รักนี้ป้องกันได้

เรื่องโดย ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th


ให้สัมภาษณ์โดย  นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.


แพทย์หญิงมณฑินี  วสันติอุปโภคากร รองผู้อำนวยการกองโรคเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข


นางสาวพรนุช สถาผลสวัสดิ์ ผู้จัดการโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กรุงเทพมหานคร มูลนิธิแพธทูเฮลท์


ภาพโดย นพรัตน์ นริสรานนท์ Team Content www.thaihealth.or.th  และแฟ้มภาพ


รักนี้ป้องกันได้ thaihealth


            เรื่องเพศในสังคมไทยยังคงเป็นเรื่องที่เปราะบางมาก เรามักจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า “เรื่องแบบนี้ใครเขาสอนกัน โตไปเดี๋ยวก็รู้เอง” จำได้ไหมว่าเราเรียนวิชาเพศศึกษากันครั้งล่าสุดเรื่องอะไร ในขณะที่ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีอัตราเพิ่มขึ้นในแต่ละปี เมื่อการห้ามไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด การสร้างความเข้าใจและรู้จักป้องกันที่ถูกต้องจะช่วยไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้ได้


            สถานการณ์เรื่องเพศ จากสถิติปี 2562 การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นไทยยังอยู่ในอัตราที่สูง มีช่วงอายุระหว่าง 15 – 19 ปี หรือเฉลี่ย 190 คนต่อวัน และพบว่าเยาวชนไทยช่วงอายุ 15 – 24 ปี ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรค ได้แก่ หนองในเทียม ซิฟิลิส แผลริมอ่อน และกามโรค สูงถึง 124.6 ต่อประชากรแสนคน การป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ทำได้ด้วยวิธีการที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างความเข้าใจเรื่องเพศในเชิงบวกและสนับสนุนให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง สถานศึกษา ร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิดให้กับบุตรหลาน


รักนี้ป้องกันได้ thaihealth


 


“รักนี้ป้องกันได้” กับแนวคิดถุงยางอนามัยเชิงบวก ภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573 แพทย์หญิงมณฑินี  วสันติอุปโภคากร รองผู้อำนวยการกองโรคเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ส่งเสริมให้การใช้ถุงยางอนามัยเป็นวิถีชีวิตประจำวันและส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงถุงยางอนามัยเพิ่มมากขึ้นนำไปสู่การมีพฤติกรรมในการป้องกันการติดเชื้อที่ถูกต้อง


“เราได้ดำเนินการวิเคราะห์ทบทวน ศึกษาการรับรู้และทัศนคติที่มีต่อภาพลักษณ์ถุงยางอนามัย เป็นแนวทางในการดำเนินงานในด้านสื่อสารสาธารณะ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของถุงยางอนามัยนำไปสู่การมีทัศนคติเชิงบวกและใช้ถุงยางอนามัยเพิ่มขึ้น สร้างค่านิยมและสื่อสารกับสังคมให้เกิดความรู้สึกเชิงบวกในการใช้ถุงยางอนามัย สร้างการยอมรับว่าถุงยางอนามัยเป็นของใช้ปกติในชีวิตประจำวันของทุกคนที่ยังมีกิจกรรมทางเพศ”


รักนี้ป้องกันได้ thaihealth


นางสาวพรนุช สถาผลสวัสดิ์ ผู้จัดการโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กรุงเทพมหานคร มูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวถึงการผลักดันให้เกิดการสอนเพศวิถีศึกษาในโรงเรียนว่า เพศศึกษาเป็นเรื่องที่โรงเรียนควรให้ความสำคัญ จากการทำงานร่วมกันกับโรงเรียน ที่ผ่านมาพบว่าทัศนคติของผู้ใหญ่ ครูและพ่อแม่หลายคนยังไม่เข้าใจธรรมชาติของเด็ก มีความพยายามยับยั้งไม่ให้มีความรักทั้งที่เป็นเรื่องธรรมชาติของช่วงวัยนี้


            “เด็กอยากเรียนรู้เรื่องพฤติกรรมทางเพศ แต่ครูก็จะสอนแค่เฉพาะในประเด็นที่ครูสอนได้เท่านั้น” เพราะกลัวว่าจะเป็นการชี้นำในทิศทางที่ไม่ดีให้กับเด็ก วิชาเพศศึกษาควรมีการเรียนการสอนในทุกระดับชั้นเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับเด็ก จากการทำงานเรื่องเพศวิถีกับโรงเรียนจะเห็นว่าเด็กสนใจที่จะรับถุงยางอนามัยเพิ่มมากขึ้น เพราะเขามีความเข้าใจในเรื่องเพศในวิถีที่ถูกต้อง”


รักนี้ป้องกันได้ thaihealth


แผนงานสุขภาวะทางเพศเป็นแผนงานหลักที่ สสส. ให้ความสำคัญมานาน เราจะคิดถึงประชากรในภาพรวมใหญ่ ทำอย่างไรให้พวกเขามีสุขภาวะทางเพศที่ดี มีหลายเรื่องที่ สสส. ให้การสนับสนุนอยู่ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การพัฒนาโมเดลถุงยางอนามัยและสร้างความเข้าใจ วิธีการป้องกันที่ถูกต้องในการป้องกันปัญหาจากการมีเพศสัมพันธ์ นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวถึงการใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นว่า 


“เมื่อก่อนเราจะเข้าใจว่าถุงยางอนามัยเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ไม่ตอบสนองในการแก้ไขปัญหา จะทำอย่างไรให้ถุงยางอนามัยเป็นเครื่องมือแห่งความรับผิดชอบของคนสองคนแล้วใช้มันอย่างมีความสุข ถ้าเราเปลี่ยนวิธีคิดมองในมุมใหม่ๆ ถุงยางอนามัยเป็นเครื่องมือในการป้องกันที่ดีได้ เราให้ความสำคัญกับกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบาง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ยังเข้าไม่ถึงการบริการทางสุขภาพ หากเราใช้ถุงยางอนามัยป้องกันปัญหาตั้งแต่ต้น เราก็สามารถมีสุขภาวะที่ดีได้”


นายชาติวุฒิกล่าวต่อว่า “เราต้องมองโลกตามสภาพความเป็นจริง สถานการณ์เรื่องเพศในปัจจุบันเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ผู้ใหญ่ต้องรู้เท่าทัน เราไม่สามารถอยู่กับลูกหลานได้ 24 ชม. และไม่มีทางรู้เลยว่าตลอดทั้งวันเขาไปทำอะไรมาบ้าง สิ่งที่ สสส. มุ่งหวังอย่างแรกเลยคือ ถ้าเราสามารถผลักดันและให้ความสำคัญกับเรื่องเพศศึกษาสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อป้องกันไม่ให้เขามีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรเป็นสิ่งที่ดีถ้าหากทำได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ในฐานะผู้ปกครองเราจะติดอาวุธทางความคิดให้กับบุตรหลานอย่างไรให้เขารู้จักป้องกันตัวเอง เราเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครองเราจะทำอย่างไรให้ลูกรู้สึกว่าเขาคุยเรื่องเพศกับเราได้ การสื่อสารในครอบครัว สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและเท่าทันจึงเป็นเรื่องสำคัญ”


รักนี้ป้องกันได้ thaihealth


            เมื่อเรารู้ถึงปัญหาของการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันแล้ว สิ่งแรกที่วัยรุ่นอย่างเราต้องทำคือการจัดการกับอารมณ์และความคิดของตนเอง ตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา อีกหนึ่งวิธีพื้นฐานที่ทุกคนสามารถทำได้เพียงแค่จัดการอารมณ์เพศ ให้ทำแบบนี้นะ


1. ออกกำลังกาย สุขภาพแข็งแรง


2. งานอดิเรกสร้างสมาธิ  อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้


3. เล่นดนตรี  เบี่ยงเบนความสนใจ


4. ตั้งใจเรียน – ทำงาน


5. เข้าสังคมกับญาติพี่น้องเพศตรงข้าม


และสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง มีดังนี้


1.ไม่ไปไหนมาไหนสองต่อสอง


2.ไม่ไปสถานที่เปลี่ยว ลับตาคน


3.ไม่เที่ยวกลางคืน


4.ไม่ดูหนังโป๊


5.ไม่ดื่มเครื่องดื่มจากคนแปลกหน้า


เพียงเท่านี้เราก็สามารถจัดการกับอารมณ์ตนเองและป้องกันปัญหาที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ได้แล้ว


รักนี้ป้องกันได้ thaihealth


            จะเห็นว่าปัญหาจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงอนามัยส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจอย่างมาก เรื่องการมีเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ห้ามกันไม่ได้ แต่ถ้าหากเรารู้จักรัก ป้องกันตนเอง จัดการกับอารมณ์ของตนเองได้  เพียงเท่านี้เราก็สามารถมีสุขภาวะที่ดีได้ เพราะรักนี้…เราป้องกันได้ พกถุงยางอนามัย = รับผิดชอบ


 


 


 


           


 

Shares:
QR Code :
QR Code