“รำเหย่ยสานใจ” ไทยดำสร้างสุข
สื่อพื้นบ้านคืนถิ่น
รำเหย่ย การละเล่นพื้นบ้านของอำเภอพนมทวน กาญจนบุรี”รำเหย่ย มีมานานอยู่ที่บ้านรางหวายเอย…” เสียงเด็กชายวัยกำลังโตฟังดูรื่นหูเจื้อยแจ้ว เมื่อเริ่มขับขานบทเพลงพื้นบ้านประจำถิ่น ลูกคู่ร้องรับ และได้รับการตอบกลับด้วยเสียงของเด็กหญิงวัยเดียวกัน ซึ่งทำหน้าที่เป็นแม่เพลง
เสียงแคนประสานเสียงปรบมือเป็นจังหวะจากพ่อเฒ่าแม่แก่ที่นั่งดูลูกหลานด้วยแววตาปลาบปลื้มไม่นานหลังจากนั้น ก็เริ่มการแสดงอีกชุดหนึ่ง เด็กชายหญิงวัยเดียวกันกับเมื่อครู่ในชุดไทยทรงดำ ออกมาวาดลวดลายฟ้อนรำอ่อนช้อยตามจังหวะเพลง
คุณย่าคุณยายหลายคนอดใจไม่ไหวจึงลุกขึ้นมาร่ายลีลาบ้าง สีหน้าของทุกคนบ่งบอกถึงความสนุกสนานครื้นเครง ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ แววตาของเด็กๆ หลายคนบอกถึงความภาคภูมิใจ ไม่รู้สึกว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นเรื่องตกยุคหรือล้าสมัย
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในโครงการ “ไทยดำสร้างสุข รำเหย่ยสานใจ วัฒนธรรมไทยคืนถิ่น” ที่ริเริ่มโดยเทศบาลตำบลรางหวาย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ภายใต้ยุทธศาสตร์ สื่อพื้นบ้านสานสุข โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีจุดมุ่งหมายให้ชุมชนหันกลับมาค้นหาของดีในท้องถิ่น และถ่ายทอดให้แก่บุตรหลาน เพื่ออนุรักษ์ให้สื่อพื้นบ้านเหล่านี้ไม่สูญหายจากไปตามความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่
“ธนู จารุพงษ์” รองนายกเทศมนตรีตำบลรางหวาย เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมเทศบาลรางหวายมียุทธศาสตร์การทำงานเพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอยู่แล้ว และสนใจเข้าร่วมโครงการกับ สสส. เพราะเห็นว่ามีวัตถุประสงค์การทำงานที่ตรงกัน จึงได้เลือกเอาศิลปะการแสดงที่โดดเด่นของรางหวายสองแขนงมาอบรมให้แก่เด็กๆ สองชาติพันธุ์ในพื้นที่
คุณยายสะอิ้ง ปราชญ์ชาวบ้านผู้เปี่ยมพรสวรรค์ เด็กชายหญิงในชุดไทยทรงดำวาดลวดลายฟ้อนรำตามจังหวะเพลง
คือ รำเหย่ยรางหวายสำหรับเด็กชาวไทยในโรงเรียนอนุบาลพนมทวน และฟ้อนแคนไทยดำ สำหรับเด็กๆ ชาวไทยทรงดำที่โรงเรียนบ้านดอนเตาอิฐ ทั้งหมดเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลายรวม 67 คน
สำหรับ “รำเหย่ย” เป็นการละเล่นพื้นบ้านของ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี นิยมร้องเล่นกันในช่วงสงกรานต์ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเกี้ยวพาราสี แต่เพลงเหย่ยที่ร้องกันในรางหวายนั้นมีท่วงทำนองเป็นของตนเอง
ทั้งยังมีเอกลักษณ์คือมี “แคน” เป็นเครื่องดนตรีประกอบ แตกต่างจากรำเหย่ยพนมทวนที่มีเฉพาะกลองยาวคอยให้จังหวะ
“รำเหย่ยนี่เราร้องกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย เราก็ฟังแล้วก็จำมาเรื่อย คำว่าเหย่ยนี่มาจากเขาร้องกันว่า เอย…เยย…เยย…..แล้วก็เพี้ยนมา” คุณยายสะอิ้ง ปราชญ์ชาวบ้านผู้เปี่ยมพรสวรรค์ บอกถึงความเป็นมา
แม้อายุจะล่วงเลยมามากแล้ว แต่ก็ยังมีเรี่ยวแรงเหลือ พร้อมที่จะรับหน้าที่เป็นวิทยากรสอนเด็กๆ เพลงเหย่ยที่คุณยายร้องยังถือว่าเป็นเพลงเหย่ยในแบบฉบับของรางหวายแท้ๆ
คุณตาทองมาก ผู้เป็นวิทยากรสอนฟ้อนแคนไทยดำ บอกว่า “สอนเด็กๆ พวกนี้ไม่ยากหรอก แป๊บเดียวก็เป็นแล้ว แค่เดือนเดียวก็รำปร๋อเลย”
ท่วงท่าของการฟ้อนแคนนั้นถอดมาจากวิถีชีวิตของชาวไทยทรงดำสมัยก่อน เช่น ท่าสอยไข่มดแดง ท่าฟ้อนสาวไหม ฯลฯ ด้วยวิธีการอบรมที่สนุกสนาน ไม่เครียดไม่กดดัน ความชำนาญในการแสดงของพ่อครูแม่ครูมีเสน่ห์ดึงดูดให้เด็กๆ สนใจมาฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง
คุณตาทองมาก วิทยากรสอนฟ้อนแคนไทยดำ
ผลจากการอบรมทุกวันเสาร์ของเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2552 ไม่น่าเชื่อว่าจะทำให้เด็กๆ หลายคนหันมาสนใจและหมั่นฝึกซ้อมการแสดงเหล่านี้อย่างจริงจัง
ที่สำคัญหนูน้อยทั้งหลายยังซึมซับเอารากเหง้าวัฒนธรรมที่จากเดิมเคยมีอยู่แต่ในตัวพ่อครูแม่ครู ทำให้ภูมิปัญญาเก่าแก่ที่เคยขาดหายไปถึงสองชั่วรุ่น กลับฟื้นคืนมาอีกครั้ง จากการริเริ่มของโครงการนี้
“ครูทองสุข ใจกล้า” จากโรงเรียนอนุบาลพนมทวน (วัดรางหวาย) ในฐานะผู้ดูแลนักเรียน ให้ความเห็นว่า ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อเสมอไป
“เราเคยคิดว่าเด็กๆ อาจจะเบื่อ เพราะธรรมดาเพลงเหย่ยจะเป็นเพลงที่ช้าๆ อืดๆ แต่กลับได้เห็นแววตาของความกระตือรือร้นที่จะมาเข้าร่วมกิจกรรม เรารู้ได้เลยว่าเขามีความสุข” ครูสาวยังบอกอีกว่า เด็กๆ ที่เข้าร่วมโครงการนี้มีพัฒนาการทางภาษาและความจำดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะต้องท่องบทเพลงทุกวัน
ด้าน “เด็กชายวรมัน วงษ์แก้ว” ที่ผ่านการอบรมรำเหย่ย บอกว่า รู้สึกขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีที่ทำให้ด้สืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้าน “ผมได้รู้จักเพลงเหย่ย และได้ความสามัคคีกันในหมู่เพื่อน อยากให้มีโครงการแบบนี้อีกครับ”
ส่วน “น้องไอซ์-เด็กหญิงผกามาศ ป้องกัน” จากกลุ่มเดียวกัน บอกว่า “รู้สึกขอบคุณปราชญ์ชาวบ้านที่สอนให้หนูรำและร้องได้ดี หนูได้สืบสานวัฒนธรรมของไทยและรู้จักเพลงเหย่ยของรางหวายว่าแตกต่างจากพนมทวนค่ะ”
ปิดท้ายด้วย “เด็กหญิงนิชาภา สะวงษ์” ที่อยากบอกกับปราชญ์ชาวบ้านทั้งหลายว่า “หนูรู้สึกขอบคุณคุณตาคุณยายค่ะ ที่มาสืบทอดวัฒนธรรมให้กับพวกหนู หนูดีใจมากค่ะ”
ทุกวันนี้เด็กนักเรียนทั้งสองกลุ่มมีกิจกรรมต่างจากเพื่อนๆ จากที่เคยพากันเข้าร้านเกมในช่วงเย็นและวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ก็หันมาจับกลุ่มฝึกซ้อม เด็กๆ ยังมีโอกาสแสดงความสามารถอย่างต่อเนื่องและสามารถสร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ ให้แก่ครอบครัวได้ด้วย
ทางเทศบาลตำบลรางหวายผู้เป็นเรี่ยวแรงสำคัญของงานนี้บอกว่า เทศบาลนั้นให้ความสำคัญกับเยาวชน อยากให้พวกเขารู้สึกว่าตนมีความสำคัญสำหรับท้องถิ่นและเติบโตขึ้นอย่างมีความสุข
ผลพลอยได้จากงานนี้ เป็นการสร้างคุณค่าใหม่ในชีวิตเด็กๆ เป็นความเท่ที่มีพื้นฐานอยู่บนรากเหง้าของตนเอง ที่สำคัญยังทำให้ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนได้ชีวิตชีวากลับคืนมาอีกครั้ง
“ศิลปวัฒนธรรม ไม่ใช่เรื่องที่ควรให้ความสำคัญ แต่เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ” น้ำเสียงย้ำหนักแน่นของรองนายกเทศมนตรีตำบลรางหวาย
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
update: 05-11-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร