รักกีฬา เชียร์กีฬา อย่าพนัน
ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากเว็บไซต์คมชัดลึก
ชาวเกาะปันหยีร่วมใจเปิดพื้นที่สร้างสรรค์สร้างเสริมสุขภาวะ สสส.-มรพ.หนุนปลูกฝังแนวคิด “รักกีฬา เชียร์กีฬา อย่าพนัน” ในมหกรรมฟุตซอลประจำปี เป็นกิจกรรมหลอมรวมพลังชุมชนเข้มแข็งร่วมหาทุนจัดพิธีสุนัตหมู่สำหรับเด็กมุสลิมตามหลักศาสนาและสืบสานประเพณี
“การเล่นกีฬาเป็นการออกกำลังที่ดี ทำให้สุขภาพแข็งแรง ผมเตะฟุตบอลตั้งแต่ 3 ขวบแล้วครับ ชอบเล่นสนามบอลลอยน้ำครับ เวลาบอลตกน้ำ กระโดดลงไปเก็บก็ได้เล่นน้ำด้วย สนุกครับ วิวสวยด้วย ที่เกาะเรามีการแข่งขันฟุตบอลอย่างต่อเนื่อง มีหลายรุ่นครับ หลังการแข่งขันทุกปีก็จะมีพิธีแห่น้องๆ ที่สมัครเข้าพิธีสุนัตไปรอบๆ สนามด้วยครับ เด็กผู้ชายชาวมุสลิมต้องผ่านพิธีนี้กันทุกคน สำหรับผมเข้าพิธีสุนัขตั้งแต่ 3 ขวบแล้วครับ” ด.ช.ธีรวีร์ ประสานพันธ์ อายุ 11 ปี ตัวแทนทีมเยาวชนที่ชนะเลิศการแข่งขันในมหกรรมฟุตซอลปันหยีคัพ รุ่นอายุ ไม่เกิน 12 ปี กล่าวในฐานะลูกหลานชาวเกาะปันหยี
โครงการมหกรรมฟุตบอลปันหยีคัพ ริเริ่มโดยกลุ่มผู้ก่อตั้งชมรมกีฬาเกาะปันหยี ซึ่งเป็นรุ่นบุกเบิกในการสร้างสนามฟุตบอลลอยน้ำที่กลายเป็น Landmark สำคัญของเกาะและมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก โดยเมื่อราว 30 ปีก่อน เด็กๆ กลุ่มนี้รักการเล่นฟุตบอลอย่างยิ่งทั้งที่ไม่มีพื้นที่ให้เล่น ต้องรอเล่นบนสันทรายช่วงน้ำลดในวันข้างแรมเพียงไม่กี่ชั่วโมง และมีเอกลักษณ์คือการเล่นโดยไม่สวมรองเท้า จากความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค นำไปสู่การช่วยกันสร้างสนามฟุตบอลลอยน้ำในยุคแรกจากแผ่นไม้ที่เต็มไปด้วยเสี้ยนและหัวตะปูผุดโผล่ เข้าร่วมแข่งขันระดับในต่างๆ เพื่อสั่งสมประสบการณ์มากมาย และถ่ายทอดความรักในกีฬาฟุตบอลจากรุ่นสู่รุ่น ในที่สุดทีมปันหยีเอฟซีก็ประสบความสำเร็จในหลายรายการ
โดยครองแชมป์ภูมิภาค 7 ปีซ้อน ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 จนถึง พ.ศ. 2553 ปัจจุบันกลุ่มที่เป็นรุ่นบุกเบิกได้เป็นผู้นำชุมชนในท้องถิ่น และเป็นแกนนำในการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนคนรุ่นใหม่ พร้อมทั้งทำให้ฟุตบอลเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของเด็กๆ โดยช่วงปิดเทอมเดือนเมษายน-พฤษภาคมของทุกปี กลุ่มผู้ก่อตั้งชมรมกีฬาปันหยีร่วมกับชาวบ้านในชุมชนจะจัดมหกรรม ฟุตซอล “ปันหยีคัพ” แบ่งเป็นหลายรุ่น เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ได้ฝึกทักษะด้านกีฬา สร้างความสมานฉันท์สามัคคีของคนในชุมชนและเพื่อนบ้านทั้งในระดับจังหวัดและต่างจังหวัด และเพื่อหาทุนพร้อมของขวัญให้เด็กๆ ในชุมชนที่สมัครใจเข้าพิธีสุนัตหมู่ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นควบคู่กับการแข่งขันฟุตซอลทุกปี โดยในวันสุดท้ายของการแข่งขันจะจัดพิธีแห่เด็กๆ ตามประเพณีและบัญญัติของศาสนาอิสลามที่เด็กผู้ชายมุสลิมทุกคนต้องผ่านพิธีนี้ ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาวะด้วย
จากภาพความเข้มแข็งของชุมชนที่มีการจัดการรตนเองเป็นอย่างดีด้วยกิจกรรมที่สามารถเชื่อมโยงได้หลากหลายมิติ ทั้งกีฬา ประเพณี ศาสนา ความสามัคคี การต่อต้านอบายมุข รวมถึงการท่องเที่ยว ฯลฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน (มรพ.) จึงได้ร่วมสนับสนุนมหกรรมฟุตซอล “ปันหยีคัพ” โดยปลูกฝังแนวคิด “รักกีฬา เชียร์กีฬา อย่าพนัน” เพื่อให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์และเป็นตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจที่ดีให้แก่สังคมและชุมชนอื่นๆ ต่อไป
นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน (มรพ.) กล่าวว่า เด็กไทยราว 60% รู้จักและเข้าถึงการพนัน ผลสำรวจพบว่าเด็ก7 ขวบ ก็เริ่มเล่นพนันเล้ว สาเหตุหลักเพราะเข้าถึงง่าย สิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวย มีสมาร์ทโฟนก็สามารถเล่นพนันออนไลน์ได้หลายรูปแบบ และส่วนใหญ่มีผู้ปกครองเป็นแบบอย่าง
โดยในปี 2558 มีผู้เล่นพนันฟุตบอลสูงเป็นอันดับ 3 ประมาณ 2 ล้านคน รองจาก อันดับ 1 คือสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือลอตเตอรี่ 20 ล้านคน และอันดับ 2 หวยใต้ดิน 16 ล้านคน แต่เงินหมุนเวียนจากพนันฟุตบอลสูงเป็นอันดับ 1 ประมาณ 13,600 ล้านบาท มากกว่าลอตเตอรี่ เนื่องจากเล่นได้ถี่กว่า เพราะมีการแข่งขันเกือบทุกวัน และใช้เงินมากกว่า
"ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ชาวเกาะปันหยีนิยมเล่นและให้ความสำคัญมาก โดยจัดการแข่งขันอย่างต่อเนื่องทุกปี เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่ใช้กีฬาส่งเสริมเยาวชนไปในทางที่ดี ผู้นำชุมชนที่นี่เข้มแข็งมากในการ ป้องกันเยาวชนจากการพนัน มุ่งเน้นให้เด็กๆ เล่นฟุตบอลเพื่อสุขภาพ พร้อมทั้งจัดหาโค้ชและประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อพัฒนาทักษะให้เยาวชน สสส. และมูลนิธิฯ จึงสนับสนุนให้เป็นพื้นที่ตัวอย่างในการปลูกฝังแนวคิด รักกีฬา เชียร์กีฬา อย่าพนัน เพื่อไม่ให้การพนันทำลายคุณค่าของกีฬา" นายธนากรกล่าว
นายมูฮำหมาด ประสานพันธ์ กำนัน ต.เกาะปันหยี อ.เมือง จ.พังงา กล่าวว่า ฟุตบอลเป็นเกมกีฬายอดนิยมของคนทั่วโลก แต่บางคนเอาเกมฟุตบอลมาทำเป็นเกมพนัน เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีโดยเฉพาะต่อเยาวชน ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ทำให้สุขภาพแข็งแรง จึงอยากให้ทุกคนร่วมช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้มีการพนันในกีฬาฟุตบอล ที่เกาะปันหยีเราเน้นกิจกรรมที่ปลอดเหล้า ปลอดการพนัน และยาเสพติด ไม่ให้มีของมึนเมาโดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะถูกปรับในอัตราสูง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในชุมชนหรือนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ การจัดมหกรรมฟุตซอลปันหยีคัพ ยังมีการเชื่อมโยงกับพิธีกรรมทางศาสนาและวาระของครอบครัวเข้าด้วยกันโดยการจัดแข่งฟุตบอลเป็นการช่วยหาทุนเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเข้าพิธีสุนัตหมู่ของเด็กๆ บนเกาะ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรายละ 1,700 บาท รวมถึงการจัดหาของขวัญเพื่อสร้างกำลังใจให้เด็กๆ อีกด้วย
นายคงศักดิ์ คำล้วน ผู้ทำการขลิบหรือ “โต๊ะมูเด็ง” กล่าวว่า “ทำหน้าที่นี้มานานกว่า 30 ปี โดยสืบทอดมาจากรุ่นพ่อ การทำสุนัตเป็นการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย ถือเป็นการดูแลสุขอนามัยและการทำให้บริสุทธิ์ ตามแนวทางของศาสนาอิสลามที่เน้นเรื่องความสะอาดเป็นอันดับหนึ่ง เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมุสลิมชายทุกคน หลังจากขลิบแล้วหนังจะไม่หุ้มปิดบริเวณส่วนหัวของอวัยวะเพศในภาวะอ่อนตัว ก็จะไม่มีการหมักหมมของสิ่งสกปรก เด็กที่ผ่านพิธีสุนัตแล้วจะสามารถยืนละหมาดแถวเดียวกับผู้ใหญ่ได้ ในทางการแพทย์ถือว่าการทำสุนัตยังช่วยลดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในเด็กได้ อุปกรณ์ที่ใช้ในสมัยก่อนได้แก่ ไม้ไผ่ มีด ขี้เถ้าจากตะเกียงเจ้าพายุ ยาแดง และผ้าพันแผล โดยใช้ไม้ไผ่หนีบให้ชาก่อนขลิบ ใช้ขี้เถ้าช่วยห้ามเลือด แต่ปัจจุบันเราใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งหมด โดยฉีดยาชาก่อนและเย็บแผลเพื่อให้หายเร็วด้วย ช่วงเวลาที่ทำการขลิบสำหรับสุนัตหมู่จะเริ่มตั้งแต่เช้ามืด ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีต่อคน”
เกาะปันหยี หมู่บ้านกลางทะเลอายุกว่า 200 ปี นอกจากรายล้อมด้วยธรรมชาติที่งดงามแล้ว ชุมชนบนเกาะปันหยียังเป็นตัวอย่างของชุมชนเข้มแข็ง ที่สามารถสร้างเกราะป้องกันตนเองจากอบายมุขทั้งปวงได้ และยังสามารถบริหารจัดการตนเองรวมทั้งยังคงรักษาประเพณีตามแบบชาวมุสลิมจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนาน ปันหยี จึงเป็นเกาะที่มีเสน่ห์ ซึ่งใครๆ ก็อยากมาเยือนสักครั้ง