รำเหย่ยและการละเล่นพื้นบ้าน

 

รำเหย่ยและการละเล่นพื้นบ้าน

 

ในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า โอกาสที่จะได้ชมการละเล่นโบราณที่สะท้อนวัฒนธรรมพื้นถิ่นนั้นหาดูได้ยากเต็มที แต่การมาเยือนตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวนครั้งนี้ เราได้พบกับการละเล่นโบราณ ที่ได้ยินชื่อแล้วไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไร นั่นคือ ‘รำเหย่ย’

รำเหย่ยเป็นประเพณีดั้งเดิมของคนตำบลหนองโรง โดยนิยมละเล่นในช่วงเทศกาล หรืองานรื่นเริงต่างๆ เพื่อผ่อนคลาย สร้างความสนุกสนาน หนุ่มสาวมีโอกาสได้ร้องเกี้ยวกัน การละเล่นรำเหย่ยได้รับความนิยม เนื่องจากไม่ค่อยมีการละเล่นที่เล่นในเวลากลางคืน ประกอบกับเป็นการละเล่นที่ไม่ต้องใช้เครื่องดนตรีที่ยุ่งยาก อาจใช้เพียงแค่กลองยาวเพื่อเพิ่มความครึกครื้น สนุกสนาน หรือใช้เครื่องกำกับจังหวะเพียงชิ้นเดียว หรืออาจใช้วิธีปรบมือแทนก็ได้

สมัยก่อนจะเป็นการเล่นสด (ด้นกลอนสด) ปัจจุบันมักต้องเตรียมบทไว้ก่อน ทั้งนี้ชาวตำบลหนองโรงให้ความสำคัญกับการละเล่นรำเหย่ยโดยสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดสู่กลุ่มเด็ก และเยาวชน รวมถึงให้มีการฝึกซ้อมเพื่อเล่นในเทศกาลต่างๆ ตลอดจนส่งเข้าประกวด จนได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย

การเล่นรำเหย่ยนี้สามารถร้องเล่นด้วยกันได้ไม่จำกัดเพศและวัย อย่างคืนนี้ ก็มีเด็กสาวร้องเล่นกับคุณตา ดูท่าทางสนุกสนาน ดูไปยิ้มไปขำไป เพลินดี

สาเหตุที่รำเหย่ยยังคงอยู่ได้ถึงทุกวันนี้ ก็ด้วยการอนุรักษ์ และสนับสนุนจากสภาวัฒนธรรม ตำบลหนองโรง ซึ่งมีนายเสริม ไคลมี เป็นประธานสภา

สภาวัฒนธรรมฯ จะทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการฟื้นฟู รักษาประเพณีวัฒนธรรมอันดีของตำบลหนองโรง โดยจะมีการประชุมต่อเนื่อง และรับผิดชอบการจัดกิจกรรมฟื้นฟูประเพณี และการละเล่นต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ โดยได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากองค์การบริหารส่วนตำบลหนองโรง และวัฒนธรรมจังหวัด

ยังมีวัฒนธรรมท้องถิ่นอีกหลายรายการที่สภาวัฒนธรรมตำบลได้อนุรักษ์ไว้ดังนี้

ประเพณีร่อยพรรษา

เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เพื่อเป็นการเชิญชวน และกระตุ้นให้คนในตำบลมาร่วมกันทำบุญ โดยจะมีการรวมตัวกันเดินไปบอกบุญตามบ้าน และมีการร้องเพลงเพื่อเชิญชวนให้คนทำบุญไม่ว่าจะเป็นเงิน หรือสิ่งของ โดยไม่ใช้เครื่องดนตรี แต่จะใช้การปรบมือเพื่อให้จังหวะ ทั้งนี้ประเพณีร่อยพรรษาจะเริ่มตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 และเมื่อถึงวันออกพรรษาก็จะนำเงิน และสิ่งของทั้งหมดที่ได้ไปทำบุญที่วัด

การทำขวัญข้าว ขวัญยุ้ง ขวัญลาน

เป็นประเพณีสำคัญของชาวนาที่สืบทอดมาแต่โบราณซึ่งจะกระทำกันในช่วงที่ข้าวตั้งท้อง เพื่อเป็นการขอบคุณแม่โพสพที่ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่ผืนนา มีความเชื่อว่า ถ้าได้มีการทำขวัญข้าว จะไม่ทำให้เมล็ดข้าวล้ม ไม่มีหนอน และสัตว์ต่างๆ มากัดกินต้นข้าว ทำให้ได้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ เมื่อข้าวสุกดีแล้วก็นำไปไว้ที่ลาน เพื่อรอการนวด ซึ่งก็จะมีการขวัญลาน และเมื่อนวดข้าวเสร็จแล้ว ก็จะกำหนดวันนำข้าวขึ้นยุ้งซึ่งชาวบ้านก็จะมาร่วมทำขวัญข้าว ร้องเพลงทำขวัญแม่โพสพเรียกว่า ‘ขวัญ ยุ้ง’

การรำกลองยาว

เป็นประเพณีที่นิยมเล่นกันเนื่องจากจังหวะสนุกสนาน เล่นง่าย นิยมนำไปแสดงในงานรื่นเริง เช่น ขบวนแห่นาค แห่ผ้าป่า กฐิน งานฉลองขบวนขันหมาก มีเครื่องดนตรี ประกอบด้วยกลองยาวหลายขนาด ซึ่งจะให้เสียงต่างกันออกไป มีเครื่องประกอบจังหวะอื่นๆ เช่น ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง และปี่ชวา การโห่ร้อง การรำกลองยาวก่อนจะเริ่มบรรเลงจะมีการโห่สามลา โดยผู้นำวงจะโห่ยาว และลูกคู่จะต้องรับด้วยคำว่า ฮิ้ว

เพลงเต้นกำรำเคียว

เป็นการแสดงพื้นเมืองที่เก่าแก่ของชาวบ้าน ซึ่งมีอาชีพทำนาเป็นหลัก และด้วยนิสัยรักสนุก กับการเป็นเจ้าบทเจ้ากลอน จึงได้เกิดการเต้นกำรำเคียว ในเนื้อเพลงจะสะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้าน โดยในมือของผู้รำข้างหนึ่งจะถือเคียว อีกข้างหนึ่งถือข้าวที่เกี่ยวแล้ว และจะเล่นกันในฤดูเกี่ยวข้าว จะมีผู้เล่นประมาณ 5 คู่ แบ่งผู้เล่นเป็นสองฝ่าย ฝ่ายชาย เรียกว่า พ่อ เพลง ฝ่ายหญิงเรียกว่า แม่เพลง

เพลงพวงมาลัย

มีการสืบทอดหลายชั่วอายุคน โดยเป็นเพลงพื้นบ้านชนิดหนึ่ง เชื่อกันว่ามาจากความเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนของคนไทย ซึ่งนิยมพูดให้คล้องจองกัน มักนิยมเล่นงานประเพณีตรุษสงกรานต์ ซึ่งบรรดาหนุ่มสาวผู้ใหญ่และเด็ก ต่างมาร่วมสนุก เพลงพวงมาลัยยังนิยมขับร้องกันในนาข้าว ไม่ว่าจะเป็นตอนเริ่มหว่านไถ จนถึงการเก็บเกี่ยว โดยนิยมขับร้องเพื่อเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดจากการทำงาน

 

 

ที่มา : ปันสุข

Shares:
QR Code :
QR Code