ระวังสาร ‘บอแร็กซ์’ ในเนื้อหมู

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์


ห้ามแม่ค้าใช้ ‘บอแร็กซ์’ ในเนื้อหมู  thaihealth

แฟ้มภาพ


นักโภชนาการชี้ห้ามใช้ บอแร็กซ์ ในอาหารทุกประเภท อันตรายต่อสมอง-กรวยไต แถมไร้สี-กลิ่น ตรวจสอบยาก แนะประชาชนใช้ทิชชูผสมขมื้นจุ่มน้ำล้างหมู


ศ.ดร.ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ลงพื้นที่ตรวจจับผู้ค้าเนื้อหมูในตลาดสี่มุมเมือง ย่านรังสิต ลอบผสมสารบอแรกซ์ในเนื้อหมู ว่า ปัจจุบันบอแรกซ์เป็นสารต้องห้ามใช้ผสมในอาหารและกิจการอาหารทุกประเภท หากพบว่ามีการผสมลงไป จะมีความผิดมีโทษรุนแรง เพราะสารนี้มีอันตรายต่อร่างกาย 2 ระบบ คือ 1.ทำให้เกิดการอักเสบที่เนื้อเยื่อกรวยไต หรือเซลล์กรวยไต หากสะสมไปนานๆ จะทำให้ไตวาย หรือไตพิการได้ 2.ทำให้เกิดการอักเสบที่สมอง การทำงานของสมองไม่ปกติ เสื่อมการทำงาน ถือเป็นผลกระทบที่รุนแรงมาก


ส่วนผลกระทบในระยะสั้นจะทำให้กระดูกอ่อนแอ แต่หากร่างกายยังแข็งแรงดี สารดังกล่าวจะทำอันตรายกับกระดูกได้น้อย แต่หากครั้งแรกก็ได้รับสารตัวนี้ในปริมาณมากก็ทำให้อันตรายกับไตได้เช่นกัน เนื่องจากสารบอแร็กซ์มีคุณสมบัติทำให้อาหารไม่เน่าเสียง่าย จึงพบมีการลักลอบผสมในอาหาร


อย่างกรณีนี้ พบว่ามีการทาเอาไว้ที่เขียงหมู หากเอาทิ้งไว้ประมาณครึ่งวันสารตัวนี้ ยังอยู่ที่ผิวด้านนอกของเนื้อหมูสามารถล้างทำความสะอาดได้บ้าง แต่ถ้าทิ้งเอาไว้นานๆ สารบอแร็กซ์จะซึมเข้าไปในเนื้อหมู ความร้อนไม่สามารถทำลายได้ ทั้งนี้ ปัญหาสารบอแร็กซ์จะไม่มีสี ไม่มีกลิ่น จึงตรวจสอบได้ยาก แต่ก็สามารถตรวจสอบได้ด้วยการนำเนื้อหมูไปล้างในน้ำ แล้วใช้กระดาษกรองหรือกระดาษชำระหนาๆ ชุบขมิ้นจุ่มในน้ำล้างเนื้อหมูดังกล่าว หากกระดาษเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีม่วงๆ แดงๆ แสดงว่ามีสารบอแร็กซ์ปนอยู่


ศ.ดร. ทรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า เรื่องที่ต้องให้ความรู้กับผู้ค้า คือเนื้อหมู ไม่ว่าจะทำอย่างไร หากไม่เก็บให้ดีก็จะทำให้มีกลิ่นเหม็น ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือแช่ไว้ในตู้เย็น และนำออกมาเมื่อจะขาย ไม่ต้องแขวนไว้นอกตู้เย็นตลอดเวลา หรือที่มักพบกันคือการวางเนื้อหมูบนกระบะที่มีน้ำแข็งวางรองอยู่ล่าง หรือวางในกระบะทำความเย็นก็จะช่วยถนอมเนื้อหมูได้ดี อย่างไรก็ตาม จากการศึกษา พบว่าการวางในกระบะทำความเย็นจะคุ้มค่ากว่า เพราะลงทุนซื้อกระบะทำความเย็นเพียงครั้งเดียว ซึ่งราคาประมาณ 20,000-30,000 บาท ก็สามารถใช้ได้ตลอด ที่เหลือจ่ายค่าไฟซึ่งตกเดือนละไม่มาก เมื่อเทียบกับการใช้กระบะน้ำแข็งซึ่งต้องซื้อน้ำแข็งทุกวัน


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code