รักษาริดสีดวงทวารผิด ระวังโรคแทรกซ้อน
กรดจี้-สารเคมีกัดผิว อันตรายถึงขั้นผ่าตัด!!
พล.ต.รศ.นพ.ปริญญา ทวีชัยการ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และประธานชมรมศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (ประเทศไทย) กล่าวถึงโรคริดสีดวงทวารหนักว่า สร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ผู้ป่วยทั้งหญิงและชายที่ท้องผูกมาก เพราะไม่นิยมดื่มน้ำ
พบได้ตั้งแต่อายุ 20 – 30 ปี แต่จะมีความรุนแรงมากในช่วงวัยกลางคนประมาณอายุ 40 – 50 ปี อาการทั่วไปถ่ายยาก มีก้อนเนื้อยื่นออกจากทวารหนัก เลือดออกและเจ็บขณะขับถ่าย ปัญหาของโรคนี้คือ การรักษาที่ไม่ถูกต้อง ผู้ป่วยบางรายหลงเชื่อข้อมูลผิดๆ และไปรักษาโรคริดสีดวงทวารหนักจากบุคลากรที่ไม่ใช่แพทย์ หรือไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง มักจะก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา
ที่พบบ่อยสุดคือ รูทวารตีบตัน ไม่สามารถถ่ายอุจจาระได้ ซึ่งเกิดจากการรักษาที่ไม่ถูกวิธี โดยการจี้ด้วยธูปความร้อน จี้ด้วยกรด หรือสารเคมีกัดผิวหนัง ฉีดสารเคมีที่ไม่ถูกต้องลงไป รวมทั้งการผ่าตัดริดสีดวงออกมากเกินไป ทำให้ต้องใช้เวลารักษาตัวนานราว 6 เดือนถึง 1 ปี เพื่อให้ทวารหนักใหม่สามารถใช้การได้ดี ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎรับผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวารหนักปีละประมาณ 4 พันราย โดยมีปัญหารูทวารตีบตัน 10 ราย ซึ่งส่วนใหญ่มีอาการหนักชนิดรูทวารปิดสนิทต้องผ่าตัดอย่างเร่งด่วน
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
update 11-06-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก