รักลูกเป็นพิเศษ

ที่มา : เว็บไซต์ The Potential


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ The Potential


รักลูกเป็นพิเศษ thaihealth


ทำความเข้าใจสมองของเด็กพิเศษ ต่อยอดความพิเศษในตัวพวกเขา


สำหรับเด็กทั่วไป แนวทางการพัฒนากระบวนการทางความคิดและการจัดการของสมองส่วนหน้า (Executive Functions: EF) ถูกอธิบายไว้อย่างกว้างขวาง สามารถหยิบยกมาประยุกต์ใช้ได้ไม่ยาก หากผู้ใหญ่รอบกายเข้าใจแนวทางการส่งเสริมอย่างถูกต้อง


ว่าแต่…แนวทางการพัฒนาทักษะสมอง EF สำหรับ ‘เด็กพิเศษ’ ล่ะเป็นอย่างไร มีหลักในการส่งเสริมเช่นไร น้อยคนนักที่จะรู้


เพื่อจะตอบปัญหาดังกล่าว ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ กุมารแพทย์และผู้เชี่ยวชาญประสาทวิทยา ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงนำความรู้ที่ตนเชี่ยวชาญมาย่อยให้ฟังในวงเสวนาว่าด้วยเรื่อง ‘รักลูกเป็นพิเศษ การพัฒนาทักษะสมอง EF สำหรับเด็กพิเศษ’ ซึ่งจัดขึ้นโดย Thailand EF Partnership ในงานประชุมวิชาการ ‘EF Symposium 2017 สมองเด็กไทยรากฐานทุนมนุษย์เพื่ออนาคตประเทศ’ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ


ศ.นพ.วรสิทธิ์ เปิดวงเสวนาด้วยการชี้ชวนให้ผู้ใหญ่เริ่มต้นจากการสังเกตบุตรหลานของตนเองอย่างถี่ถ้วนเสียก่อน


“พ่อแม่บางคนมารู้ว่าลูกตัวเองเป็นเด็กพิเศษก็ตอนเริ่มเข้า ป.1 แล้ว แม้จะยังไม่สายเกินแก้ แต่โดยปกติแล้วช่วงอายุ 3-6 ปี คือช่วงที่ทักษะสมอง EF พัฒนาได้ดีที่สุด”


วิธีการสังเกตว่าลูกเข้าข่ายเป็นเด็กพิเศษหรือไม่ สามารถเริ่มได้ง่ายๆ ด้วยการสังเกตกายภาพพวกเขา เช่น หน้าตาไม่เหมือนพ่อแม่ สีผมไม่เหมือนคนในครอบครัว ขนาดศีรษะเล็กหรือใหญ่เกินไป ส่วนวิธีการสังเกตเด็กโต เช่น มีพัฒนาการล่าช้ากว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันหรือเปล่า มีพฤติกรรมซ้ำซากหรือไม่ ชอบย้ำคิดย้ำทำ มีปัญหาในการเข้าสังคม หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวและอาจควบคุมตัวเองไม่ได้


“เมื่อรู้แล้วว่าพวกเขาเป็นเด็กพิเศษ นั่นหมายความว่าพวกเขามีความต้องการพิเศษ จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ เช่นเดียวกัน แนวทางในการส่งเสริมทักษะสมอง EF ของเด็กพิเศษนั้นก็จะพิเศษไปด้วย สามารถเป็นได้หลายทิศทางและแต่ละโรคมีเส้นทางการฝึกฝนไม่เหมือนกัน”


ก่อนจะไปสู่แนวทางการช่วยเหลือเด็กพิเศษ ศ.นพ.วรสิทธิ์ พาเข้าสู่คอร์สเลคเชอร์ว่าด้วยเรื่องความเชื่อมโยงพัฒนาการแต่ละด้านกับระบบประสาทรับความรู้สึก ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่แล้ว และเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการต่อยอดพัฒนาทักษะสมอง EF


กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสและการทรงตัว พัฒนาการของมนุษย์เริ่มจากคอ ไล่ลงมาสู่หลัง แขน มือ ก้น ขา และเท้า เด็กพิเศษที่มีปัญหาตรงนี้มักทรงตัวหรือเดินได้ไม่ดี


กล้ามเนื้อมัดเล็ก เกี่ยวข้องกับการมองเห็นและการทรงตัว การทำงานประสานกันระหว่างตาและมือ เช่น งานประดิษฐ์ งานศิลปะ


การสื่อสารและภาษา รวมถึงภาษาพูดและภาษากาย


ทักษะสังคม ต้องใช้ความรู้สึกหลายๆ ด้านจากการสั่งสมประสบการณ์หลากหลายส่วนเพื่อเป็นองค์ประกอบในการพิจารณา โดยข้อนี้คือส่วนที่ยากที่สุดและเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาระบบประสาทรับความรู้สึก


ต่อมาส่วนที่ต้องเสริมสร้างคือ องค์ประกอบขั้นพื้นฐานสำหรับพัฒนาทักษะสมอง EF ได้แก่


ความจำใช้งาน (working memory) ความจำที่เก็บข้อมูลที่ได้เห็นหรือได้ยินในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อนำมาแปรผลและปฏิบัติการต่อ


ความยับยั้ง (inhibitory control) ความสามารถในการควบคุมความต้องการของตัวเอง


ความยืดหยุ่นทางความคิด (cognitive flexibility) ความสามารถในการประมวลผล พลิกแพลง คิดนอกกรอบเพื่อแก้ปัญหา


ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการต่อยอด EF ขั้นสูง ประกอบด้วย


จดจ่อใส่ใจ (attention) ความสามารถที่จะจดจ่อ ใส่ใจในสิ่งตรงหน้า ไม่วอกแวก


ควบคุมอารมณ์ (emotional control) จัดการความเครียดของตัวเองได้ แสดงออกถึงความเครียดของตัวเองโดยที่ไม่รบกวนผู้อื่น หรือทำให้คนอื่นไม่สบายใจ


การวางแผนและดำเนินการ (planning and organizing) เริ่มตั้งแต่วางแผน วิเคราะห์เพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมด ออกแบบวิธีการเพื่อทำจนสำเร็จ


การลงมือทำ (initiating)


มุ่งเป้าหมาย (goal-directed persistence) เมื่อปีปัญหาก็แก้ไข อยู่กับเป้าหมายที่วางไว้ แต่ก็ยืดหยุ่นพลิกแพลงลงมือทำเพื่อให้สำเร็จ ซึ่งขั้นตอนนี้คือการผสมผสานทักษะ EF ทุกด้าน


ติดตามประเมินผล (self-monitoring)


จากที่กล่าวมาทั้งหมดพอเห็นภาพได้ว่า ทั้งสองส่วนนั้นส่งผลต่อกันและกัน และมีผลกระทบต่อตัวเด็กเองในอนาคต ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ในระหว่างที่พัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กยังไม่แข็งแรง ผู้ใหญ่จึงควรมีบทบาทสำคัญในการผลักดันและส่งเสริมเพื่อฝึกฝนให้พวกเขาสามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเองไปตลอดชีวิต


รักลูกเป็นพิเศษ thaihealth


แต่สำหรับเด็กพิเศษแล้ว พวกเขามีจุดบกพร่องบางอย่างหรือแทบทั้งหมดของที่กล่าวมาข้างต้น ศ.นพ.วรสิทธิ์ ยกตัวอย่างเด็กพิเศษโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder: ADHD) ว่า ถ้าย้อนมองไล่ตามพัฒนาการพื้นฐานทั้ง 4 ด้าน จนถึงองค์ประกอบพื้นฐาน EF จะเห็นว่าเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมีกล้ามเนื้อมัดเล็กที่ไม่ค่อยดี ส่งผลให้สมาธิไม่ดี ไม่สามารถจดจ่ออะไรได้นานๆ จึงกระทบต่อองค์ประกอบขั้นพื้นฐานของ EF


อีกตัวอย่างเช่น เด็กโรคออทิสซึม (Autism) จะมีความผิดปกติในการเจริญเติบโตของระบบประสาท ผู้ป่วยมักมีความบกพร่องทางด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการสื่อสาร และมีพฤติกรรมทำกิจกรรมหรือพูดบางอย่างซ้ำๆ และเด็กกลุ่มอาการดาวน์ (Down syndrome) ซึ่งเป็นโรคพันธุกรรมที่เกิดจากการมีโครโมโซมคู่ที่ 21 ผิดปกติ ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มนี้จะมีพัฒนาการทั้ง 4 ด้านล่าช้าไปจนถึงปานกลาง หมายความว่า มีความบกพร่องตั้งแต่ฐานล่างสุด ทำให้ EF ขั้นพื้นฐานบกพร่องตามไปด้วย


อย่างไรก็ตาม เด็กพิเศษไม่ได้หมายความว่าต้องได้รับการดูแลอย่างพิเศษเสียทีเดียว เพราะบางกรณีพวกเขาจะมีความสามารถพิเศษบางอย่าง เช่น บางคนมีพรสวรรค์ด้านการวาดรูป บางคนมีความสามารถด้านคณิตศาสตร์ เรียกได้ว่าเป็นอัจฉริยะทางด้านนั้นๆ เลยด้วยซ้ำ


ฉะนั้น หลักการพัฒนาทักษะสมอง EF ในเด็กพิเศษที่สำคัญที่สุดคือ ต้องเข้าใจในตัวเด็กและเข้าใจตามความเป็นจริง


“ต้องไม่อวยหรือกดพวกเขา และไม่ประเมินมากกว่าหรือน้อยเกินกว่าความจริง”


คือสิ่งที่ ศ.นพ.วรสิทธิ์ เน้นย้ำเพื่อจะได้วินิจฉัยอย่างถูกต้องและตรงไปตรงมามากที่สุด รวมถึงรู้จุดอ่อนและจุดแข็งของพวกเขา


ลำดับถัดไปคือ การค้นหาภาวะความเจ็บปวดนอกจากการเป็นเด็กพิเศษ เพราะส่วนใหญ่แล้วเด็กพิเศษมักมีโรคแทรกซ้อน เช่น เด็กกลุ่มอาการดาวน์บางคนเป็นโรคหัวใจ จากนั้นต้องรู้ว่าพวกเขาชอบหรือไม่ชอบอะไร


“เด็กพิเศษบางคนมีประสาทสัมผัสที่ไวมาก บางคนเขาไม่ชอบให้กอด ที่เขาบอกว่าเจ็บคือเจ็บจริงๆ นะครับ เพราะประสาทสัมผัสของเขาไม่เหมือนคนทั่วไป”


เมื่อความซับซ้อนของเด็กพิเศษแต่ละคนต่างกัน สิ่งสำคัญที่สุดในการฝึกสมองเพื่อทักษะ EF ของเด็กเหล่านี้คือ เริ่มจากแก้ไขหรือบรรเทาความบกพร่องหลักของพวกเขาก่อน เช่น ควบคุมอาการด้วยยา เพื่อให้พวกเขาสามารถดำเนินกิจกรรมที่เหมาะสม โดยกิจกรรมต่างๆ จะต้องมาจากการกำหนดโดยผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเรื่องนี้ ศ.นพ.วรสิทธิ์ เสนอแนะว่า


“กิจกรรมไม่จำเป็นต้องซับซ้อนหรือยากเกินไป โดยอาจเริ่มฝึกจากสิ่งที่ต้องทำเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น ระหว่างที่ลูกรอแม่ชงนมให้ ก็สามารถฝึกให้เขารู้จักอดทนรอได้”


ศ.นพ.วรสิทธิ์ บอกอีกว่า กิจกรรมเพื่อการฝึกฝนจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง รวมถึงต้องมีการประเมินเพื่อปรับให้สอดคล้องกับตัวเด็ก และให้รางวัลเพื่อสร้างกำลังใจให้พวกเขา ซึ่งไม่จำเป็นว่าของรางวัลนั้นจะต้องเป็นสิ่งของ แต่อาจเป็นเพียงคำชมเชย เพราะสำหรับเด็กพิเศษแล้วคำชมเล็กๆ ถือว่าสำคัญสำหรับพวกเขาที่มักโดนตำหนิอยู่ตลอดเวลา


ส่วนสุดท้ายแต่สำคัญที่สุดคือ การปรับมุมองของผู้ใหญ่เอง ทั้งผู้ปกครองและครู ต้องอดทนและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเด็ก


“ต้องอดทนครับ บางครั้งเราอาจไม่เห็นความคืบหน้าภายในเดือนเดียวหรือสองเดือน สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องทำคือ เชื่อมั่นและอดทนไปพร้อมๆ กับพวกเขา เพราะอย่าลืมว่ากรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว”

Shares:
QR Code :
QR Code