`ราชบุรี` ต้นแบบเมืองสุขภาวะ
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
แฟ้มภาพ
"เมืองโอ่งราชบุรี" เป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมาย นอกเหนือจากความสวยงามของธรรมชาติแล้วยังมีแหล่งโบราณสถานอย่างคูบัว วิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีดีงามมีแหล่งผ้าทอเลื่องชื่อผ้าทอคูบัว ในเวลาเดียวกันผู้คนก็ใส่ใจให้ความสนใจกับชุมชนของตนเอง โดยการผนึกกำลังร่วมกับหลายภาคส่วนจนพัฒนากลายเป็นเมืองแห่งสุขภาวะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนแบบบูรณาการ
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศาลากลางจังหวัดราชบุรี ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วย นายวีรัส ประเศรษโฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี และ รศ.ดร.ชะนวน ทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) "การส่งเสริม สนับสนุนขับเคลื่อน และพัฒนาต้นแบบ จังหวัดราชบุรีสู่การเป็นเมืองแห่งสุขภาวะ"
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวถึงการทำงานด้านสุขภาวะในพื้นที่ ว่า จังหวัดราชบุรีเป็นศูนย์กลางของภาคตะวันตก มีความหลากหลายทั้งด้านภูมินิเวศ สังคมวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ รวมถึงความหลากหลายของปัญหาด้านสุขภาวะ จึงได้เริ่มดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาวะตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 จนในปี พ.ศ.2558 สสส. ได้เข้าไปสานต่อในการสร้างเสริมสุขภาวะและมุ่งเน้นให้จังหวัดราชบุรีเป็นพื้นที่ต้นแบบของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายอย่างน้อย 10 เรื่องสุขภาวะ ได้แก่ 1.ลดการสูบบุหรี่ 2.ลดการดื่มสุรา 3.ลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร4.ลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในหญิงตั้งครรภ์ 5.เพิ่มการทานผักผลไม้ 6.เพิ่มการมีกิจกรรมทางกาย 7.ลดภาวะอ้วนในเด็ก 8.ครอบครัวอบอุ่น 9.ชุมชนเข้มแข็ง และ 10.ให้ประชาชนมีความสุข ซึ่งนำร่องใน 8 ตำบล 3 อำเภอ นอกจากนี้ สสส. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการประสานพลังที่เข้มแข็งของจังหวัดราชบุรี และมุ่งหวังให้จุดเริ่มต้นในครั้งนี้ ขยายพลังต่อไปยังจังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทย
จากความคืบหน้าของการนำร่องเล็ก ๆ ที่สวนผึ้ง สู่การพัฒนาจนเติบโตมาถึงปัจจุบันที่ดำเนินการใน 10 อำเภอ 12 ตำบล นายวีรัส ประเศรษโฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานเพื่อพัฒนาจังหวัดราชบุรีให้เป็นเมืองที่มีสุขภาวะที่ดีว่า ได้ผ่านการร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกิดขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกันในทุกอำเภอ จังหวัดราชบุรีสนับสนุนแนวคิดเมืองแห่งสุขภาวะอย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาทรัพยากรด้านมนุษย์ อันเป็นต้นทุนสำคัญที่จะขับเคลื่อนแนวคิดด้านสุขภาวะ อีกทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้มอบองค์ความรู้ บุคลากร และทีมงานที่พร้อมจะผลักดันขับเคลื่อนแนวคิดนี้ออกไป การสนับสนุนจาก สสส. และคณาจารย์จากคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ช่วยกันขับเคลื่อนอย่างมีทิศทาง และเผยแพร่ผลในเชิงปฏิบัติให้ประชาชนได้รับทราบ ทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น โรคภัยไข้เจ็บลดน้อยลง เด็กและเยาวชนมีการศึกษาที่ดีขึ้น บ้านเมืองสะอาด ซึ่งตรงกับวิสัยทัศน์ของจังหวัดราชบุรี
"สำหรับการดำเนินงานในจังหวัดราชบุรี สู่เมืองสุขภาวะในปี 2561 – 2562 มีพื้นที่เป้าหมายดำเนินการตำบลสุขภาวะ 12 ตำบลในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ ต.ดอนทราย ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ,ต.ธรรมเสน ต.เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม, ต.วัดเพลง อ.วัดเพลง,ต.บ้านคา อ.บ้านคา, ต.ปากช่อง อ.จอมบึง, ต.เบิกไพร อ.บ้านโป่ง,ต.วัดแก้ว อ.บางแพ, ต.แพงพวย อ.ดำเนินสะดวก, ต.ท่าเคยอ.สวนผึ้ง, ต.คุ้งน้ำวน อ.เมือง และพื้นที่เป้าหมายดำเนินการอำเภอสุขภาวะ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.โพธาราม, อ.จอมบึงและอ.วัดเพลง ซึ่งจะขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ที่เข้าใจ บริบทการทำงานของพื้นที่เป็นอย่างดี" รองผู้ว่าฯจังหวัดราชบุรีสรุป
ในส่วนของสาธารณสุขจังหวัด นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณายกร่างขับเคลื่อนราชบุรีเมืองสุขภาวะ กล่าวย้อนถึงการทำงานด้านสุขภาวะ ในปี 2558 ว่าจังหวัดราชบุรี ร่วมกับ สสส. และคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ขยายความร่วมมือการทำงานด้านสุขภาวะให้มีความครอบคลุมทุกพื้นที่ ทุกมิติ ให้จังหวัดราชบุรีกลายเป็นเมืองแห่งสุขภาวะ ภายใต้วิสัยทัศน์ ราชบุรี เมืองสังคมดี มีความสุข ใส่ใจสิ่งแวดล้อม น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสาธิตพื้นที่สุขภาวะตามเป้าหมาย 10 ปี สสส. และเป็นเป้าหมายของคนราชบุรีที่มุ่งพัฒนาให้มีระบบบริหารจัดการสุขภาวะแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกันและจะดำเนินงานผ่านศูนย์ประสานงานสุขภาวะจังหวัดราชบุรี