ราชบุรีเมืองน่าอยู่ มุ่งสู่สังคมสุขภาวะ

การร่วมมือร่วมใจกันอย่างเข้มแข็งของคนในชุมชน ที่ต้องการเห็นทุกคนในจังหวัดมีสุขภาวะที่ดี ทำให้ “ราชบุรี” กำลังจะกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่จังหวัดนำร่องของโครงการบูรณาการสร้างเสริมสุขภาวะ จ.ราชบุรี เนื่องจากโรงพยาบาลสวนผึ้ง สำนักงานประสานโครงการบูรณาการสร้างสุขภาวะ จ.ราชบุรี ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ร่วมกับภาคีเครือข่ายใน จ.ราชบุรี ขับเคลื่อนการสร้างสังคมสุขภาวะให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งพัฒนากระบวนการ แนวทาง และการบูรณาการให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาวะ เพื่อให้คนในจังหวัดมีสุขภาวะที่ดี

จากเวทีการประชุมหารือ แลกเปลี่ยน ความคิดเห็นของคณะกรรมการ เพื่อหาเป้าหมายแนวทางที่ชัดเจนร่วมกัน ในการบูรณาการ และการดำเนินงานในพื้นที่ โดยใช้ ‘แผนที่ทางยุทธศาสตร์’ จึงเกิดหลักการดำเนินงานด้านสุขภาวะ จ.ราชบุรี 3 ประเด็นด้วยกันคือ การปรับเปลี่ยนปลอดอบายมุข การปรับเปลี่ยนบทบาทเยาวชนด้านการสร้างสุขภาวะ และ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม

โดยมีการแบ่งพื้นที่การทำงาน เป็น 4 พื้นที่ พื้นที่แรกคือ โซนบ้านโป่ง โพธาราม บางแพ จะทำงานเกี่ยวกับการ ลด ละ เลิก อบายมุข และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยสร้างแกนนำเยาวชนขึ้นมา มีการจัดตั้ง ‘ชมรม’ เพื่อเป็นเหมือนที่ปรึกษาให้กับเยาวชนหรือประชาชนเกี่ยวกับการลด ละ เลิกอบายมุข รวมถึงก่อตั้งกลุ่มจิตอาสา เพื่อให้คนในชุมชนช่วยกันดูแลรักษาแม่น้ำลำคลอง ด้าน โซนเมือง วัดเพลง ทำงานเกี่ยวกับการเกษตรอินทรีย์ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนมีการบริโภคที่ปลอดภัย รวมถึงลดการใช้สารเคมีภายในชุมชน เช่น การปลูกพืชผัก ปลูกข้าวที่ปลอดสารพิษ เป็นต้น

ส่วน โซนปากท่อ ดำเนินสะดวก มีการสร้างศูนย์เรียนรู้เยาวชนขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และอบายมุข รวมถึงเป็นที่ปรึกษาให้กับเยาวชนในเรื่องต่างๆ อย่างเช่น การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร และการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  และ โซนสุดท้ายคือ โซนจอมบึง สวนผึ้ง บ้านคา เน้นการทำงานร่วมกันของวัด โรงเรียน ชุมชน ท้องถิ่น และครอบครัว เกี่ยวกับการอนุรักษ์ผืนป่าต้นน้ำของทั้ง 3 พื้นที่ และการลดภาวะโลกร้อน โดยให้เยาวชนเป็นผู้ขับเคลื่อน

นอกจากนี้ ภายในชุมชนยังมีตลาดชุมชนทุกวันพุธชื่อว่า “ตลาดบ้านสีเขียวเพื่อเยาวชนสีขาว” ซึ่งเป็นตลาดที่ให้คนในหมู่บ้านนำผลผลิตของตน อย่างพืชผักสวนครัวมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในราคาถูก ปลอดภัย และทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนภายในชุมชนอีกด้วย

ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยว่า คนในชุมชน จ.ราชบุรี มีหลักความคิดตั้งต้น และจุดคิดดี จึงเข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงของการบูรณาการ คนในชุมชนต่างแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เกี่ยวกับการทำงานด้านสุขภาวะต่างๆ อย่างจริงจัง จากคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เพราะต่างมีบทบาทที่หลากหลาย ก็รู้จักกันมากขึ้น เมื่อเริ่มทำงานร่วมกันจึงเกิดความยืดหยุ่น ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งในการทำงาน

จุดแข็งด้านที่สองคือ คนในชุมชนมีการเชื่อมโยงและประสานงานที่ดีอย่างทั่วถึง มีการพิจารณาจัดแบ่งโซนพื้นที่การทำงาน เพื่อให้เกิดความชัดเจนและทำงานได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังเริ่มปลูกฝังเยาวชนรุ่นต่อๆ ไป เพื่อให้การทำงานด้านสุขภาวะเป็นไปอย่างยั่งยืนด้วย

ด้าน สมพร ใช้บางยาง ประธานอนุกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อนการบูรณาการ บอกว่า เมื่อก่อนการทำงานบูรณาการพื้นที่เป็นแบบต่างคนต่างทำ จึงทำให้ผลการทำงานเป็นไปอย่างไม่ชัดเจน  ดังนั้นภาคีเครือข่ายจึงร่วมมือกันปรับทิศทางการทำงานบูรณาการ เพื่อให้คนในชุมชนมีสุขภาวะที่ดีขึ้น โดยขยายพื้นฐานการสร้างสุขภาวะจากชุมชนเป็นจังหวัด เพื่อให้การทำงานเป็นระบบ เห็นภาพชัดเจน และยั่งยืนมากขึ้น

“สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ คนในชุมชนมีหลักความคิดแน่วแน่ในการทำงานร่วมกัน  และมีการจัดโครงสร้างการทำงานสุขภาวะที่เด่นชัด จึงทำให้ จ.ราชบุรีมีความเข้มแข็งมากขึ้น” สมพรบอกทิ้งท้าย

 

 

เรื่องโดย : พิมพ์ชนก ศรเพชร team content www.thaihealth.or.th

Shares:
QR Code :
QR Code