รับมือภัยใกล้ตัว ‘อัมพฤกษ์-อัมพาต’

ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ


รับมือภัยใกล้ตัว \'อัมพฤกษ์-อัมพาต\' thaihealth

แฟ้มภาพ


แพทย์ สคร.10 ออกโรงเตือนระวัง โรคหลอดเลือดสมอง หรือ โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต เพชฌฆาตเงียบคร่าชีวิตคนไทย เผยสามารถป้องกันโรคได้ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ งดเค็มจัด หวานจัด มันจัด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และไม่เครียด


นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.10) กล่าวว่า จากองค์การอัมพาตโลก (World Stroke Organization: WSO) รายงานสถานการณ์โรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทย พบอัตราเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2556 พบว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทย โดยสาเหตุมาจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม เช่น การรับประทานอาหารเค็มจัด หวานจัด มันจัด ไม่รับประทานผัก ผลไม้ สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ไม่ออกกำลังกาย และเครียด พฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ เมื่อปฏิบัติติดต่อกันเป็นเวลานานๆ จะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง


สำหรับโรคหลอดเลือดสมอง หรือ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต คือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เกิดอาการชาที่ใบหน้า ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง เคลื่อนไหวไม่ได้ หรือเคลื่อนไหวลำบากอย่างทันทีทันใด เป็นนาทีหรือเป็นชั่วโมง แบ่งเป็น 2 ประเภทตามลักษณะการเกิดคือ โรคหลอดเลือดสมองตีบตันและโรคหลอดเลือดสมองแตก ซึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง มีทั้งที่สามารถป้องกันได้และไม่สามารถป้องกันได้


ในส่วนของปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถป้องกันได้คือ อายุ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะมีอัตราเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เพศ พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง แต่เมื่อเข้าสู่วัยทองโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองในผู้หญิงจะเพิ่มขึ้น และพันธุกรรม พบว่าผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้ ได้แก่ ภาวะความดันเลือด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในหลอดเลือดสูง การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา หากสามารถลดพฤติกรรมหรือภาวะเสี่ยงเหล่านี้ได้ ก็จะทำให้มีโอกาสเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตน้อยลง


สำหรับแนวทางในการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง หรือ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาตนั้น ประชาชนควรเรียนรู้สัญญาณเตือนของโรคนี้ ซึ่งอาจพบอาการเพียง 1 อาการ หรือ มากกว่า 1 อาการ คือใบหน้าอ่อนแรง หรือหน้าเบี้ยว สับสน พูดลำบาก พูดไม่ชัด ตาข้างใดข้างหนึ่งมัวหรือมองไม่เห็น มีอาการมึนงง เดินเซ เสียศูนย์ ผู้มีอาการดังกล่าวต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด หรือภายใน 3 ชั่วโมง เพราะการรักษาที่ทันท่วงทีจะช่วยลดความเสี่ยงของความพิการที่อาจจะเกิดขึ้น และรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้ได้ ซึ่งหากมีอาการดังกล่าว สามารถโทรสายด่วน 1669 โดยจะมีรถบริการรับส่งโรงพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมงทั่วประเทศ


นอกจากนี้ ควรทราบค่าความดันโลหิตในผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 1ครั้ง ทราบค่าระดับน้ำตาลในเลือดและระดับคอเลสเตอรอลของตนเอง เลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลี่ยงอาหารประเภทหวาน มัน เค็ม และควรเพิ่มพัก ผลไม้ในแต่ละมื้ออาหาร ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดหรือลดการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี


 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ