รักลูก อย่าสูบบุหรี่
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
ตัวอย่างกรณีเด็กน้อยวัยขวบเศษที่ตกเป็นข่าวบนหน้าโซเชียล ที่ป่วยด้วยอาการปอดติดเชื้อเพราะสูดดมควันบุหรี่มือสองจากคนในบ้าน "ควันบุหรี่มือสอง" ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบทางร่างกายในวัยผู้ใหญ่เท่านั้น แต่มันจะทำร้ายสุขภาพไปถึงคนที่คุณรักภายในบ้านด้วย ควันบุหรี่เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ที่ไม่มีระดับ "ปลอดภัย"
ในการสัมผัสควันบุหรี่ประกอบด้วยสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด และมากกว่า 60 ชนิดที่วงการแพทย์ระบุว่าเป็นสารก่อมะเร็ง
องค์การอนามัยโลกประเมินว่า ปัจจุบันมีเด็กเกือบ 700 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของประชากรเด็กทั้งโลก หายใจเอาอากาศปนเปื้อนควันบุหรี่ที่ลอยอยู่ในอากาศเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในบ้าน และควันบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคระบบทางเดินหายใจติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นหลอดลมอักเสบ การเป็นหวัดบ่อยขึ้น และยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กที่เป็นโรคหืดอยู่แล้วมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้นถึงร้อยละ 80 ซึ่งพบว่าเด็กเหล่านี้มีพ่อแม่ที่สูบบุหรี่
นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า "การที่ผู้ไม่สูบบุหรี่สูดเอาควันบุหรี่จากผู้สูบบุหรี่ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกันเรียกว่า "การสูบบุหรี่มือสอง" และสามารถได้รับสารพิษอื่นๆ เข้าสู่ร่างกายเช่นเดียวกับผู้สูบบุหรี่ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีตระหนักถึงอันตรายจากบุหรี่และควันบุหรี่ จึงได้จัดโครงการบ้านปลอดบุหรี่ และขยายเครือข่ายการรณรงค์โครงการบ้านปลอดบุหรี่ต่อเนื่องเพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้ความรู้สู่ประชาชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้ตระหนักถึงอันตรายและผล กระทบของการได้รับควันบุหรี่ที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก ทั้งในด้านความเสี่ยงปัญหาสุขภาพที่จะเกิดขึ้นและเน้นแบบอย่างของการไม่สูบบุหรี่ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ด้วยการรณรงค์ให้ "บ้านปลอดบุหรี่" และสนับสนุนให้โครงการบ้านปลอดบุหรี่ขยายไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ทั่วประเทศ ทั้งนี้เพื่อสุขภาพที่ดีของเด็กไทย"
นอกจากประเด็นเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรงจากพิษควันบุหรี่แล้ว พฤติกรรมการสูบบุหรี่ของสมาชิกในบ้านยังเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการพฤติกรรมสูบบุหรี่ในเด็กและวัยรุ่น หรือการเกิดนักสูบหน้าใหม่ คือ เด็กที่เติบโตในครอบครัวที่มีพ่อแม่หรือพี่น้องสูบบุหรี่ มากกว่าร้อยละ 90 จะกลายเป็นคนสูบบุหรี่ด้วย ถ้ามีพี่หรือน้องสูบบุหรี่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่) จะเป็นความเสี่ยงของการสูบบุหรี่ในวัยรุ่นมากถึง 2.3 เท่า ถ้ามีพ่อหรือแม่สูบบุหรี่จะเป็นความเสี่ยงให้วัยรุ่นสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น 62% (1.6 เท่าของคนที่ไม่ได้มีพ่อหรือแม่สูบบุหรี่) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กวัยรุ่นที่มีแม่สูบบุหรี่จะมีโอกาสที่จะมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น 2.2 เท่า
แพทย์หญิงนัยนา ณีศะนันท์ ประธานโครงการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ขยายเครือข่ายในการรณรงค์ให้บ้านปลอดบุหรี่สู่ชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า "ควันบุหรี่มือสองไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบทางร่างกายในวัยผู้ใหญ่เท่านั้น แต่รวมไปถึงทารกในครรภ์มารดา ซึ่งส่วนประกอบในควันบุหรี่มือสองสามารถผ่านรก (placenta) ไปยังทารกได้ สารที่มีความสำคัญคือ carbon monoxide และ nicotine จะมีผลเสียต่อการพัฒนาของสมองทารกและการเติบโตของทารกในครรภ์ เด็กในครรภ์จะมีโอกาสเกิดภาวะน้ำหนักตัวน้อย คลอดก่อนกำหนดหรือเสียชีวิตในครรภ์"
ผลการสำรวจสถานการณ์การสัมผัสพิษควันบุหรี่ของเด็กที่มารับบริการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และผลการรณรงค์ "บ้านปลอดบุหรี่" ให้กับผู้เลี้ยงเด็กที่นำผู้ป่วยเด็กมารับบริการในสถาบันสุขภาพเด็กฯ จาก 11 หน่วยงาน ระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ย.2559 จำนวน 1,022 ครัวเรือน พบว่า 1 ใน 5 ของเด็กจากการศึกษานี้มีโอกาสได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน และในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกับสมาชิกในบ้านที่สูบบุหรี่ มีความเสี่ยงในการป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจส่วนบน (หวัด น้ำมูก ไอ เจ็บคอ) และอาการหอบเหนื่อย/ต้องพ่นยา เพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ พญ.นัยนาได้แนะวิธีป้องกันภัยลูกจากควันบุหรี่มือสองดังนี้
1.บ้านควรเป็นที่ปลอดภัยของสมาชิกใน ครอบครัว เพื่อสุขภาพที่ดี ไม่สูบบุหรี่ในบ้าน ไม่สูบบุหรี่ในที่ใกล้เด็กหรือคนท้อง 2.การเจ็บ ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี สัมพันธ์กับการที่มีสมาชิกในบ้านสูบบุหรี่ 3.การรณรงค์เรื่อง "บ้านปลอดบุหรี่" คือการปกป้องต้นทุนสุขภาพเด็กไทย.
"ควันบุหรี่มือสองไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบทางร่างกายในวัยผู้ใหญ่เท่านั้น แต่รวมไปถึงทารกในครรภ์มารดา ซึ่งส่วนประกอบในควันบุหรี่มือสองสามารถผ่านรก (placenta) ไปยังทารกได้ สารที่มีความสำคัญคือ carbon monoxide และ nicotine จะมีผลเสียต่อการพัฒนาของสมองทารกและการเติบโตของทารกในครรภ์ เด็กในครรภ์จะมีโอกาสเกิดภาวะน้ำหนักตัวน้อย คลอดก่อนกำหนดหรือเสียชีวิตในครรภ์"