รัก-เข้าใจ`ลด`สมองเสื่อม…ในผู้สูงวัยได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


รัก-เข้าใจ'ลด'สมองเสื่อม...ในผู้สูงวัยได้ thaihealth


แฟ้มภาพ


          ถึงแม้วิวัฒนาการทางการแพทย์ จะทำให้คนเราเจ็บป่วยน้อยลง และมีอายุยืนยาวขึ้น แต่ก็มีอีกหนึ่งโรคภัย ที่ยังเป็นภัยร้ายสำหรับผู้สูงวัย คือ "ภาวะสมองเสื่อม"เพราะไม่สามารถรักษาได้หายขาด และนับวัน ก็จะยิ่งมีปริมาณสูงขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น


          อ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภาวะสมองเสื่อมเป็นความถดถอยในการทำงานของสมอง ซึ่งเกิดจากการสูญเสียเซลล์สมอง โดยเริ่มจากส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วจึงลุกลามไปยังสมองส่วนอื่นๆ อย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป บางครั้งอาจใช้ เวลาถึง 10 ปี กว่าที่จะสังเกตเห็นความผิดปกติได้ ซึ่งสาเหตุหลักของ ภาวะสมองเสื่อม ขึ้นอยู่กับประเภทของภาวะสมองเสื่อมนั้น เช่น สมองเสื่อมอัลไซเมอร์ แม้ว่ายังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่สาเหตุที่เพิ่ม ความเสี่ยง ได้แก่ อายุที่มากขึ้น พันธุกรรม โรคประจำตัวต่างๆ ได้แก่โรคของหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง รวมถึง การใช้ยาที่มีผลกดการทำงานของสมองในระยะเวลานาน อาการที่เด่นชัดมากของภาวะสมองเสื่อม คือ หลงลืม ซึ่งไม่ใช่การขี้หลงขี้ลืมแบบเป็นนิสัย หรือเป็นความจำที่เสื่อมถอยลงตามกาลเวลา แต่ความ สามารถในการทำกิจวัตรประจำวันถดถอยไป อาทิ เริ่มจำไม่ได้ว่าไปไหนมา หรือเมื่อสักครู่พูดอะไร ถ้าอาการหนักอาจถึงขั้นจำคนในครอบครัวไม่ได้ จนอาจลืมว่าตัวเองเป็นใครในที่สุด ซึ่งนอกจากอาการ หลงลืมแล้ว อาจมีบุคลิกภาพเปลี่ยนเป็นก้าวร้าว หรือเงียบซึมได้


          "ถึงแม้ภาวะสมองเสื่อม จะยังไม่มียาป้องกัน หรือยารักษาให้หายขาด แต่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ก็สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ อาทิคนที่มีโรคหลอดเลือด ก็ต้องดูแลหลอดเลือดให้ดี ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อระบบหลอดเลือดหัวใจ อย่างไขมันจากปลาทะเล รวมไปถึงการออกกำลังกาย เพื่อช่วยกระตุ้นการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงสมอง นอกจากนี้  การบริหารสมองและ อารมณ์ให้มีความสมดุลก็มีความสำคัญ ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์ในสังคม เล่นเกม เล่นดนตรี อ่านหนังสือ ท่องเที่ยวพักผ่อน แต่ทั้งหมดนี้จะต้องเกิดจากความพึงพอใจ ไม่ใช่ทำเพราะถูกสั่งให้ทำ เพราะมีงานวิจัยพบว่า อารมณ์ที่   ไม่มีความสุข ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย ล้วนเพิ่ม ความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม" อ.พญ.โสฬพัทธ์


          ทั้งนี้ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและสารสนเทศ ยังกล่าวเสริมว่า การดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมให้ได้ผลดีที่สุด การดูแลของ คนใกล้ชิดให้ถูกต้องก็เป็นเรื่องจำเป็นไม่แพ้กัน เพราะภาวะสมองเสื่อมไม่ได้เป็นปัญหาเพียงเฉพาะกับตัวผู้ป่วย แต่ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อครอบครัว คนรอบข้าง และสังคม โดยผู้ดูแลจะต้อง "ทำความเข้าใจและยอมรับกับอาการ"เนื่องจากผู้ป่วยจะมีปัญหาเรื่องความจำ การใช้ความคิด ไปถึงจนสูญเสียการควบคุมตัวเอง จนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองในการใช้ชีวิตประจำวันได้ "ให้ความรัก"เพราะเมื่อมีความรัก ผู้ดูแลก็จะมอบกำลังใจดีๆ ให้แก่ผู้ป่วย รวมถึงการให้ความช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวัน อาทิ รับประทานอาหาร ขับถ่าย อาบน้ำ เป็นต้น "รู้ขีดจำกัดของตัวเอง"ผู้ดูแลควรดูแลร่างกายและจิตใจของตัวเองด้วย หากรู้สึกเหนื่อยก็ควรหยุดพักให้ผู้อื่นมาดูแลแทน เมื่อสภาพร่างกายและจิตใจพร้อมแล้วค่อยกลับมาดูแลใหม่ ด้วยสภาพอารมณ์และบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไปของผู้ป่วย ผู้ดูแลจึงควรเป็นคนใกล้ชิด  ในครอบครัว ที่รู้จักและเข้าใจผู้ป่วยดี รู้ว่าผู้ป่วยชอบหรือไม่ชอบอะไร สามารถทำกิจกรรมร่วมกันกับผู้ป่วยได้ เพราะการดูแลด้วยความรักและความเข้าใจ จากบุคคลในครอบครัวนั้น จะช่วยส่งเสริม ภาวะทางจิตใจของผู้ป่วยให้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก

Shares:
QR Code :
QR Code