ระวังสารไนเตรทใน`หมูแผ่น-หมูหวาน`
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตรวจ หมูแผ่น-หมูหวาน พบสารกันบูดเพียบ เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง เตือนผู้ประกอบการดูแลใส่ใจคำนึงถึงผู้บริโภค
น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) แถลงข่าว "ส่องหมูแผ่นกรอบ หมูหวาน ยี่ห้อไหนผ่านมาตรฐานจาก 14 ยี่ห้อ" ซึ่งศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มพบ.ได้ทำการเก็บตัวอย่าง หมูแผ่นกรอบ หมูหวาน หมูเค็ม เนื้อเค็ม เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตจำหน่ายในระดับโรงงานเก็บมาจากห้างสรรพสินค้า ตลาดเยาวราช ตลาดองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จำนวน 14 ตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบหาสารโซเดียมไนเตรทและโซเดียมไนไตรท์ หรือ สารกันบูด
ทั้งนี้ ตัวอย่างพบว่า มีการผสมสารไนเตรททุกตัวอย่าง โดยพบต่ำสุดอยู่ที่ 15.94 มิลลิกรัม (มก.) ต่อกิโลกรัม (กก.) และพบสินค้าอีก 3 ตัวอย่างที่มีสารไนเตรทสูงสุด ในตัวอย่างแรกที่ปริมาณ 169.93 มก. ต่อ กก. ตัวอย่างที่สอง ปริมาณ 216.05 มก.ต่อกก. และตัวอย่างที่สาม ปริมาณ 2,033.16 มก.ต่อกก.ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ส่วนใหญ่เป็นเนื้อหมูสวรรค์ที่เก็บจากตลาด อ.ต.ก. ส่วนสารไตไตรท์พบใน 7 ตัวอย่าง ต่ำสุดน้อยกว่า 10 มก.ต่อกก. สูงสุดอยู่ที่ 55.68 มก.ต่อกก.จากการตรวจสอบยังพบว่าหลายยี่ห้อไม่ระบุว่าผสมสารดังกล่าว อีกทั้งยังไม่ระบุว่าหมดอายุด้วย ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เพราะไม่ทราบว่าผลิตและหมดอายุเมื่อไรห่ ซึ่งผิดตามพ.ร.บ.อาหาร ปี 2522
"อยากขอเตือนประชาชนว่าแม้การรับประทานอาหารเหล่านี้จะไม่เห็นโทษที่ชัดเจน เพราะรับประทานในปริมาณที่น้อย แต่อยากให้ผู้ประกอบการและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ใส่ใจต่ออันตรายจากการผสมสารทั้ง 2 ประเภท เพราะมีการศึกษาที่ระบุว่า หากรับประทานในปริมาณมากเมื่อไร จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับ เป็นอันตรายกับไต ระบบทางเดินอาหาร ลำไส้อ่อน ในคนที่แพ้อาหารจะมีอาการเฉียบพลันต่อระบบทางเดินหายใจ หัวใจเต้นเร็ว ทำให้เสียชีวิตได้"
ขณะที่ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ตัวอย่างที่เก็บมาบางผลิตภัณฑ์มีการผลิตจำหน่ายในระดับโรงงานแต่พบว่ามีการผสมไนเตรท และ สารไนไตรท์ 100% แต่ตามกฎหมายของ อย. ระบุว่า ผู้ประกอบการจะผสมสารเหล่านี้ต้องขออนุญาตเนื่องจากอาหารกลุ่มนี้มีการลักษณะประกอบอาหารแบบ ปิ้ง ย่าง ทอด และใช้เกลือเป็นส่วนประกอบ ซึ่งจะช่วยยืดอายุอาหารอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริง บางรายจดแจ้งครบถ้วน บางรายไม่จดแจ้ง ทั้งนี้ก็ไม่พบว่า มีการระบุบนฉลากอาหารเลยว่ามีการใช้สารเหล่านี้
นางสาวสารี กล่าวอีกว่า ขอเรียกร้องให้เร่งดำเนินการกับผู้ประกอบการอาหารที่มูลนิธิฯ ตรวจสอบพบการผสมสารไนเตรท ไนไตรท์ ขอให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากลและปรับฐานข้อมูลการจดแจ้งในสารบบของ อย.ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ครอบคลุมทั้งประเทศ