รู้ก่อนทิ้ง หน้ากากอนามัยใช้แล้วขยะเสี่ยงติดเชื้อ

ที่มา : เดลินิวส์


รู้ก่อนทิ้ง หน้ากากอนามัยใช้แล้วขยะเสี่ยงติดเชื้อ thaihealth


แฟ้มภาพ


นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส "โควิด-19" ในประเทศไทย ได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนสวม ใส่ "หน้ากากอนามัย" อย่างจริงจัง เพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่ระบาดเชื้อจากคนหนึ่งไปสู่อีกหลายคน ส่งต่อกันเป็นทอด ๆ


มีอีกหนึ่งสิ่งที่ทุกคนต้องเรียนรู้ หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว จะกลายเป็น "ขยะติดเชื้อ" เพราะปนเปื้อนสารคัดหลั่งในร่างกาย จึงจำเป็นต้องใช้ "วิธีการกำจัด" อย่างถูกวิธี โดย "กรมอนามัย" กระทรวงสาธารณสุข ระบุ "มูลฝอยติดเชื้อ" (Infectious waste) หมายถึง มูลฝอยที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ ในปริมาณหรือมีความเข้มข้นที่สามารถทำให้เกิดโรคได้ถ้ามีการสัมผัส หรือใกล้ชิดกับมูลฝอยนั้น รวมทั้งวัสดุซึ่งสัมผัส หรือสงสัยว่าจะสัมผัสกับเลือด ส่วนประกอบของเลือด ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเลือด สารน้ำจากร่างกายของมนุษย์ หรือสัตว์


ดังนั้น หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว จึงเข้าข่ายเป็นขยะมูลฝอยติดเชื้อเนื่องจากมีสารคัดหลั่งจากร่างกายมนุษย์ อาทิ การไอ จาม น้ำมูก ทำให้เกิดมีเชื้อโรคหรือเชื้อไวรัสปะปนมาด้วย การทิ้ง การจัดเก็บ และการทำลาย ต้องใช้ขั้นตอนเดียวกับการจัดเก็บขยะมูลฝอยติดเชื้อจากโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยและทิ้งหน้ากากอนามัยให้ถูกวิธี เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการจัดเก็บตามขั้นตอนได้อย่างถูกต้อง


นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม.มีแนวทางจัดการมูลฝอยประเภทหน้ากากอนามัย โดยจัดถังรองรับเฉพาะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ตั้งวางที่สำนักงานเขต 50 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 68 แห่ง และโรงพยาบาลในสังกัด โดยขอความร่วมมือประชาชนแยกทิ้งหน้ากากอนามัยออกจากมูลฝอยทั่วไป ด้วยการพับหน้ากากอนามัยด้านที่สัมผัสใบหน้า เข้าข้างใน เพื่อป้องกันสารคัดหลั่งจากน้ำลายและน้ำมูกแพร่กระจาย ทิ้งใน ถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่น ทั้ง นี้ สำนักงานเขตจะแยกเก็บรวบรวมหน้ากากอนามัยที่ประชาชนแยกทิ้ง เพื่อส่งไปกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะด้วยวิธีการเผาในเตาเผามูลฝอยที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมหรือศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช


สำหรับจุดทิ้งขยะหน้ากากอนามัย ภายในศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) หน้าห้องตรวจโรค สำนักอนามัย ชั้น 1 ฝั่งถนนดินสอ, ส่วนศาลาว่าการ กทม. 2 (ดินแดง) อยู่บริเวณจุดคัดกรอง คือ อาคารสำนักการโยธา บริเวณทางเข้าด้านธนาคารกรุงไทย อาคารสำนักการระบายน้ำ บริเวณทางเข้าด้านห้องละหมาด อาคารธานีนพรัตน์ 2 จุด (ด้านฝั่งถนนวิภาวดีรังสิต และด้านฝั่งวงเวียนน้ำพุ) และอาคาร ไอราวัตพัฒนา บริเวณทางเข้าชั้น B1 ใกล้ลานน้ำพุ


ส่วนกระบวนการจัดเก็บขยะ "ผู้ป่วยโควิด-19" จากโรงพยาบาลต่าง ๆ ทางบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ โดยจัดชุดเฉพาะกิจ แยกเจ้าหน้าที่กับรถในการจัดเก็บไม่ให้ปะปนกับขยะติดเชื้อในที่อื่น ๆ เจ้าหน้าที่ต้องเตรียมชุดป้องกันการสัมผัสขยะติดเชื้อในทุกส่วนของร่างกาย เตรียมน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เมื่อถึงสถานพยาบาลจะสวมใส่ชุดป้องกัน ฉีดพ่นน้ำยาบนร่างกาย รถ และขยะ ก่อนนำขึ้นรถ พร้อมถอดชุดทิ้งไปกับถุงขยะด้วย ซึ่งรถจัดเก็บขยะติดเชื้อจะปิดทึบหมด ควบคุมอุณหภูมิไม่เกิน 10 องศาเซลเซียส


เมื่อถึงโรงงาน เจ้าหน้าที่จะสวมชุดป้องกันชุดใหม่ พ่นน้ำยาฆ่าเชื้ออีกรอบ ก่อนนำขยะเข้าสู่กระบวนการเผา โดยถอดชุดป้องกันทิ้งแล้วเผาไปพร้อมกับขยะ จากนั้นฉีดพ่นน้ำยาที่ร่างกายเป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ ซึ่งการเผาต้องใช้ความร้อนที่อุณหภูมิ 750 องศาเซลเซียส ส่วนขั้นตอนการเผาควันและก๊าซพิษ ที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 1,000 องศาเซลเซียส โดยเศษเถ้าขยะที่เหลือจะนำไปฝังกลบโดยมีเอกชนนำไปดำเนินการตามมาตรฐานต่อไป


นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวว่า วิธีการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้ มีอยู่ด้วยกัน 4 ขั้นตอนง่าย ๆ ประกอบด้วย


1.แยกทิ้งหน้ากากอนามัยออกจากขยะมูลฝอยประเภทอื่น


2.พับหน้ากากอนามัยส่วนที่สัมผัสกับใบหน้าเข้าด้านใน เพื่อป้องกันสารคัดหลั่งจากน้ำมูก หรือน้ำลายแพร่กระจาย


3.ม้วนหน้ากากอนามัยใช้แล้วใส่ถุงที่ปิดสนิทก่อนทิ้งหรือทิ้งในถังขยะที่มีฝาปิด และ


4.ล้างมือทุกครั้งด้วยน้ำสบู่หรือเจลล้างมือหลังทิ้งหน้ากากอนามัย สำหรับประชาชนทั่วไปไม่มีอาการป่วยหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโรค ควรใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้า และมีสำรองอย่างน้อย 2 ผืน ให้ซักทำความสะอาด ตากแดดให้แห้ง เพื่อฆ่าเชื้อทุกครั้ง.

Shares:
QR Code :
QR Code