ระวังสารตะกั่วในเครื่องทำน้ำเย็น
สธ.ขอความร่วมมือโรงเรียนเฝ้าระวังการปนเปื้อน "ตะกั่ว" ในน้ำดื่ม ด้วยการทำความสะอาด "ตู้น้ำดื่ม" สัปดาห์ละครั้ง หวั่นอันตรายจากตู้น้ำดื่มที่ไม่ได้มาตรฐาน เผยหากได้รับพิษตะกั่วสะสมเป็นเวลานาน เสี่ยงเป็นอัมพาตได้
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงการเฝ้าระวังตู้น้ำดื่มในโรงเรียน ว่า ตู้ทำน้ำดื่มในโรงเรียนถือเป็นจุดเสี่ยงอันตรายที่มีผลต่อสุขภาพของนักเรียน หากไม่มีการทำความสะอาดเป็นประจำ โดยเฉพาะสารตะกั่วในน้ำดื่มจากตู้ทำน้ำดื่มที่ไม่มีคุณภาพ หากได้รับพิษตะกั่วอย่างต่อเนื่องและปริมาณมาก จะก่อให้อันตรายต่อร่างกายอย่างเฉียบพลัน คือ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง เมื่อพิษสะสม จะทำให้ระบบประสาทส่วนปลายเป็นอัมพาตที่นิ้วเท้าและมือ เหนื่อยง่าย และอ่อนเพลียได้ เพราะจากข้อมูลสำรวจการปนเปื้อนตะกั่วในน้ำดื่มจากตู้ทำเย็นของโรงเรียนในจังหวัดต่างๆ พบว่าส่วนหนึ่งยังมีค่าสูงเกินมาตรฐานคุณภาพน้ำบริโภคกรมอนามัย พ.ศ.2553 คือ 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร และจากการเก็บตัวอย่างน้ำมาตรวจสอบสภาพของแหล่งน้ำและเครื่องทำน้ำเย็นที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวเชื่อมตะเข็บรอยต่อทั้งใหม่และตู้เก่าที่ผ่านการซ่อม
ทั้งนี้ พบว่ามีการเชื่อมทั้งบริเวณมุมของภายในช่องท่อต่อน้ำเข้าเครื่องบริเวณลูกลอยกับก้าน และช่องท่อส่งน้ำออกบริเวณพื้นตัวถังไปสู่ก๊อกน้ำ ทำให้น้ำที่ไหลผ่านตู้น้ำมีตะกั่วปนเปื้อน รวมทั้งที่เก็บน้ำมีความสกปรก ขาดการดูแลอย่างสม่ำเสมอ หากดื่มเข้าไปทำให้ร่างกายได้รับน้ำที่ปนเปื้อน ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร ทั้งอุจจาระร่วง บิด ไทฟอยด์ อหิวาต์ ในกลุ่มเด็กนักเรียน ซึ่งสถานการณ์โรคอุจจาระร่วงในกลุ่มเด็กปี 2557 จากรายงานการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา พบผู้ป่วยในกลุ่มอายุ 7-9 ปี จำนวน 22,798 ราย และในกลุ่มอายุ 10-14 ปี จำนวน 24,631 ราย
ด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้สนับสนุนให้ดื่มน้ำที่สะอาด ปลอดภัย ซึ่งการป้องกันอันตรายสารตะกั่วจากตู้น้ำดื่ม จึงควรเริ่มตั้งแต่การเลือกซื้อตู้ทำน้ำเย็น ที่ประกอบด้วยเหล็กกล้าไร้สนิมเกรดดี ชนิดหนา เพื่อป้องกันการได้รับสารตะกั่วในร่างกาย เพราะถึงแม้จะปนเปื้อนจำนวนน้อย ก็ส่งผลกระทบต่อเด็กได้ง่าย เนื่องจากเด็กมีความไวต่อการสัมผัส หากร่างกายได้รับสารตะกั่วในปริมาณสูงก็จะเกิดอาการเป็นพิษได้ โดยถังเก็บน้ำต้องทำด้วยวัสดุเหล็กกล้าไร้สนิมที่ใช้กับอาหาร ไม่มีตะกั่วเป็นส่วนผสม เชื่อมตะเข็บรอยต่อด้วยก๊าซอาร์กอน หรือก๊าซ สำหรับเชื่อมอื่นที่ไม่มีสารพิษปนเปื้อน และไม่มีผลตกค้างในถังน้ำ ช่องต่อท่อน้ำออก ท่อระบายน้ำทิ้ง ก๊อกน้ำ ช่องรอยต่อข้อต่างๆ เป็นข้อต่อพลาสติกใช้กับอาหารที่ไม่ทำให้น้ำมีกลิ่น รส สีเปลี่ยนไปจากเดิม และต้องไม่มีสารพิษในเนื้อพลาสติก
"โรงเรียนต้องหมั่นดูแลทำความสะอาดตู้น้ำดื่ม โดยการล้างที่เก็บน้ำภายในตู้ทุกสัปดาห์ ทำความสะอาดก๊อกน้ำและบริเวณผิวภายนอกตู้ให้สะอาดทุกวัน โดยใช้ผ้านุ่ม หรือฟองน้ำล้างภายในด้วยน้ำยาล้างจาน จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด ตรวจสอบสายไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพดี รวมถึงดูแลบริเวณติดตั้งตู้น้ำดื่มให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่มีน้ำขังนอง เพื่อความปลอดภัยจากไฟฟ้าลัดวงจร" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต