ระวังมิจฉาชีพมอม “สารไซลาซีน” ก่อนปลดทรัพย์
“สารไซลาซีน” อันตราย! ไม่มีรส ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี และดูดซึมได้เร็วทางกระเพาะอาหาร ใช้สำหรับเป็นยาสลบให้สัตว์ เตือนระวังมิจฉาชีพลักลอบผสมน้ำแล้ว “มอมยา” คนไข้ในรพ. ก่อนปลดทรัพย์
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ส่งหนังสือเวียนถึงหน่วยงานต่างๆภายในโรงพยาบาล โดยระบุว่า เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมามีมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาปลดทรัพย์ผู้ป่วยนอกที่รอรับการรักษาในโรงพยาบาลฯ โดยใช้สารไซลาซีน (xylazine) เป็นสารที่ไม่มีรส ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี และดูดซึมได้เร็วทางกระเพาะอาหาร จนทำให้ผู้ป่วยหมดสติและอาจเสียชีวิตได้ โดยวิธีการผสมกับน้ำแล้วนำมาให้ผู้ที่รอรับบริการในโรงพยาบาลฯ ดื่ม อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลฯ ได้สอบถามทางสถานีตำรวจพญาไท ปรากฏว่า ในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นในโรงพยาบาลอื่นๆ เช่นกัน
ล่าสุดโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ออกแถลงการณ์เรื่องนี้ว่า ตามที่มีเหตุการณ์ที่ผู้มารับบริการถูกมิจฉาชีพหลอกให้ดื่มน้ำที่ผสมยา จนทำให้หมดสติและปลดทรัพย์ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลรามาธิบดีมีความห่วงใยผู้มาใช้บริการ เนื่องจากในแต่ละวันมีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก และอาจมีมิจฉาชีพปะปนอยู่ ดังนั้นทางโรงพยาบาลจึงออกประกาศแจ้งเตือนเป็นการภายในเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติระวังตัวมากขึ้นพร้อมเน้นย้ำบุคลากรในเรื่องมาตรการความปลอดภัย ส่วนมาตรการเรื่องยานั้นทางโรงพยาบาลได้เรียนประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว เพื่อหาแนวทางป้องกันในระยะยาวต่อไป
ต่อมา เมื่อเวลา 14.00 น.วันเดียวกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารแลยา (อย.) ภญ.ประภัสสร ธนะผลเลิศ รักษาการผู้อำนวยการสำนักยา อย. กล่าวว่า สารไซลาซีน (xylazine) จัดเป็นตำรับยาสำหรับสัตว์ เป็นยาอันตรายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยข้อบ่งชี้สำหรับยานี้จะมีฤทธิ์เพื่อสงบประสาทส่วนกลาง ซึ่งส่วนมากจะใช้ในการเคลื่อนย้ายสัตว์ เพราะยาจะทำให้สัตว์มีความสงบ โดยในประเทศไทยมีการขึ้นทะเบียนยาดังกล่าว 9 รายการในจำนวนนี้นำเข้า 3 รายการ จากประเทศฝรั่งเศส สเปน และเนเธอแลนด์
ทั้งนี้ ยาดังกล่าวเป็นยาที่ใช้สำหรับสัตว์ ดังนั้น จึงไม่มีรายการว่าใช้ในคนแล้วจะเป็นอย่างไร แต่มีข้อมูลทางวิชาการว่า จะทำให้หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปัสสาวะมาก ทำให้ความดันต่ำลง น้ำตาลในเลือดสูง ปากแห้ง และทำให้อาการในระบบทางเดินหายใจและระบบเลือด
“เนื่องจากสารดังกล่าวเป็นยาที่ใช้ในสัตว์ จึงไม่มีรายการความผิดปกติในคนมากนัก แต่มักพบว่ากลุ่มมิจฉาชีพจะอาศัยผลข้างเคียงของยามาใช้ในทางที่ผิดเสมอ ซึ่งเป็นหน้าที่ อย.ต้องเฝ้าระวัง โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การใช้ในโรงพยาบาล หากผู้ได้รับยาเป็นผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็ก หรือ ผู้มีโรคประจำตัว ก็อาจจะทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงกว่าคนปกติทั่วไป” ภญ.ประภัสสร กล่าว
ภญ.ประภัสสร กล่าวอีกว่า สารดังกล่าวถือเป็นยาอันตราย แต่สามารถหาซื้อได้ในร้านขายยาที่มีเภสัชกร ซึ่งในสัปดาห์หน้า อย.จะมีการประชุมผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหามาตรการควบคุมไม่ให้มิจฉาชีพนำยาดังกล่าวไปใช้ในทางที่ผิดต่อไป โดยที่ผ่านมา เมื่อพบผลกระทบจากยาบางกลุ่มที่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดก็จะมีการยกระดับ เช่น กลุ่มยาสลบที่มีการนำไปใช้ในทางที่ผิดจำนวนมาก อาทิ ยาเคตามีน (ketamine) ซึ่งเป็นกลุ่มยาสลบก็มีการยกระดับเป็นยาควบคุมพิเศษ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม การยกระดับยาใดๆ ก็ตาม จะต้องประเมินผลกระทบในการเข้าถึงยาตัวนั้นๆ ไปพร้อมกันด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน