รัฐเดินหน้าปลอดภัยทางถนน
เป้า 10 ปี ลดตาย 50%
มีการเปิดเผยผลวิจัยของหลายๆ มหาวิทยาลัยในประเทศไทยนี่แหละว่า อุบัติเหตุทางถนนของบ้านเราพบว่าวัยรุ่นเสี่ยงที่สุด เฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้พบวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี เสี่ยงสุดๆ หลักเลยยังไม่เข้าใจกฎจราจรและไม่อยากจะเข้าใจ แถมยังดื่มแล้วขับ ไม่นิยมสวมหมวกกันน็อก ไม่ว่าจะด้วยมีความเชื่อแบบไหนๆ ก็ตาม แล้วยังเชื่อแบบผิดๆ ด้วยว่าขับรถเร็ว ไม่อันตราย เท่อีกต่างหาก
คงไม่มีคำอธิบายอะไรที่จะแปลกพิเศษไปกว่าข้อความข้างต้นสำหรับวัยรุ่นที่มีความคึกคะนองอยู่ในหัวใจเป็นต้นทุนอยู่แล้ว หรือมักหลงอยู่ในวังวนของความประมาทนั่นเองกับการขับขี่ยวดยานพาหนะโดยเฉพาะจักรยานยนต์ ไม่ว่าจะขับเร็ว ขับแข่งหรือขับขี่ เพราะเมาก็ตามก็ล้วนมีอยู่ในตัวและหัวใจเยาวชนที่นำไปสู่ความตายทั้งสิ้น
จนนำพาไปสู่การเกิดโครงการรณรงค์ลดอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความสูญเสียทั้งทางสังคม และเศรษฐกิจ กำหนดกันเป็นทศวรรษเลยทีเดียว เริ่มตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไป
เรื่องนี้กำลังเป็นที่สนใจในระดับโลก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ได้ประกาศก่อนการประชุมที่มอสโกเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ไทยจะมีนโยบายเรื่องนี้เช่นกัน โดยกำหนดว่า จะใช้เวลา 10 ปี (2554-2563) เพื่อลดการตายจากอุบัติเหตุลงร้อยละ 50 ท่ามกลางสถานการณ์ที่ปัญหาเรื่องนี้ยังหนักหน่วง และองค์การอนามัยโลกประเมินสถานภาพของ 178 ประเทศทั่วโลก ในเรื่องความเร็ว, การดื่มแล้วขับ, การใช้หมวกนิรภัย, การคาดเข็มขัดนิรภัย, การใช้ที่นั่งนิรภัยเด็ก มีประเทศไทยอยู่อันดับที่ 106 ไม่ผ่านมาตรฐานแม้แต่ข้อเดียว ขณะที่เพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ได้อันดับ 6 กัมพูชา ได้อันดับ 44 เวียดนาม ได้อันดับที่ 87
เมื่อเร็วๆ นี้ ในงานประชุม “พลังเครือข่ายภาคใต้ สู่ทศวรรษความปลอดภัยบนท้องถนน : ESAN ‘s Partnership for Decade of Action for Road Safety” จัดโดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า จากการสำรวจการเกิดอุบัติเหตุภาคใต้ ระหว่างเดือนมีนาคม-กรกฎาคม 2553 จำนวน 1,600 ตัวอย่าง โดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งเอเชีย มูลนิธิไทยโรดส์มหาวิทยาลัยสุรนารี มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พบว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ วัยรุ่นอายุ 15-24 ปี มีอัตราการเสียชีวิตใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของทั้งประเทศ คือ มีผู้เสียชีวิต 19 คนต่อ 1 แสนประชากร จังหวัดที่มีอุบัติเหตุสูงสุดคือ พังงา คิดเป็น 48% นครศรีธรรมราช คิดเป็น 43% สตูล คิดเป็น 39% สงขลา คิดเป็น 37% ระนอง คิดเป็น 35%
“พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุคือ การขับรถเร็วในเขตเมืองภาคใต้ เฉลี่ยใช้ความเร็วที่ 90 กม./ชม. นอกเมืองอยู่ที่ 120 กม./ชม. ซึ่งถือว่าเกินที่กฎหมายกำหนด และยังพบว่า 96% ไม่ทราบว่าต้องขับขี่ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. และยังมีทัศนคติว่า “การขับรถเร็ว” ไม่น่าจะอันตราย การดื่มแล้วขับในกลุ่มผู้ขับขี่รถยนต์ มีกลุ่มตัวอย่างที่เคยดื่มแล้วขับเดือนละ 1 ครั้ง อยู่ 16% เดือนละ 2-3 ครั้ง 15% ไม่เคยเลย 69% ส่วนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ เคยดื่มแล้วขับเดือนละ 1 ครั้ง อยู่ที่ 15% เคยเดือนละ 2-3 ครั้ง 10% ไม่เคย 75%”
ส่วนพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัย พบว่า ประชาชนในภาคใต้มีผู้ขับขี่จักรยานยนต์สวมหมวกเพียง 60% โดย จ.พังงา มีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยน้อยที่สุด คิดเป็น 48% ทั้งนี้แนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุตั้งแต่ปี 2540-2552 มีจำนวนอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตลดลง แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
ด้าน ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายป้องกันอุบัติเหตุทั่วประเทศ ทำการรณรงค์ลดอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความสูญเสียทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้ปี 2554 เป็นปีเริ่มต้นแห่งทศวรรษความปลอดภัยทางถนนเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง เป้าหมายคือ ภายใน 10 ปี ต้องลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลง 50% หรือต่ำกว่า 10 คนต่อประชากร 1 แสนคน ขณะที่ปัจจุบันนี้อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของประเทศไทยอยู่ที่ 16.87 คนต่อแสนประชากร สอดคล้องกับปฏิญญามอสโกขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดให้ทุกประเทศทั่วโลกลดผู้เสียชีวิตลงครึ่งหนึ่ง ในระยะเวลา 4 ปี
โครงการดีๆ แบบนี้เราเอาใจช่วยให้สำเร็จตามเป้าครับ
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
Update : 09-09-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร