รางวัลพระราชทาน ‘รู้เท่าทันสื่อออนไลน์ อย่าปล่อยให้เหล้า-บุหรี่มาลวงเรา’

ที่มา : แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.


ภาพประกอบจากแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.


รางวัลพระราชทาน \'รู้เท่าทันสื่อออนไลน์ อย่าปล่อยให้เหล้า-บุหรี่มาลวงเรา\' thaihealth


โครงการปิ๊งส์ สสส. มอบรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้สุดยอดผลงานในโครงการประกวดสื่อเพื่อการรณรงค์ หัวข้อ “รู้เท่าทันสื่อออนไลน์ : อย่าปล่อยให้เหล้า-บุหรี่มาลวงเรา” หลังมีเด็กและเยาวชนส่งผลงานคลิปสั้นและมิวสิควีดิโอเข้าร่วมกว่า 100 ผลงาน และมีเพียง 30 ผลงานเท่านั้นที่ผ่านเข้ารอบ ซึ่งผลงานทั้งหมดจะถูกนำไปเผยแพร่เพื่อรณรงค์สร้างและปลูกฝังการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ เช็คก่อนแชร์ ชัวร์หรือมั่ว ถูกต้องและเป็นธรรม ก่อนเชื่อ-กระจายออกสู่สังคมด้วยสติให้เด็กและเยาวชนทั่วประเทศในทุกๆ ช่องทางต่อไป


(วันที่ 5 มิถุนายน 2561) นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันคนส่วนใหญ่หันไปใช้โทรศัพท์มือถือในการรับข่าวสารผ่านสื่อโซเชียลมีเดียเป็นหลักมากกว่าดูโทรทัศน์หรืออ่านจากหนังสือพิมพ์ และจากการรวบรวมสถิติการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกของ “We Are Social” ดิจิทัลเอเยนซี่ และ “Hootsuite” ผู้ให้บริการระบบจัดการ Social Media และ Marketing Solutions พบว่า คนไทยใช้เวลาเข้าอินเทอร์เน็ตต่อวันมากที่สุดในโลก โดยกรุงเทพมหานครยังคงครองแชมป์เมืองที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก(Facebook) รวมทุกอุปกรณ์มากสุดในโลกด้วยเช่นกัน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 9 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน และถ้าวัดเฉพาะการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟนต่อวันมากที่สุดในโลก โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ชั่วโมง 56 นาที นอกจากนี้คนไทยยังใช้เวลาในการเล่น Social Media โดยเฉลี่ย 3 ชั่วโมง 10 นาทีต่อวัน และใช้เวลาไปกับการดูทีวี (Broadcast, Streaming, Video On Demand) ไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง 3 นาทีต่อวัน ซึ่งกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 17-36 ปี มีการใช้งานในช่วงวันทำงานหรือวันเรียนหนังสือเฉลี่ย 7.12 ชั่วโมงต่อวัน และมากถึง 7.36 ชั่วโมงต่อวันในช่วงวันหยุด โดยกิจกรรมที่นิยมทำเมื่อใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การใช้โซเชียลมีเดีย (86.9%) การค้นหาข้อมูล (86.5%) การรับส่งอีเมล (70.5%) การดูทีวีและฟังเพลงออนไลน์ (60.7%) และการซื้อสินค้าออนไลน์ (50.8%) โดยโซเชียลมีเดียที่คนไทยนิยมใช้มากที่สุด ได้แก่ ยูทูป (97.1%), เฟซบุ๊ก (96.6%), ไลน์ (95.8%), อินสตาร์แกรม (56%), พันทิพย์ (54.7%), ทวิตเตอร์ (27.6%) และวอชแอป (12.1%)


รางวัลพระราชทาน \'รู้เท่าทันสื่อออนไลน์ อย่าปล่อยให้เหล้า-บุหรี่มาลวงเรา\' thaihealth


“เพื่อให้เด็ก เยาวชน และคนในสังคมรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ โครงการปิ๊งส์ โดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. จึงร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดโครงการประกวดสื่อเพื่อการรณรงค์ หัวข้อ “รู้เท่าทันสื่อออนไลน์ : อย่าปล่อยให้เหล้า-บุหรี่มาลวงเรา” ในประเภทคลิปสั้นและมิวสิควิดีโอขึ้น จากการประกาศเปิดรับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีผลงานส่งเข้าร่วมกว่า 96 ผลงาน และมีเพียง 30 ผลงานที่ผ่านเข้ารอบ โดยแบ่งเป็นคลิปสั้น 23 ผลงาน มิวสิควีดีโอ 7 ผลงาน ซึ่งผลงานทั้งหมดนี้จะถูกนำไปเผยแพร่เพื่อรณรงค์สร้างและปลูกฝังการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ เช็คก่อนแชร์ ชัวร์หรือมั่ว ถูกต้องและเป็นธรรม ก่อนเชื่อ-กระจายออกสู่สังคมด้วยสติ ตามหลักประตู 5 บาน ของการรู้เท่าทันสื่อ อาทิ เอ๊ะ, อุ๊ย, โอ๊ะโอ๋, อี๋ และอ๋อ คือต้อง ..เอ๊ะ ก่อนอย่าเพิ่งเชื่อสื่อ ต้องสงสัยและตั้งคำถามสงสัยแล้วคิดวิเคราะห์ให้รู้ความจริงก่อนว่าคืออะไรเสียก่อน, ..อุ๊ย เมื่ออุ้ยแล้วอย่าเพิ่งชอบ ต้องรู้ทันว่าสื่อมักทำให้ชอบ โดยจงใจให้รู้สึกสนุกและคล้อยตาม เราต้องวิเคราะห์สื่อ การแยกแยะองค์ประกอบในการนำเสนอก่อนว่าสื่อมีวัตถุประสงค์อะไร จากนั้นต้อง ..โอ๊ะโอ๋ อย่าเพิ่งโอ๊ะโอ๋ เพราะรู้สึกว่าถูกดึงดูดใจ สื่อมักใช้เทคนิคหลากรูปแบบเพื่อดึงดูดใจให้จดจำ เช่นใช้การ์ตูนสนุกๆ มานำเสนอ ต่อมารู้จัก..อี๋ เพราะต้องรู้ว่าเจตนาของสื่อคือแอบแฝงผลประโยชน์บางอย่างเสมอ ไม่ว่าจะทำให้อยากดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ตามตัวแสดง หรืออยากซื้อสินค้าของเขาบ่อยๆ แล้ว ..อ๋อ จะเกิดขึ้นได้ถ้ารู้จักแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยเหตุผลที่ต่างกัน แล้วการรู้เท่าทันสื่อก็จะเกิดขึ้น” นายดนัย หวังบุญชัย กล่าว


รางวัลพระราชทาน \'รู้เท่าทันสื่อออนไลน์ อย่าปล่อยให้เหล้า-บุหรี่มาลวงเรา\' thaihealth


นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวต่อว่า จากผลงานที่เข้ารอบทั้งหมดได้รับการตัดสินจากคณะกรรมการ ปรากฏว่า ในประเภทคลิปสั้นผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ผลงานเรื่องSa-ti ทีม Art’ Gallery จากมหาวิยาลัยศรีปทุม, รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ผลงานเรื่องUnreason-ขาดสติ ทีม Prologue Film จากโรงเรียนชลกันยานุกูล, รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ผลงานเรื่องปลอม ทีม Box film production จากโรงเรียนสตรีอ่างทอง และ รางวัลชมเชย ได้แก่ผลงานเรื่องหลงรวย ออนไลน์ ทีม ATT Production จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ส่วนในประเภทมิวสิควิดีโอ จากการตัดสินของคณะกรรมการไม่มีผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศอันดับที่ 1 โดยรางวัลสูงสุดของประเภทนี้ได้แก่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ซึ่งผลงานที่ได้ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 มี 2 ผลงานได้แก่ ผลงาน เพลงเอ๊ะ! อะไรยังไง ทีม Cheu Di จากโรงเรียนตราษตระการคุณ และผลงานเพลง believe it or not ทีม Matchstick Production จาก วิทยาลัยนานาชาติมหิดล และ รางวัลชมเชย ได้แก่ผลงานเพลงแอลกอฮอล์ ทีมTHRIVE จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สำหรับ รางวัลสูงสุดจากการประกวด ในครั้งนี้คือ Best of the best ซึ่งจะได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยการนำผลงานของเด็กและเยาวชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศของทั้งสองประเภท มาลงคะแนนอีกครั้ง ซึ่งทีมที่ได้รับรางวัลนี้คือผลงานเรื่องSa-ti ทีม Art’ Gallery จากมหาวิยาลัยศรีปทุม สำหรับผลงานทั้งหมดที่ได้ในโครงการนี้จะถูกนำไปเผยแพร่เพื่อรณรงค์ ปลูกฝัง และสร้างการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ เช็คก่อนแชร์ ชัวร์หรือมั่ว ถูกต้องและเป็นธรรม ก่อนเชื่อ-กระจายออกสู่สังคมด้วยสติให้เด็กและเยาวชนทั่วประเทศในทุกๆ ช่องทาง ซึ่งสามารถติดตามผลงานทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์ www.artculture4health.com, www.Pings.in.th


รางวัลพระราชทาน \'รู้เท่าทันสื่อออนไลน์ อย่าปล่อยให้เหล้า-บุหรี่มาลวงเรา\' thaihealth


เกี่ยวกับผลงาน นายประพัฒน์ คูศิริวานิชกร (Director & creative บริษัท Duck ba doo จำกัด) ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของมิวสิควีดิโอให้กับศิลปินมากมาย กล่าวว่า ทุกวันนี้แม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปมากแต่เด็กและเยาวชนก็ยังสามารถนำเทคโนโลยีที่มีมาเป็นตัวกำหนดให้เขามีโอกาสสร้างสรรค์ และมีทางออกในการผลิตชิ้นงานออกมาได้หลากหลายมากขึ้น ผลงานที่ออกมานอกจากจะสามารถสื่อสารให้คนในกลุ่มเพื่อนหรือคนในเดียวกันเข้าใจได้แล้ว เชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นให้คนได้รู้จักการรู้เท่าทันสื่อและไม่มองข้ามการสื่อสารในปัจจุบันได้เช่นกัน


ซึ่ง นายอภิชาติ ทวีอภิรดีวิชา ผู้กำกับอิสระและอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า ผลงานที่ออกมาจากการสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนในโครงการนี้มีความชัดเจนในเรื่องประเด็น และมุมมองของภาพที่โดดเด่น มีองค์ประกอบของโปรดักชั่นที่แตกต่างน่าสนใจ คิดว่าถ้านำไปสื่อสารต่อก็น่าจะทำให้คนดู เอ๊ะ, อุ๊ย, โอ๊ะโอ๋, อี๋ และอ๋อ เข้าใจและหันมามองเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อได้


ด้าน นายวิทยา จิรัฐติกาลสกุล พี่เลี้ยงในโครงการ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเด็กและเยาวชนสมัยใหม่มีข้อดีในเรื่องของการเข้าถึงเทคโนโลยี การใช้เครื่องมือ การใช้โปรแกรมในการทำงาน การถ่ายทำดีขึ้นกว่ายุคสมัยก่อน การเปิดโอกาส ให้เด็กสมัยใหม่มีโอกาสในการก้าวเข้ามาเป็นคนทำสื่อ ให้เขาได้เป็นผู้ส่งสารในการรู้เท่าทันสื่อให้กับคนในสังคมก็ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะปลูกฝังให้เขารู้เท่าทันสื่อไปในตัวร่วมกับการบอกต่อไปยังคนอื่นๆ ผ่านคลิปสั้น และมิวสิควีดิโอที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมาในครั้งนี้ด้วย เพราะความคิดเล็กๆ สามารถสร้างสิ่งยิ่งใหญ่ให้สังคมได้จริงๆ สำหรับเด็กและเยาวชนคนอื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการก็สามารถเป็นผู้สื่อสาร สร้างสรรค์ และส่งสารดีๆ สู่สังคมได้เช่นกันเพียงแค่ต้องรู้เท่าทันสื่อและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ว่าจะสื่อสารอะไรออกไปต้องไม่ชี้นำให้เชื่อหรือคิดต่อไปทางไหน แบบไหน ปล่อยให้เขาคิดและรู้สึกกับสิ่งที่นำเสนอด้วยตัวของเขาเอง แค่นี้ก็ถือเป็นการสร้างเสริมศักยภาพให้ตัวเองและสร้างภูมิคุ้มกันในการรู้เท่าทันสื่อและเฝ้าระวังสังคมร่วมกันได้แล้ว 

Shares:
QR Code :
QR Code