‘รักนี้’ กิน ‘โฟลิก’

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน


'รักนี้' กิน 'โฟลิก' thaihealth


แฟ้มภาพ


ขณะที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุสูงขึ้น เรากลับมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่ต่ำ ซึ่งสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง และในจำนวนที่ต่ำนี้ หากเต็มไปด้วย "คุณภาพ" ก็ยังพอจะวางใจได้ว่าอนาคตของชาติต่อไปจะอยู่ในกำมือของคนคุณภาพที่จะเติบโตขึ้นมาในอนาคต


ทว่า…มันอาจจะเป็นแค่ "งานมโน" เพราะนอกจากประเทศไทยจะมีอัตราการเกิดที่ต่ำแล้ว คุณภาพของเด็กที่เกิดก็ด้อยคุณภาพไปด้วยสาเหตุของปรากฏการณ์นี้มีหลากหลาย แต่ 1 เหตุที่สำคัญ คือ คู่สมรสทุกวันนี้แต่งงานช้าลง!


ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันอายุของคู่สมรสที่มาจดทะเบียนมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเจนวาย ที่เกิดระหว่างปี 2525-2548 ที่ผู้ชายแต่งงานอายุเฉลี่ย 29 ปี ส่วนผู้หญิงอยู่ที่อายุ 28 ปี


"การแต่งงานช้าลงและการมีบุตรในอายุมากขึ้น ทำให้เพิ่มโอกาสความเสี่ยงทางสุขภาพ โดยเฉพาะหากมีลูกอายุ 35 ปีขึ้นไป จะเสี่ยงต่ออาการดาวน์ 2-3 เท่า เป็นสถานการณ์เด็กเกิดน้อยด้อยคุณภาพ"


จากการแต่งงานช้าลงและการมีบุตรอายุมาก ทำให้เด็กที่เกิดขึ้นมามีความเสี่ยงที่จะพิการ โดยแต่ละปีมีเด็กเกิดใหม่เฉลี่ยปีละ 700,000 คน แต่ในจำนวนนี้มีเด็กพิการแต่กำเนิด 30,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่สะสมมากขึ้นทุกปี


'รักนี้' กิน 'โฟลิก' thaihealth


การป้องกันเด็กพิการแต่กำเนิดสามารถทำได้!!


ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ปรับนิสัยการรับประทานอาหาร โดยทานผักใบเขียวที่มีโฟเลตสูงให้ได้อย่างน้อย 0.4 มิลลิกรัม ต่อวัน หรือกิน "วิตามินโฟลิก" ในรูปแบบเม็ด ด้วยเหตุนี้ สสส.ร่วมกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิดประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร จึงได้แถลงข่าว "ชวนคู่รัก…กินวิตามินโฟลิก ก่อนท้อง ป้องกันลูกพิการ" ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ


'โฟลิก'วิตามินลดเสี่ยง'ลูกพิการ'


ศ.เกียรติคุณ พญ.พรสวรรค์ วสันต์หัวหน้าโครงการระดับชาติพัฒนาต้นแบบจังหวัดและอำเภอเพื่อป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิดในประเทศไทย สสส.และนายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด กล่าวว่า เพื่อป้องกันเด็กพิการแต่กำเนิด ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ควรทานสัปดาห์ละ 1 เม็ด ส่วนหญิงที่ต้องการจะมีลูกต้องกินก่อนตั้งท้อง 3 เดือน ต่อเนื่องจนถึง 3 เดือนแรกของการตั้งท้อง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากความพิการ ได้แก่ หลอดประสาทไม่ปิด ปากแหว่งเพดานโหว่ ความผิดปกติของแขนขา หัวใจพิการแต่กำเนิด ระบบทางเดินปัสสาวะผิดปกติ ไม่มีรูทวารหนัก และกลุ่มอาการดาวน์


"ยังมีความเข้าใจที่ผิดว่าเมื่อตั้งครรภ์ถึงจะรับประทานวิตามินโฟลิก แต่ในความเป็นจริงแล้วต้องกินก่อนท้อง เพราะวิตามินโฟลิก ช่วยในการสร้างและแบ่งเซลล์ในตัวอ่อนให้สมบูรณ์ตั้งแต่หลังปฏิสนธิภายใน 28 วัน จึงต้องกินก่อนท้อง"


ซึ่งวิตามินนี้ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปราคาเม็ดละไม่เกิน 1 บาท ขนาด 5 มิลลิกรัม และขณะนี้มี 85 ประเทศทั่วโลกที่เห็นความสำคัญของการป้องกันเด็กพิการแต่กำเนิด จึงผสมโฟลิกในอาหารและออกเป็นกฎหมาย ซึ่งวิตามิน โฟลิกช่วยลดความเสี่ยงได้ถึง 30-50 เปอร์เซ็นต์


"การมีลูกสมบูรณ์ต้องเริ่มจากแม่มีคุณภาพจึงนำไปสู่ลูกมีคุณภาพ พันธุกรรมไม่มีการทำงานโดดๆ แต่ต้องทำคู่กับโภชนาการ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการสร้างคน ดังนั้น เราต้องเน้นตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ เพราะเด็กพิการ 1 คนมีผลกระทบทั้งครอบครัว พิการ 1 คนเหมือนพิการกันทั้งครอบครัว" ศ.เกียรติคุณ พญ.พรสวรรค์กล่าว


'รักนี้' กิน 'โฟลิก' thaihealth


ปค.ลงพื้นที่ให้ความรู้ 'คู่รัก'


นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง (ปค.) กล่าวว่า ในปี 2559 มีคู่สมรสที่มาจดทะเบียนสมรสทั้งสิ้น 307,746 คู่ เฉพาะวันวาเลนไทน์มีคู่สมรสที่มาจดทะเบียนในเขต กทม.สูงถึง 3,486 คู่ อย่างไรก็ตามแนวโน้มของคู่ที่มาจดทะเบียนสมรสมีอายุมากขึ้นและอัตราการมีลูกลดลง โดยเฉลี่ยไม่ถึง 2 คน


"โจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรที่เราจะได้ประชากรที่เกิดน้อยมีคุณภาพ โดยเฉพาะการลดความเสี่ยงจากความพิการแต่กำเนิดจะช่วยประหยัดรายจ่ายของประเทศถึง 1,000 ล้านบาทต่อปี กรมการปกครองจึงร่วมมือกับ สสส. กรุงเทพมหานคร และสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิดประเทศไทย สนับสนุนให้นายทะเบียนทั่วประเทศให้ความรู้เรื่องการกินวิตามินโฟลิกแก่คู่สมรสที่มาจดทะเบียนเพื่อลดความเสี่ยงทารกพิการแต่กำเนิด โดยจะใช้วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันแห่งความรัก เป็นวันเริ่มต้นแนะนำคู่รักที่มาจดทะเบียนให้มีความรู้เรื่องนี้"


นอกจากนี้ รองอธิบดี ปค.กล่าวอีกว่า จะสื่อสารความรู้ดังกล่าวให้กับเครือข่ายของกรมการปกครองที่มีอยู่ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อนำความรู้ในการป้องกันความพิการแต่กำเนิดไปประชาสัมพันธ์ให้กับคนในชุมชนต่อไป โดยจะทำการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างที่ตั้งใจ


ท้องมีคุณภาพกิน'โฟลิก'คู่'เหล็ก'


พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผู้อำนวย การสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นอกจากกินวิตามินโฟลิก แล้วธาตุเหล็กก็มีความสำคัญ เนื่องจากหญิงไทยปัจจุบันมีภาวะซีดถึงร้อยละ 20 ซึ่งถ้าแม่ซีดเด็กจะมีไอคิวน้อยลง ดังนั้นการกิน โฟลิกและธาตุเหล็กจะช่วยเสริมในเรื่องของการสร้างเลือด ลดภาวะโลหิตจาง


'โฟลิก'วิตามินแสนวิเศษ


วิตามินโฟลิกหรือวิตามินบี 9 พบในไข่แดง ตับ ผักใบเขียวเข้ม ผักคะน้า ผักบุ้ง ตำลึง แครอต แคนตาลูป ฟักทอง ถั่ว หรือวิตามิน โฟลิกในรูปแบบเม็ด


การกินวิตามินโฟลิก "ไม่มีผลเสียต่อร่างกาย" เพราะเป็นวิตามินละลายในน้ำ และไม่สะสมในร่างกาย ร่างกายจะขับออกทางปัสสาวะ อย่างไรก็ตาม การกินโฟลิกไม่ควรกินพร้อมกับยาลดกรด เพราะยาจะขัดขวางการดูดซึม


นอกจากนี้ แม้ไม่คิดจะตั้งครรภ์ก็สามารถกินได้ เพราะโฟลิกช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง ป้องกันโรค NCDs ได้แก่ เบาหวาน ความดัน หัวใจ


'รักนี้' กิน 'โฟลิก' thaihealth


85 ประเทศทั่วโลกหนุนกิน'โฟลิก'


มาตรการลดความเสี่ยงความพิการแต่กำเนิด ปัจจุบัน 85 ประเทศผสมโฟลิกลงในอาหาร เช่น ธัญพืช ข้าว ข้าวโพด ขนมปัง และหลายประเทศในเอเชียมีกฎหมายให้ใส่ วิตามินโฟลิกในอาหาร เช่น ข้าว แป้งสาลี ในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เนปาล ออสเตรเลีย ขณะที่อเมริกาใช้มาตรการบังคับทางกฎหมายให้เสริมวิตามินโฟลิกในอาหารประจำวัน เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี มาร่วม 20 ปีแล้ว


คนคุณภาพต้องเริ่มจากแม่คุณภาพ ด้วยวิตามินแสนวิเศษ "โฟลิก" โดยหาซื้อวิตามิน โฟลิกได้ตามโรงพยาบาลและร้านขายยาแผนปัจจุบันใกล้บ้าน ราคาไม่เกินเม็ดละ 1 บาท รับประทานอาทิตย์ละ 1 เม็ด

Shares:
QR Code :
QR Code