รับมือดูข่าวอย่างมีสติ

ช่วงนี้เห็นทีจะปฏิเสธไม่ได้ว่าการรับรู้ข้อมูลข่าวสารบ้านเมืองในบ้านเราดูออกจะตึงเครียด ทั้งสินค้าราคาแพงที่สูงขึ้น ข่าวความตึงเครียดจากสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ผู้คนนั่งติดขอบจอในทุกวันเพื่อรับฟังเรื่องราวว่าเป็นไปถึงไหน เพราะทั้งหมดทั้งมวลย่อมส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ยิ่งคนในพื้นที่ที่ต้องอาศัยอยู่ในภาวะความกังวล รวมทั้งการจับจ่ายใช้สอยตามแนวชายแดน ที่อาจติดขัดไปบ้าง ส่งผลต่อเศรษฐกิจบ้านเรา บ้านเค้า



นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย กล่าวว่า สื่อเป็นช่องทางการรับรู้ข้อมูลเพื่อนำใช้เป็นประโยชน์ในการจัดการปัญหาที่จะกระทบต่อการดำรงชีวิต อย่างไรก็ตามข่าวสารบางอย่างไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตโดยตรงแต่เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญ เช่น ปัญหาประเทศชาติ แม้ว่าจะไม่กระทบโดยตรงแต่ก่อให้เกิดความวิตกกังวล ดังนั้น จึงต้องจัดการกับการรับรู้ เนื่องจากมีประชาชนบางส่วนที่รับข้อมูลข่าวสารอยู่ตลอดเวลา ซึ่งข้อมูลบางอย่างไม่จำเป็นต้องรับถี่และรับละเอียดมาก เมื่อใช้เวลาอยู่กับข้อมูลดังกล่าวมากเกินไป ก็จะทำให้มีอารมณ์ร่วมเข้มข้นมากเกินไปด้วย


“โดยธรรมชาติของนักข่าวจะถือว่าข่าวร้ายดึงความสนใจได้มาก แต่ข่าวร้ายนั้นจะปลุกเร้าอารมณ์ร่วมได้มากเช่นกัน โดยเฉพาะภาพและเสียงที่เสนอผ่านโทรทัศน์จะสามารถปลุกเร้าอารมณ์ได้มากกว่าสื่อหนังสือพิมพ์ที่เป็นตัวอักษร หากรู้สึกว่ามีอารมณ์ร่วมกับข่าวมากเกินไป หรือเริ่มมีอาการเครียด ต้องลดการรับสื่อให้น้อยลง ไม่จำเป็นต้องตามดูข่าวเดิมจากทุกช่อง และหลีกเลี่ยงการเสพสื่อที่มีเสียงและภาพเคลื่อนไหว ให้หันไปอ่านหนังสือพิมพ์แทน ที่สำคัญผู้เสพสื่อต้องรู้เท่าทันสื่อ และรู้จักประเมินตนเอง เมื่อรู้สึกมีอารมณ์ร่วมกับข่าวมากเกินไป ก็ให้ลดความถี่ในการเสพข่าวนั้นๆ ลง และปรับรูปแบบไม่ดูภาพเคลื่อนไหว”ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตฯ กล่าว


นพ.ประเวช ยังบอกอีกว่า ความเครียดที่ส่งผลถึงทางกาย คือ อาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อต้นคอ บ่า ไหล่ ปวดมึนศีรษะ ใจหวิว ใจสั่น รวมไปถึงมีอาการปวดมวนท้อง รับประทานอาหารไม่ได้ ในรายที่เป็นหนักจะมีอาการนอนไม่หลับร่วมด้วย ส่วนอาการทางใจนั้น จะมีความคิดวนเวียนอยู่ในข่าวเรื่องนั้นๆ อารมณ์พลุ่งพล่าน วิตกกังวล กลัว ตระหนกตกใจ หรือมีอารมณ์เสียใจ โกรธ แค้นเคือง ซึ่งหากเริ่มรู้สึกว่าตนเองมีอาการเหล่านี้ ควรต้องลดความถี่ในการเสพข่าวลงทันที อย่างไรก็ตามนอกจากผู้ใหญ่ที่น่าเป็นห่วงแล้ว เด็กที่เสพข่าวโทรทัศน์ร่วมกับผู้ปกครองก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน เพราะเด็กมีความเข้าใจในข่าวน้อยกว่า หากข่าวไหนที่มีการนำเสนอผ่านโทรทัศน์บ่อยๆ ก็ต้องพยายามให้เด็กดูข่าวนั้นๆ น้อยลง หรือชี้ชวนให้หันไปเสพข่าวในรูปแบบอื่นทดแทน เช่น อ่านข่าวจากหนังสือรายสัปดาห์ เป็นต้น


เห็นอย่างนี้แล้ว คงพอนึกภาพออกได้ว่าการเสพสื่อที่อินจัดเกินไป ย่อมไม่ส่งผลดีต่อผู้รับอย่างแน่นอน แล้วเราจะมัวนั่งเครียดกันอยู่ทำไม เพียงเลือกรับ เลือกเสพแต่พอเหมาะ ให้เกิดสุขภาวะทางใจก็เพียงพอแล้ว


 


 


เรื่องโดย : คีตฌาณ์ ลอยเลิศ , สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ