ปัญหาให้ได้อย่างเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ผู้ใหญ่โกเมศยังบอกทิ้งท้ายอีกว่า สิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาภัยพิบัติเหล่านี้คือคน มนุษย์ เพราะคนเข้าไปบุกรุกธรรมชาติมากเกินไป ดังนั้นเราต้องปลูกจิตสำนึกคนใหม่เพื่อให้มีการพัฒนาและรักษาป่า หน้าดินเอาไว้ อีกทั้งเราต้องยอมรับว่าไม่สามารถหลีกเลี่ยงภัยพิบัติได้ อย่าไปคาดหวังในเรื่องของการช่วยเหลือมากนักเพราะทุกหน่วยงานไม่สามารเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทุกชีวิต แต่เราหรือคนในชุมชนต่างหากที่สามารถช่วยตนเองได้
หากชุมชนหรือพื้นที่ที่ตกอยู่ในความเสี่ยงของการเกิดภัยพิบัติมีข้อมูล ความรู้ หรือการจัดการที่มั่นคง และมีความพร้อมอาจทำให้ชุมชนหรือพื้นที่นั้นๆ เกิดความรู้และพร้อมถ่ายทอดประสบการณ์การอยู่ร่วมกับภัยพิบัติเป็นอย่างดีก็เป็นได้
ที่มา: เว็บไซต์ปันสุข สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน