ราชครามโมเดลสอนเด็กเล็กให้เก่ง-ดี-สมวัย
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากเว็บไซต์คมชัดลึก
เพราะเด็กๆ ที่พร้อมจะงอกงามเป็นต้นไม้ใหญ่ที่สมบูรณ์ เปรียบเสมือนต้นกล้าน้อยๆ แม้เขาจะมาต่างที่กันแต่เมื่ออยู่แปลงเดียวกัน ก็เป็นหน้าที่ของ ศูนย์เด็กเล็กบ้านราชคราม ต้องหมั่นรดน้ำ ดูแล ใส่ปุ๋ย พรวนดินดูแลให้เติบโตอย่างเต็มที่ เป็นเรื่องที่พ่อแม่ ผู้ปกครองหวังจะได้เห็น การจัดการศึกษาจึงต้องควบคู่กับการอบรมเลี้ยงดูเด็ก ให้มีพัฒนาการตามวัยที่สมบูรณ์ทั้งในด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคมและสติปัญญา มีครูคอยดูแลใกล้ชิด
ครูพะเยาว์ ศรีประพันธ์ รักษาการหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านราชคราม เล่าว่า ปี 2526 "ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านราชคราม" (ศพด.บ้าน ราชคราม) อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อาศัยพื้นที่โรงเรียนวัดเชิงเลน เป็นสถานรับเลี้ยงเด็ก ก่อนขยับขยายในปี 2530 มาใช้อาคารสภาตำบล มีครู 1 คน มีเด็กเล็ก 35 คน เมื่อเด็กเพิ่มมากขึ้น สถานที่ไม่พอรองรับ ในปี 2550 ได้ย้ายมาอยู่ภายในบริเวณวัดเชิงเลน ดำเนินการมาถึง 34 ปี
ครูพะเยาว์ บอกว่า ปัจจุบัน ศพด.บ้านราชคราม สอนระดับอนุบาล 1-3 อายุ 3-5 ปี มีเด็กในการดูแล 173 คน ครู 10 คน แต่ละปีจะรับเด็กใหม่ระดับอนุบาล 1 แค่ 50 คนเท่านั้น เพราะจะได้ดูแลเด็กได้ใกล้ชิด กิจวัตรประจำวันของเด็กๆ เมื่อมาเรียน เริ่มตั้งแต่สวัสดีทักทายครูหน้าประตู จากนั้นจะไปยังห้องคัดกรองสุขภาพถ้ามีไข้ก็จะให้พ่อแม่รับกลับหรือส่งต่อไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)
แต่ถ้าเด็กปกติก็เข้าห้องเรียนเก็บกระเป๋า ซึ่งจะมีมุมหนังสือ มุมของเล่นให้เลือกเล่น หรือบางคนก็ทำกิจกรรมอื่นๆ แต่จะมีครูคอยดูแลใกล้ชิด ยังมีกระบวนการสอนที่ให้เด็กเรียนรู้เรื่องสุขภาวะ ความมีระเบียบวินัย เช่น การล้างมือ 7 ขั้นตอน การรู้จักแยกขยะ การเดินเรียงแถวเข้าห้องเรียน หรือไป โรงอาหาร เป็นต้น
ไม่แปลกใจเมื่อได้เห็น ภาพเด็กๆ เดินเรียงแถวก้มตัวเมื่อผ่านผู้ใหญ่ ยกมือไหว้ขอบคุณเมื่อรับถาดอาหาร ไปจนถึงเก็บแปรงสีฟันและแก้วน้ำ ในตำแหน่งที่มีผ้าเช็ดหน้าและรูปของตนเองอยู่อย่างเป็นระเบียบ โดยที่ครูไม่ต้องคอยเตือนจึงเป็นธรรมชาติ
ครูพะเยาว์ อธิบายด้วยว่า ส่วนการเรียนการสอนเน้นพัฒนาที่เหมาะสมตามวัย ออกแบบและจัดกลุ่มเป็น 4 สาระ คือ ร่างกายเด็ก, บุคคลและสถานที่แวดล้อมเด็ก เช่น ครอบครัว บ้าน โรงเรียน วัด, ธรรมชาติรอบตัว และสิ่งรอบตัวเด็ก ซึ่งเด็กอนุบาล 1-3 เรียนเหมือนกันแต่จะเพิ่มความ ซับซ้อนไปในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ก็จะ บูรณาการและเพิ่มความซับซ้อนในระดับที่สูงขึ้น ส่วนด้านวิชาการที่เป็นพื้นฐานเรียนต่อระดับประถมศึกษาจะเพิ่มพิเศษในระดับอนุบาล 3 โดยกิจกรรมต่างๆ ถูกสอดแทรกให้เด็กเรียนรู้ ผ่านกระบวนการ "Site Visit ต้นไม้เพื่อการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย"
ประกอบด้วย "ต้นไม้ 12 ต้น" โดยต้นแรก ด้วยรักและห่วงใย ต้นที่สอง แหล่งเรียนรู้ปลอดภัย ต้นที่สาม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม คัดแยกขยะ ต้นที่สี่ เตรียมการสู่การพัฒนา ได้แก่ จัดกิจกรรมนอกห้องเรียน ส่งเสริมการกล้าแสดงออก ต้นที่ห้า อาหารถูกหลัก ต้นที่หก สวนผักปลอดสาร ต้นที่เจ็ด เน้นด้านอนามัย สุขภาพดีเริ่มที่ล้างมือ ต้นที่แปด สนใจการเรียนรู้ เคียงคู่คุณธรรม ต้นที่เก้า คุณครูช่วยเสริม เพิ่มพัฒนาการ ต้นที่สิบ เพิ่มพูนปัญญา ใฝ่หาความรู้ ใส่ใจสุขภาพ ต้นที่สิบเอ็ด พัฒนากายใจ ต้องมีวินัย มีคุณธรรม น้อมนำการละเล่นไทย ใส่ใจสุภาพ และต้นที่สิบสอง ร่วมแก้ไขและพัฒนาศูนย์ ประชุมวางแผนเพื่อพัฒนาศูนย์ให้พัฒนากว่าเดิม
ผลสัมฤทธิ์ที่ตัวเด็กไม่ใช่แค่เก่ง แต่ต้องมีวินัย คุณธรรม สำคัญต้องมีความสุข ถ้าจะไปจุดนั้นให้ได้ครู บุคลากรก็ต้องพัฒนาตนเองเสมอ เพื่อนำองค์ความรู้นั้นมาถ่ายทอดให้แก่เด็ก…
"ทุกเย็นวันศุกร์ครูจะมาประชุมกันว่างานที่รับผิดชอบ เช่น วิชาการ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ใครเจอปัญหาอุปสรรคใด จะได้ร่วมกันคิดและแก้ไข จากที่ผ่านมาพี่อาจจะเป็นหลักที่ต้องแก้ปัญหา แต่เมื่อนำแนวทาง "ราชครามโมเดล" มาใช้ที่ผู้บริหาร ครู/ผู้ดูแลเด็ก คณะกรรมการศูนย์เข้ามามีส่วนร่วมทำงานอย่างเป็นระบบ และได้หน่วยงานอื่นๆ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาให้คำแนะนำ ตอนนี้การบริหารจัดการเป็นระบบชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกัน ครูที่ศูนย์จะสลับกันไปอบรมเรียนรู้งานวิชาการ ที่เกี่ยวกับด้านการสอนและการพัฒนาเด็กปฐมวัย นำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้เด็ก" ครูพะเยาว์ กล่าว
อาคารสถานที่อีกองค์ประกอบที่ช่วยส่งเสริม สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ศพด.บ้านราชคราม เป็นโรงเรียนที่สร้างด้วยพลังชาวราชคราม วัด-หน่วยงานในท้องถิ่น-ชุมชน โดยเจ้าอาวาสวัดเชิงเลน เป็นแกนนำหลัก "พระครูสุวัฒน์บุญโญภาส" เจ้าอาวาสวัดเชิงเลน กล่าวว่า อาคารแห่งนี้สร้างด้วยพลังศรัทธาที่วัดเชิงเลนร่วมกับเทศบาลตำบลราชครามและชาวบ้านร่วมกันบริจาคเงินก่อสร้างฯ โดยอาตมาได้ร่วมในการออกแบบ ตั้งใจให้อาคารแห่งนี้เกิดประโยชน์ทั้งต่อการพัฒนาคุณภาพเด็กเล็ก ซึ่งเป็นลูกหลานของเราชาวราชครามและชุมชนก็มาใช้ได้
สำหรับรูปแบบเป็นอาคาร 2 ชั้น จำนวน 4 หลังเชื่อมต่อกัน มีโรงอาหาร 1 หลัง อาคารอเนกประสงค์ 1 หลัง มีสนามเล่นกลางแจ้ง ล้อมรอบเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม พื้นที่ตรงกลางมีสนามหญ้า สวนหย่อม ฯลฯ เน้นให้มีความร่มรื่น บรรยากาศเหมือนอยู่บ้านให้เด็กได้มีความสุข ที่สำคัญต้องปลอดภัยกับเด็กๆ ภายในอาคารเรียนก็จะมีการหุ้มเบาะตามเสาต่างๆ ป้องกันเวลาเด็กวิ่งเล่น ไม่ชนจนเกิดบาดเจ็บ ได้รับการดูแลในทุกด้านทั้งความรู้ ทักษะต่างๆ ที่เหมาะสม
ผู้ปกครอง "ศิรินภา จันทา" คุณแม่ที่นำลูกทั้ง 2 คนลูกมาเรียนที่ศูนย์เด็กเล็กฯ บอกชัดว่า ตอนนี้มีแค่น้องป๋อ ที่กำลังเรียนชั้นอนุบาล 2 ส่วนคนโต น้องปั๋มจบไปแล้วกำลังเรียนอยู่ ป.2 เลือกให้ลูกเรียนที่ศูนย์นี้ เป็นความตั้งใจแต่แรกว่าถ้ามีลูกจะให้มาเรียนที่นี่ เพราะเห็นการพัฒนามาตลอดจากทุกฝ่ายที่มาร่วมกันดูแลเด็กๆ ทั้งคุณภาพ อาคาร สถานที่ปลอดภัย ฝึกเด็กให้มีระเบียบวินัย สุขภาพร่างกายแข็งแรงทำให้มั่นใจ
"เด็กมีพัฒนาในหลายเรื่อง อย่างน้องป๋อ ก็จะมีเรื่องใหม่ๆ ที่เขาเรียนมาเล่าตอนกลับบ้าน เช่น มาบอกว่าป๋อจะอาบน้ำแต่งตัวเอง ไม่ต้องอาบให้ ครูสอนมาแล้ว หรือมาบอกว่าจะเลิกดูดนมจากขวดแล้วนะ ครูบอกว่าจะทำให้ฟันผุ เป็นต้น ก็สะท้อนให้เห็นการดูแล สอนให้รู้จักช่วยเหลือตัวเองได้ สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นพื้นฐานติดตัวน้องไปเมื่อโตขึ้น" คุณแม่ลูกสอง กล่าว
"การจัดการศึกษาปฐมวัย" เป็นการพัฒนา จากรากฐานมาสู่ความยั่งยืน ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ถ้าผู้ใหญ่และชุมชนเห็นความสำคัญของ "เด็ก" จะไปได้ดีแน่นอน