ราชภัฏทั่วประเทศผนึกกำลังช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม

ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏผนึกกำลังช่วยเหลือ เยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม ตั้งศูนย์บริการรวมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

รศ.ดร.เปรื่อง กิจรัตน์ภร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ เปิดเผยว่า แม้มหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่งจะประสบปัญหาอุทกภัยได้รับความเสียหายจำนวนมาก แต่ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏก็มีความห่วงใยในวิกฤตครั้งนี้เป็นอย่างมาก ดังนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏแต่ละแห่งจึงได้ให้ความช่วยเหลือบุคลากรและประชาชนในพื้นที่ทุกรูปแบบ นอกจากนี้กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ 40 แห่ง ในนามที่ประชุมอธิการบดีได้ผนึกกำลังกันให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ โดยเบื้องต้นได้มอบเงินช่วยเหลือผ่านรัฐบาลจำนวน 1,200,000.00 บาทให้นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ต.ค.2554  และยังได้ร่วมกันให้บริการที่พักพิงผู้ประสบปัญหาจากอุทกภัยอำนวยความสะดวกอย่างเต็มกำลังความสามารถเท่าที่ทรัพยากรมีอยู่ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ที่พัก ที่จอดรถ ดูแลสวัสดิการ สวัสดิภาพ การสันทนาการ  รักษาพยาบาลทางกาย ทางจิตใจ ตลอดจนการดูแลความสะดวกทุกอย่างเท่าที่จะดำเนินการได้ สถานการณ์ ณ ขณะนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ สามารถรับผู้ประสบภัยน้ำท่วมได้จำนวนมากกว่า 6,000 คนแล้ว

รศ.ดร.เปรื่อง กล่าวอีกด้วยว่า ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏประกาศตั้ง “ศูนย์บริการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ” ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ให้เป็นหน่วยประชาสัมพันธ์กลาง ในการประสานงานและรับแจ้งข้อมูลข่าวสาร ในนามที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏต่อไป สามารถติดต่อ ขอทราบข้อมูลต่างๆโดยตรงตลอด 24 ชั่วโมง ได้ที่ อาคารปิยะมหาราช ตึก 20 ศิลปวัฒนธรรม (ตึกสีชมพู)  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร หมายเลขโทรศัพท์ 0-2544-8456 และ 0-2544-8000 ทั้งนี้ประชาชนที่เดือดร้อนสามารถเลือกพักที่ศูนย์อพยพที่สะดวก ใกล้บ้านได้ดังนี้

•        มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร รับผู้ประสบภัยแล้วจำนวน 1,500 คน  และยังคงสามารถรับบุคลากรในพื้นที่ใกล้เคียงเพิ่มเติมได้อีกเรื่อยๆ

•        มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา รับได้ 1,000 คน หากมีผู้เดือดร้อนเพิ่มมากขึ้นก็สามารถให้บริการได้

•        มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา รับได้ 1,200 คน (อำเภอเมือง 700 คน อำเภอบางคล้า 500 คน)

•        มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม รับได้ 700 คน

•        มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี รับได้ 500 คน (วันนี้ที่พักเต็มแล้ว แต่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้เป็นรายวัน)

•        มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา รับได้ 500 คน

•        มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี รับได้ประมาณ 300 คน โดยพักที่โรงแรมของมหาวิทยาลัยและบ้านพักอาจารย์ เจ้าหน้าที่ เนื่องจากเป็นช่วงเปิดภาคเรียน

•        มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี รับได้ 300 คน

•        มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมรับผู้อพยพ แต่ยังไม่สามารถระบุจำนวนได้

•        หาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตเป็นแหล่งผลิตน้ำดื่มและข้าวสารที่สำคัญให้ศูนย์อพยพต่างๆ วันนี้ก็กำลังลำเลียงน้ำดื่มและข้าวสารมาให้ศูนย์อพยพ

•        มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีให้นักศึกษาวิทยาลัยการท่องเที่ยวนานาชาติที่มาเรียนรู้และฝึกประสบการณ์ที่กรุงเทพมหานคร ร่วมให้บริการช่วยเหลือประชาชนในศูนย์อพยพครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ ใช้เงินรายได้ของตนเองรวมทั้งสิ่งของและเงินที่ได้จากการรับบริจาคของพี่น้องประชาชน และภาคเอกชนต่างๆ ในการดำเนินงานช่วยเหลือให้บริการดังกล่าว การทำงานนอกจากทำงานที่ศูนย์แล้วได้ใช้ระบบเครือข่ายออนไลน์ทุกรูปแบบโดยเฉพาะ e – mail และ facebook รวมทั้งโทรศัพท์ในการประสานงานกับหน่วยงานและผู้มีจิตศรัทธา

นอกจากนี้ยังที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏได้วางแผนช่วยเหลือประชาชนภายหลังน้ำลดในด้านต่างๆ เช่น การซ่อมแซมที่พักอาศัย การบริการด้านสุขภาพ การให้ความรู้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ผู้มีจิตอาสาทั้งประชาชน นิสิต นักศึกษา ที่ประสงค์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภายหลังน้ำลด สามารถมาลงชื่อหรือลงทะเบียนพร้อมรายละเอียดสำหรับการติดต่อกลับที่ อาคารปิยะมหาราช ตึก20  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร หรือ โทร.ศัพท์มาแจ้งที่ศูนย์ได้ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย.2554 เป็นต้นไป ภายหลังน้ำลดยังคงสามารถแจ้งความประสงค์ต่อได้ที่ สำนักงานที่ประชุมอธิการบดี อาคารรัชมังคลาภิเษก 2 ชั้น 5 กระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนินนอก เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทรศัพท์ 0-2280-1902, 0-2221-0528, 0-2280-1345 โทรสาร 0-2280-1902 หรือลงชื่อผ่านเว็บไซต์ ทปอ. www.rajabhatnetwork.com หรือ e-mail ที่ [email protected]

รองศาสตราจารย์ ดร.เปรื่อง กิจรัตน์ภร ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครร่วมกับวัดพระศรีมหาธาตุวรวิหาร บางเขน ตั้งโรงครัวผลิตอาหารแจกจ่าย วันละ 3 มื้อๆ ละมากกว่า 10,000 กล่อง และกำลังต้องการหม้อหุงข้าวตั้งเตาแก๊สที่หุงได้ครั้งละ 5 – 10 กิโลกรัม เพื่อผลิตให้ได้มากที่สุด ใครจะขายก็ยินดีซื้อ หากจะบริจาคก็ยินดีรับ พร้อมทั้งยินดีรับบริจาคอาหารสดสำหรับปรุงในแต่ละวัน เงินค่าใช้จ่ายและอื่นๆตามศรัทธาและกำลัง เนื่องจากยังคงมีผู้ประสบความเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือเยียวยามากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ยินดีรับสมัครนักศึกษาทุกมหาวิทยาลัยที่อยู่ในสถานะที่สามารถให้ความช่วยเหลือประชาชน ณ เวลานี้ได้ เป็นอาสาสมัครให้บริการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ จะเป็นช่วงวันหยุดหรือหลังเลิกเรียนก็ได้ ที่ศูนย์อพยพมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เพราะนอกจากผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่แล้ว ขณะนี้นักศึกษาทุกๆ 1 คน ที่ปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือ ต้องดูแลผู้อพยพมากกว่า 60 คน
 
หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ

ศูนย์บริการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ   มีดังนี้

มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ โทร. 0-2909-1428 ม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา โทร. 03-5322-0769 ม.ราชภัฏธนบุรี โทร. 08-9895-0332 ม.ราชภัฏราชนครินทร์ ฉะเชิงเทรา (อ.เมือง 700 คน อ.บางคล้า 500 คน) โทร.  08-9700-1113 ม.ราชภัฏเทพสตรี ลพบุรี โทร. 08-9808-8393 ม.ราชภัฏนครสวรรค์ โทร. 08-1707-7910 ม.ราชภัฏสวนสุนันทา 1,000 คน โทร. 0-2160-1000 และ 0-2160-1023 ม.ราชภัฏพระนคร 1,000 คน โทร. 0-2544-8456 ม.ราชภัฏนครปฐม 700 คน โทร. 08-1556-7944 ม.ราชภัฏเพชรบุรี 500 คน กรุณาตรวจสอบเป็นรายวันที่ โทร. (032) 493-307 ม.ราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง 300 คน  ม.ราชภัฏกาญจนบุรี 300 คน  ยังไม่ระบุจำนวน

ทั้งนี้ศูนย์บริการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ  ที่มี ม.ราชภัฏพระนครเป็นศูนย์กลาง ขอให้ผู้ที่มีความประสงค์จะใช้บริการ หรือ สมัครเป็นอาสาสมัคร หรือ ต้องการร่วมบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ติดต่อได้รายละเอียดตามหมายเลขโทร.ศัพท์ 0-2544-8456 และ 0-2544-8000  ม.ราชภัฏพระนคร ได้ 24 ชั่วโมง  หรือที่ผู้ประสานงาน อาจารย์จุไร วรศักดิ์โยธิน 08-1816-2829  ผศ.ดร.จิตราภา กุณฑลบุตร 08-6322-9056 คุณทัศนา ปิ่นทอง 08-4005-5754 คุณภัชนีภรณ์ หิรัญราช 08-7035-0054 และ คุณชัยยุทธิ์ ดำคราม 08-8490-6768  ณ ศูนย์บริการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมตั้งที่อาคารปิยะมหาราช ตึก20 ศิลปวัฒนธรรม (ตึกสีชมพู) ในมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร  หมายเลขโทรศัพท์ 0-2544-8456 และ 0-2544-8000

 

 

ที่มา : ทีม content www.thaihealth.or.th

Shares:
QR Code :
QR Code