รัฐเดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
ภาพประกอบจากสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
แม้ปัจจุบันผู้สูงอายุ จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างต่อเนื่องผ่านมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล แต่การทำให้ผู้สูงอายุยืนอยู่ในสังคมปัจจุบันอย่างภาคภูมิใจ ถือเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ประเทศที่เปลี่ยนไป ทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงาน และการเพิ่มเงินยังชีพ ติดตามจากรายงาน
ผู้สูงอายุ ถือเป็นประชากรของไทยที่กำลังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และถือเป็นกลุ่มประชากรที่รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญกับการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิต ผ่านการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดทำแผนดูแลผู้สูงอายุฉบับที่ 2 ปี 2560-2564 กระทรวงสาธารณสุขจัดทำแผนสุขภาพแห่งชาติปี 2560-2564 และกระทรวงแรงงานจัดทำแผนจัดหางานให้ผู้สูงอายุปี 2560-2564
ขณะเดียวกันการดูแลฝ่ายรัฐสวัสดิการ ยังเป็นหนึ่งนโยบายที่รัฐบาลได้สานต่อและพัฒนาให้ดีขึ้น กับการมอบเงินยังชีพของผู้สูงอายุ ที่ปัจจุบันได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ ซึ่งเป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เดือนละ 600 บาท ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างแท้จริง
จากการสำรวจของรัฐบาลผ่านโครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย พบว่ามีกลุ่มผู้สูงอายุที่ยากจน หรือมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2 ล้านคน ที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ ทำให้จากนี้รัฐบาลเตรียมเดินหน้าผลักดันการเพิ่มเงินยังชีพของผู้สูงอายุ ให้เพียงพอต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน เป็นรายละ 1,200 บาท ถึง 1,500 บาท
โดยวิธีการที่รัฐบาลเตรียมนำมาใช้ เพื่อเพิ่มเงินยังชีพให้กับกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง ประกอบด้วย การระดมเงินทุนจากแหล่งต่างๆ อาทิ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. หรือกองทุนสนับสนุนการกีฬา รวมถึงผู้สูงอายุที่มีฐานะดีอยู่แล้ว ยอมเสียสละเบี้ยยังชีพคนชราอีกส่วนหนึ่ง จัดตั้งเป็นกองทุนผู้สูงอายุ เพื่อนำเงินไปเพิ่มเบี้ยยังชีพให้แก่คนชราที่มีประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.
นอกจากการเพิ่มเงินยังชีพที่มองว่ามีส่วนจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ รัฐบาลยังเล็งเห็นถึงศักยภาพของคนกลุ่มนี้ และทำอย่างไรที่ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเอง โดยไม่เป็นภาระของสังคม ด้วยการใช้ประสบการณ์ และศักยภาพที่มีให้เกิดประโยชน์ ซึ่งรัฐบาลมีแผนพัฒนาฝีมือแรงงานของกลุ่มผู้สูงอายุ เตรียมความพร้อมก่อนป้อนกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกครั้ง จากการตั้งเป้าให้ผู้สูงอายุมีงานทำและมีรายได้เพิ่ม 39,000 อัตรา โดยเฉพาะในชนบทผ่านวิสาหกิจชุมชน พร้อมมาตรการจูงใจให้องค์กรต่างๆ จ้างงานผู้สูงอายุ โดยสามารถนำรายจ่ายไปหักภาษีได้ถึง 2 เท่า รวมทั้งพยายามเพิ่มจำนวนสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนมีเงินออมไว้ใช้ยามเกษียณ
ขณะเดียวกันรัฐบาลยังเตรียมพร้อมในด้านที่พักอาศัยของผู้สูงอายุ โดยมีการดำเนินงานหลายรูปแบบ เช่น โครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร หรือซีเนียร์คอมเพล็กซ์ ที่รวมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไว้ในที่เดียวกัน เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า กับการทำให้ประชากรกลุ่มนี้ ยังเป็นกำลังสำคัญของชาติ ผ่านการใช้ความสามารถ และประสบการณ์ที่สั่งสมมาให้เกิดประโยชน์ และมีศักดิ์ศรี ภูมิใจกับการยืนอยู่ในสังคมได้ด้วยตัวเองต่อไป